วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2550

พบกับ Chief Culture Officer ผู้นำด้านวัฒนธรรมแห่ง Google

Stacy Savides

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Google เป็นผู้นำเทรนด์ในโลกยุคอินเทอร์เน็ต บริษัทได้สร้างบริการค้นหาข้อมูลที่แสนจะเซ็กซี่และทำเงินได้มหาศาล มันยังช่วยวางรากฐานให้เว็บไซต์เล็กๆ ทั้งหลายสามารถสร้างรายได้จากการโฆษณาได้

ด้วยความร้อนแรง รูปแบบเว็บที่เรียบง่าย พนักงานที่ได้รับการปรนเปรอ และความร่ำรวยที่ได้รับการจัดอันดับ Google ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม และเป็นเครื่องหมายแห่งความรุ่งโรจน์ในยุคของเว็บ

Google ได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Fortune ว่าเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในอเมริกาที่น่าทำงานด้วย และมันได้เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด นอกจากนี้มันยังกลายเป็นคำกริยาในพจนานุกรม

มันยังได้สร้างเทรนด์ใหม่โดยมีตำแหน่งงานที่ชื่อว่า "Chief Culture Officer" บุคคลที่ได้รับตำแหน่งนี้ก็คือ Stacy Savides

พันธกิจของ Stacy Savides นั้นเรียบง่าย นั่นคือการรักษาวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว และทำให้ชาว Googler มีความสุข เธอได้ให้สัมภาษณ์กับ CNET News.com ดังนี้

คุณได้รับตำแหน่งนี้ตั้งแต่เมื่อไร?

Sullivan: ฉันเข้ามารับหน้าที่นี้ตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้วค่ะ นอกจากจะเป็น Chief Culture Officer แล้ว ฉันยังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลด้วย

คุณมีหน้าที่อะไรในตำแหน่ง Chiel Culture Officer?

Sullivan: ฉันทำงานร่วมกับพนักงานทั่วโลกเพื่อที่จะรักษา ส่งเสริม พัฒนาวัฒนธรรมของเรา และดำรงไว้ซึ่ง Core Value ที่เรามีตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม นั่นก็คือการมีโครงสร้างองค์กรที่แบนราบ ไม่มีลำดับชั้นการบริหารมากนัก และมีสภาพแวดล้อมที่ช่วยเหลือสนับสนุนกัน เราต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ขณะที่เรากำลังเติบโต และกระจายมันออกไปยังสำนักงานใหม่ของเราที่อยู่ทั่วโลก

เราต้องการให้พนักงานทั้งหมดของเรามีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมดังที่เป็นอยู่ในวันนี้ และต้องพัฒนาต่อยอดให้มากขึ้นด้วย จึงได้มีการพัฒนาโปรแกรมและกระบวนการต่างๆ ขึ้นเพื่อให้พนักงานได้พูดคุยกันเมื่อเกิดปัญหาขึ้น มีการตั้งเว็บไซต์ที่ให้พนักงานแจ้งบั๊กทางวัฒนธรรมเข้ามาและนำเสนอไอเดียที่จะแก้ไขมัน

มันยากที่จะนึกภาพออกว่าคุณทำให้องค์กรแบนราบโดยที่มีพนักงาน 12,000 คนได้อย่างไร แต่อะไรล่ะที่คือคุณลักษณะของวัฒนธรรม Google?

Sullivan: ฉันนิยามวัฒนธรรมของเราว่าเป็นการทำงานเป็นทีม ร่วมมือกัน และสนับสนุนให้คนคิดนอกกรอบ ซึ่งจะแตกต่างจากบริษัทที่พวกเขาเคยร่วมงานมาก่อน ทำงานอย่างซื่อสัตย์เพื่อความดีของบริษัทและความดีของโลก ซึ่งมันถูกผูกเข้ากับพันธกิจรวมของเราที่จะทำให้ทั้งโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

ใครเป็นผู้จุดประกายแนวคิดของการมีตำแหน่ง Chief Culture Officer?

Sullivan: Larry Page และ Surgey Brin (ผู้ร่วมก่อตั้ง Google) เป็นผู้นำมันมาเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว

คุณรู้จัก Chief Culture Officer คนอื่นบ้างไหม?

Sullivan: ไม่เลยค่ะ

อะไรคือความท้าทายในบทบาทหน้าที่ของคุณ เกี่ยวข้องกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทหรือเปล่า?

Sullivan: ฉันคิดว่าหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดคือเราต้องแน่ใจว่าเรากำลังจ้างคนที่มีลักษณะนิสัยแบบพนักงาน Google-y ซึ่งมีนิยามว่าคนที่มีความคล่องตัว ปรับตัวง่าย และไม่ยึดติดกับตำแหน่งและลำดับชั้นการบริหาร และสามารถทำให้งานต่างๆ เสร็จเรียบร้อยได้ดี

เราจึงมุ่งเน้นที่กระบวนการจ้างพนักงาน เมื่อเราสัมภาษณ์คน สิ่งแรกที่เราจะดูก็คือคนๆ นั้นมีความสามารถและประสบการณ์ที่จะทำงานได้โดยดูจากประวัติภูมิหลังที่มากกว่าด้านการศึกษา แต่เราก็ต้องมั่นใจด้วยว่าเขาสามารถเข้ากับวัฒนธรรมและทีมงานของเราได้ดี

ช่วยยกตัวอย่างคำถามที่คุณใช้สัมภาษณ์เพื่อทดสอบว่าเขามีความเป็น Google-y เพียงพอไหม?

Sullivan: คุณก็รู้ว่ามันไม่มีคำถามมาตรฐานหรอก แต่เราก็ต้องถาม สมมุติว่าคำถามนั้นอาจจะเป็น "คุณต้องใช้กล่องขนมปังกี่กล่องถึงจะใส่ได้เต็มเครื่องบิน?" หรืออะไรประมาณนี้แหละ คำถามแบบนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อดูว่าใครมีความคล่องตัวและปรับตัวง่ายหรือเปล่า แต่ยังสามารถใช้ประเมินกระบวนการความคิดและการหาเหตุผลของเขาได้ด้วย มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องแน่นอน แต่เราแค่อยากรู้ว่าเขามีขั้นตอนการคิดอย่างไร

เวลาที่ฉันสัมภาษณ์คนด้วยตัวเอง ฉันจะเริ่มจากการบอกเขาว่าเราจะพยายามประเมินว่าเขาจะร่วมงานกับเราได้ประสบความสำเร็จแค่ไหน เขาจะสนุกสนานแค่ไหน และเขาจะเติบโตต่อไปได้ขนาดไหน เรารู้ว่าเขามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะร่วมงานกับเราเพราะเขาสามารถผ่านกระบวนการคัดเลือกต่างๆ เข้ามาได้ แต่ก็ยังมีคำถามอื่นๆ ที่เราต้องถามเขาในเรื่องสิ่งที่เขาชอบ ประสบการณ์ในอดีต และสิ่งที่เขาถนัด

เคยได้ยินว่ามีการสำรวจความสุขของพนักงานที่ Google ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

Sullivan: เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา เราได้ทำการสำรวจความสุขของพนักงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำสำรวจประจำปีของบริษัท เมื่อสี่หรือห้าปีที่แล้ว Larry และ Surgey ต้องการรู้ว่าพนักงานของเขามีความสุขมากแค่ไหน และอะไรที่จะทำให้พวกเขาทำงานอยู่กับบริษัทต่อไป

เราพยายามหาว่าอะไรที่ทำให้คนอยู่กับบริษัท อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ความจงรักภักดีอยู่ในระดับสูงหรือต่ำ อะไรที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างพวกเขากับผู้จัดการของเขา ผลลัพธ์ที่ออกมาคือการพัฒนาและก้าวหน้าทางสายงาน เราจึงมุ่งเน้นที่การพัฒนาสายงานมากกว่าการให้หุ้นหรือขึ้นเงินเดือน

คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่พนักงานชอบที่สุด? อะไรคือสิ่งที่มีผลตอบรับทางบวกมากที่สุด?

Sullivan: มันคือเรื่องอาหาร เรามีอาหารมื้อเที่ยงให้พนักงานในทุกสำนักงานของเรา เรามีห้องอาหาร เราจ้างพ่อครัวของเราเอง แต่ก็ยังมีหลายที่ที่เราสั่งอาหารเข้ามา ที่ Mountain View เราเริ่มมีอาหารจัดเลี้ยงตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งทำให้พนักงานอยู่ในบริเวณที่ทำงาน เขาจะมีชีวิตชีวา มีสุขภาพที่ดี ที่สำนักงานใหญ่ เรามีทั้งมื้อเช้า มื้อเที่ยง และมื้อเย็น

คุณจะรับมืออย่างไรกับความเป็นไปได้ที่พนักงานจะลาออกไปเมื่อพวกเขาสามารถขายหุ้นได้หลังจากสี่ปีผ่านไป?

Sullivan: เรามีพนักงานที่ทำงานมาครบสี่ปีแล้ว ทั้งปีที่แล้วและปีนี้ เราเฝ้าตามดูพวกเขาและคอยไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบว่าคุณสบายดีไหม? ได้ทำงานที่คุณสนใจหรือเปล่า? คุณชอบสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ไหม? ถ้าไม่ อะไรคือสิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตคุณดีขึ้นหรือมีความจงรักภักดีกับบริษัทมากขึ้น?

เราพยายามใกล้ชิดพวกเขาเพราะคนเหล่านี้ทำเงินให้เราได้มากและเราต้องพยายามรักษาพวกเขาไว้ให้อยู่กับ Google สำหรับคำตอบของคำถามนี้ก็คือเราตระหนักถึงเรื่องนี้และยังคงตระหนักต่อไปตลอด

โครงการถ่ายโอนสิทธิ์ในการซื้อขายหุ้น (ที่ช่วยให้พนักงานสามารถขายสิทธิ์ในการซื้อขายหุ้นผ่านโปรแกรมประมูลออนไลน์ได้ และสามารถทำเงินได้ทันที ดีกว่าเสี่ยงรอจนราคาหุ้นตก) เป็นอย่างไรแล้วบ้าง?

Sullivan: มันยังเร็วเกินไปที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ พนักงานของเราตื่นเต้นในเรื่องนี้ และไอเดียนี้ก็ได้รับการตอบรับที่ดี

อะไรคือสิ่งที่สนุกหรือบ้าที่สุดในการทำงานของคุณ?

Sullivan: ฉันคิดว่าการวางแผนเตรียมงานท่องเที่ยวเล่นสกีเมื่อปีที่แล้วเป็นสิ่งที่บ้ามาก เราเคยจัดท่องเที่ยวเล่นสกีตั้งแต่ปี 1999 มีหลายกลุ่มที่มาร่วมงาน เราจัดกิจกรรม team building หลายอย่างในตอนกลางคืน มันเป็นสิ่งที่น่าจดจำและสนุกสนานจริงๆ

มีอะไรที่เรายังไม่ได้ถามแต่คุณคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับคุณที่ Google?

Sullivan: ฉันคิดว่าบริษัทใดก็ตามที่เติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนเรา จะต้องมีสมดุลของงานกับชีวิตอย่างดี เราไม่จัดประชุมตอนเช้าตรู่หรือตอนดึก เรายินดีให้พนักงานร่วมประชุมทางโทรศัพท์จากบ้าน และเราก็จ่ายค่าเชื่อมต่อจากบ้านให้ด้วย เรามีนโยบายคุณพ่อที่น่ารักที่ให้พนักงานที่เป็นพ่อคนสามารถลางานได้สองสัปดาห์เมื่อภรรยาของเขาจะคลอดลูก และเราจ่ายค่าอาหารให้พวกเขาเมื่อลูกของเขาเพิ่งคลอดในสองสัปดาห์แรก

เราให้พนักงานนำสุนัขไปที่ทำงานได้ เรามีผลประโยชน์ให้เพื่อให้พนักงานอยู่กับเรา เรายังให้พนักงานกู้เงินได้ $5,000 ถ้าเขาซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และเราก็มีรถรับส่งไปกลับใน San Francisco, the East Bay และ Santa Cruz

แปลจาก Meet Google's culture czar

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2550

20 Rules of Smart and Successful Web Development - กฎ 20 ข้อในการพัฒนาเว็บให้เป็นเลิศและประสบความสำเร็จ

1. ให้ความนับถือผู้ชมเว็บของคุณ อย่าพยายามบังคับให้พวกเขาอ่านเนื้อหาในเว็บของคุณทั้งหมด ปล่อยให้พวกเขาเลือกและตัดสินใจเองว่าจะอ่านอะไร ให้ลองนึกว่าถ้าคุณเป็นผู้ชมเว็บ คุณจะทำอย่างไรกับหน้าต่างที่ป๊อบอัพขึ้นมาและกล่องโฆษณาที่เกลื่อนกลาดอยู่เต็มไปหมด

2. โฆษณาที่แย่ กล่องโฆษณาที่น่ารำคาญอาจช่วยเพิ่มรายได้ให้คุณเพียงชั่วขณะหนึ่ง แต่ในระยะยาวแล้ว มันไม่ทำให้เว็บไซต์ของคุณประสบความสำเร็จได้ อย่างไรก็ตาม การผนวกโฆษณาเข้ากับเนื้อหาของเว็บไซต์ และจัดโครงสร้างของเว็บให้ดีก็จะช่วยให้โฆษณานั้นไม่รบกวนผู้ชม มันจะช่วยให้เว็บของคุณเป็นที่รู้จักมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คุณได้ด้วย

3. ให้ข้อมูลและสอนผู้ชมเว็บของคุณ แบ่งปันความคิด ไอเดีย ประสบการณ์ และความรู้ของคุณให้กับคนที่ต้องการหรืออาจจะต้องการคำแนะนำจากคุณ เมื่อคุณมีข้อมูลเหล่านี้ คุณก็มีเครื่องมือที่ทรงพลังที่จะดึงดูดความสนใจของมวลชนมาที่งาน ความสนใจ และบริการของคุณได้ นอกจากนี้แล้ว ถ้าคุณแบ่งปันความรู้ที่มีคุณค่ากับผู้ใช้คนอื่น คุณก็จะได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นบุคคลที่รู้ว่าเขาหรือเธอกำลังพูดถึงอะไร

4. สร้างสรรค์สไตล์ของคุณ สร้างสรรค์จากไอเดียของคุณ ทำให้ตัวคุณเกิดแรงบันดาลใจ แต่อย่าลอกเลียนแบบ มันน่าสนใจกว่ามากที่จะได้รู้ว่าคุณมีความสามารถอะไรแทนที่จะไปสนใจว่าคนอื่นมีความสามารถอะไร ค้นหาจินตนาการและความอยากรู้อยากเห็นของคุณเอง ไอเดียใหม่ๆ หรือไอเดียเก่าที่ถูกพัฒนาขึ้น ย่อมดึงดูดผู้ใช้เว็บมากกว่าของลอกเลียนแบบ

5. ใส่ใจกับมาตรฐาน คิดถึงคนให้มาก การใช้มาตรฐานเว็บที่ดีจะช่วยลดงานของคุณในอนาคตลงได้มาก เมื่อคุณจะสร้างเว็บสำหรับคนทั่วไป มันจึงมีเหตุผลที่คุณจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่จะตรวจสอบโค้ดต่างๆ และทำให้มันเป็นมาตรฐาน เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานดีแล้ว คุณก็ไม่ต้องกังวลว่าในอนาคตจะมีเว็บบราวเซอร์เวอร์ชั่นใหม่เกิดขึ้นมาซึ่งจะทำให้เว็บของคุณมีปัญหา นอกจากนี้เว็บของคุณจะต้องสามารถอ่านได้ง่าย (readability) เข้าถึงได้ง่าย (accessibility) และใช้งานง่าย (usability) จำไว้ว่าคุณต้องนับถือผู้ชมเว็บของคุณ

6. ใช้ข้อความที่ชัดเจน อย่ากลัวที่จะบอกว่าคุณต้องการสื่ออะไร ความคลุมเครือทำให้เกิดระยะห่างระหว่างคุณกับผู้ชมเว็บของคุณอย่างไม่จำเป็น ให้ใช้ข้อความที่เด่นชัดต่อผู้ชมเว็บถ้าคุณต้องการนำเสนออะไรให้แก่พวกเขา ถ้าคุณระบุให้ชัดเจนว่าคุณกำลังพูดถึงอะไรอยู่ คุณก็จะได้รับผลตอบรับที่ดีหรือได้คำตอบของคำถามที่คุณสงสัย

7. เกลียด Internet Explorer ได้ถ้าคุณอยาก แต่อย่าปฏิเสธผู้ใช้มัน อย่าออกแบบเว็บที่เหมาะสำหรับบางเว็บบราวเซอร์เป็นพิเศษ คุณควรออกแบบเว็บให้เหมาะสำหรับ Internet Explorer เหมือนกับที่ออกแบบให้กับบราวเซอร์อื่นๆ Internet Explorer อาจจะไม่ใช่บราวเซอร์ที่ดีที่สุด แต่ก็มีผู้ใช้เว็บถึง 85% ที่ใช้มันอยู่ ให้กลับไปดูกฎข้อที่ 1

8. เอาใจใส่เนื้อหาของเว็บ สำหรับเว็บที่กำลังพัฒนา คุณจะต้องทำให้มันมีข้อมูลที่น่าสนใจและมีรูปลักษณ์ที่ดูดี อย่าลืมว่าผู้ชมเว็บของคุณจะจดจำทุกสิ่ง เมื่อคุณแสดงลิงค์ไปยังเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมแก่พวกเขาโดยที่ไม่มีข้อความอธิบายว่ามีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้ลิงค์นั้น คุณก็จะไม่ได้เห็นผู้ชมเว็บเหล่านี้อีกเลย ถ้าโค้ดของเว็บไซต์เป็นร้อยกรอง เนื้อหาของเว็บไซต์ก็เป็นร้อยแก้ว

9. อย่ากังวลมากกับ SEO อย่าไปมองในระดับคีย์เวิร์ด เพราะมีสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเว็บไซต์ของคุณต้องการนำเสนออะไร การพยายามเพิ่มตำแหน่งใน search engine นั้นเสียเวลามากกว่าการเขียนบทความที่มีประโยชน์ลงในบล็อกของคุณ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญ SEO คุณจะทราบว่าคุณต้องปรับแต่งเว็บไซต์ตลอดเวลาเพื่อให้มีอันดับที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณเขียนบทความที่ดี มันจะอยู่กับเว็บไซต์ของคุณไปตลอด

9a. หลีกเลี่ยงการทำ SEO และ PageRank แบบผิดๆ การทำ Search Engine Optimization ที่ไม่ถูกต้อง (การแลกเปลี่ยนลิงค์กับทุกเว็บไซต์บนเน็ตเท่าที่เป็นไปได้ การโพสต์ลิงค์ของคุณในเว็บรวมลิงค์ ฯลฯ) จะทำให้เว็บของคุณถูกแบนจาก search engine สำคัญๆ ในที่สุด อัลกอริธึมของ search engine ถูกปรับปรุงตลอดเวลา ท้ายที่สุดแล้วความพยายามของคุณก็จะไม่เกิดประโยชน์ และยังเสี่ยงที่ PageRank จะกลายเป็น 0

10. ติดต่อ แต่อย่าสแปม ให้คนที่สนใจเนื้อหาของคุณได้รู้ว่าคุณมีเนื้อหานั้นๆ ต้องรู้ก่อนว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ จากนั้นให้เอาใจใส่กับคนที่อาจจะสนใจในบริการของเว็บคุณ นึกถึงเว็บไซต์ที่พวกเขาชอบเข้าไปชม แล้วติดต่อเจ้าของเว็บไซต์เหล่านี้เพื่ออธิบายถึงประโยชน์ของบริการของคุณ แต่จำไว้ว่าคุณไม่ได้เขียนถึงโปรแกรม แต่คุณกำลังเขียนถึงมนุษย์ ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะแบ่งปันบริการของคุณให้กับผู้ชมเว็บของเขาหรือไม่ จำไว้ว่าจะส่งลิงค์ แต่ให้ส่งคำเชิญชวนที่มีข้อความที่สุภาพที่อธิบายว่าเว็บของคุณมีอะไรที่แตกต่างจากเว็บอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน ต้องมั่นใจว่าคนที่คุณเขียนถึงตระหนักได้ว่ามันสำคัญต่อผู้ชมเว็บของพวกเขาอย่างไร จงจำไว้ว่าคุณไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ทำเพื่อผู้ใช้ อย่าสแปม อย่าโฆษณา แต่ให้เผยแพร่สิ่งที่มีประโยชน์

11. ไม่ต้องเกรงใจที่จะถาม มีนักพัฒนาเว็บจำนวนมากที่เคย กำลัง หรือจะถามคำถามเดียวกับที่คุณมีอยู่ตอนนี้ อย่าลังเลที่จะถาม อย่าลังเลที่จะหาคำตอบ ยิ่งคำถามของคุณฉลาดมากเท่าไร คำถามนั้นก็มีโอกาสจะได้รับคำตอบมากขึ้นเท่านั้น และยังทำให้คนพบเว็บของคุณจาก search engine อีกด้วย

12. ตอบอีเมลทันที ติดต่อกับลูกค้าที่มีศักยภาพของคุณให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ อย่าปล่อยให้อีเมลกองอยู่ใน inbox นานเกิน 12 ชั่วโมง อย่าส่งข้อความตอบกลับอัตโนมัติ คนที่เขียนข้อความถึงคุณรู้ว่าเขากำลังเขียนถึงคุณ อย่าทำให้คนอื่นเสียเวลาเช่นเดียวกับที่คุณไม่ทำให้ตัวเองเสียเวลา พยายามสร้างความประทับใจให้กับคนที่คุณติดต่อด้วย ตอบกลับอย่างมั่นใจ มืออาชีพ เป็นกันเอง และเป็นตัวของตัวเอง

13. ใช้ประโยชน์ของ social bookmark อย่ากลัวที่จะเผยแพร่เว็บไซต์ของคุณผ่าน Digg, Reddit, Furl, del.icio.us, Ma.gnolia, Blinklist และเว็บไซต์ social bookmark อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ให้เลือก tag ที่จะใช้ในเว็บเหล่านี้อย่างระมัดระวังซึ่งจะทำให้ผู้ชมเว็บเข้ามาที่เว็บของคุณ และถ้า tag ถูกเลือกใช้อย่างมีเหตุมีผล ไม่เพียงแต่จะมีผู้ชมเว็บเข้ามาเท่านั้น แต่คุณยังสามารถโน้มน้าวให้พวกเขาช่วย tag บทความของคุณใน social bookmark ต่อด้วย

14. สร้างความสัมพันธ์ นักพัฒนาเว็บที่สร้างสรรค์มักจะได้รับการสนับสนุนจากบล็อกของนักพัฒนาเว็บด้วยกัน

15. คิดในระดับโลก ข้อมูลในเว็บของคุณอาจจะไม่ดึงดูดคนในประเทศของคุณ แต่โลกของเว็บนั้นไร้ขอบเขต แล้วทำไมคุณไม่สื่อสารกับคนทั้งโลกล่ะ? ไม่จำเป็นต้องหาตลาดเฉพาะ (niche) ที่ใกล้ตัวคุณ ในเมื่อคุณมีโอกาสที่ไม่จำกัดอยู่ทั่วโลก

16. อย่าแหกหลักการ ควรพูดคุยกับลูกค้าถึงแนวทางที่เว็บไซต์ควรถูกนำเสนอหรือพัฒนาขึ้น ให้ความเคารพกับมุมมองของลูกค้า แต่จงจำไว้เสมอว่าคนที่พัฒนาเว็บคือคุณ อย่าทำเพียงเพราะว่าคุณถูกสั่งให้ทำ ให้แก้ไขข้อผิดพลาดถ้าคุณพบว่าลูกค้าผิด จงเป็นมืออาชีพ เพราะในท้ายที่สุดแล้วคุณสร้างเว็บเพื่อผู้ใช้ ไม่ใช่เพื่อลูกค้าของคุณ

17. ติดตามข่าวสารสม่ำเสมอ ตื่นตัวตลอดเวลาว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต เว็บถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีไอเดียใหม่ๆ ออกมาเสมอ อย่างไรก็ตาม นิตยสารด้านการออกแบบและพัฒนาเว็บก็คุ้มค่าที่จะอ่าน

18. เรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์ ค้นหาไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา พยายามเข้าไปอ่านตามกระดานข่าวของนักพัฒนาเว็บ มุ่งความสนใจของคุณไปยังสิ่งที่ผู้คนกำลังค้นหาและพูดถึงกันอยู่

19. ทำเว็บให้สวยขึ้น CSS ดีไซน์ที่โปร่งตา อ่านง่าย และดูชาญฉลาด คือความสวยงาม

20. ตระหนักถึงพลังอำนาจของเว็บอยู่เสมอ ให้การสนับสนุนแก่โครงการที่สำคัญต่อคุณในอนาคต

แปลอย่างย่อจาก Web Design and Development: Top 20 Best Practices

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2550

Google Convergence ยิ่งรวมกัน ชีวิตยิ่งดีขึ้น โดยไม่ต้องมีปาติหาน

ผมสมัครสมาชิกของ Blogger ไว้ตั้งแต่ปี 2004 ด้วยความที่ตอนนั้นอยากรู้ว่าบล็อกมันต่างจากไดอารี่ยังไง และบล็อกต่างประเทศสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่ก็ได้แค่ลองเล่นเฉยๆ ไม่ได้ลงมือเขียนบล็อกจริงจัง เพราะผมเขียนไดอารี่อยู่ที่ DiaryIS อยู่แล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ ผมอยากเขียนบล็อกด้านธุรกิจออนไลน์โดยเฉพาะ ก็เลยเปิดบล็อกใหม่แยกออกมาจาก DiaryIS โดยไปสร้างบล็อกไว้กับ Exteen ซึ่งมีโปรแกรมสำหรับเขียนบล็อกที่ใช้งานได้ง่ายมาก เว็บไซต์ก็โหลดได้รวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เว็บไซต์ไม่อนุญาตให้โฆษณาขายของ และไม่สามารถนำโปรแกรมวิเคราะห์คนเข้าบล็อกมาติดได้

ผมลองกลับมาเล่น Blogger ดูอีกครั้ง เนื่องจากเห็นหลายๆ บล็อกที่ใช้บริการ Blogger อยู่ สามารถติดโฆษณาของ Google AdSense ได้ และพอได้ลองเล่นมากขึ้นก็พบว่ามันยอดเยี่ยมมากครับ เลยตัดสินใจย้ายข้อมูลจาก Exteen มาอยู่ที่ Blogger และเริ่มเขียนบทความนี้เป็นบทความแรก

ผมเชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็นโฆษณาของ True Convergence ที่เด็กชายมีเงิน 80 บาท ขอซื้อปาติหานเพื่อช่วยให้น้องสาวของตัวเองหายจากโรคที่เป็นอยู่ คำว่า Convergence ในที่นี้เป็นคำศัพท์ทางธุรกิจและถูกใช้อย่างมากในโลกยุคดิจิตอล ซึ่งคำนี้มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า Synergy อย่างมาก โดยคำว่า Synergy หมายถึงการที่สองธุรกิจซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ มาผนึกกำลังกันเพื่อสร้างผลประโยชน์บางอย่าง โดยที่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะมากกว่าที่ต่างคนต่างทำกันเอง แต่คำว่า Convergence มีความหมายที่แคบกว่า โดยเน้นไปที่การรวมกันของสิ่งที่มีความสามารถแตกต่างกัน เช่น โทรศัพท์มือถือสมัยนี้คือการรวมกันของโทรศัพท์ กล้องดิจิตอล และคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก

การเขียนบล็อกที่ Blogger ทำให้ผมเห็นภาพของ Google Convergence ที่ชัดเจนมาก และผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่อยากเขียนบล็อกให้เป็นธุรกิจของตัวเองครับ

Convergence อย่างแรกเลยก็คือ Blogger เป็นบริการของ Google ที่ถูกซื้อเข้ามาในปี 2003 นั่นแปลว่าคนที่เขียนบล็อกกับ Blogger ก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้เครือข่ายบริการของ Google ไปด้วย เช่น มั่นใจได้ว่าข้อมูลจะไม่สูญหายเหมือนที่ใช้บริการกับผู้ให้บริการบล็อกในไทยหลายๆ ราย เซิร์ฟเวอร์ก็มีความเสถียร เนื่องจากได้รับการดูแลจากวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญของ Google พื้นที่การเขียนบล็อกก็เยอะมากจนอาจเรียกได้ว่าไม่จำกัด (อารมณ์เดียวกับ Gmail) นอกจากนี้ Google Search ก็จะทำดัชนีบล็อกของคุณได้อย่างรวดเร็ว บทความใหม่ของบล็อกคุณจะไปปรากฎบน Google Search ได้ในเวลาไม่นาน (ตอนที่ผมลองทดสอบ Blogger ดูโดยยังไม่ได้เอาบล็อกไปโปรโมทที่ไหน ปรากฎว่าบล็อกของผมก็ติดอยู่ใน Google Search ไปแล้วครับ) และที่สำคัญคือทุกอย่างนี้ฟรีหมดครับ

Convergence อย่างที่สองคือคุณสามารถติดโฆษณา Google AdSense ในบล็อกของคุณได้ จะติดตรงส่วนไหนของบล็อกก็ได้ ติดกี่อันก็ได้ ทำให้คุณไม่ต้องเขียนบล็อกฟรีๆ อีกต่อไป อย่างน้อยก็มีค่าขนมนิดๆ หน่อยๆ จากการโฆษณา ซึ่งยังไม่มีผู้ให้บริการบล็อกในไทยที่ให้ทำแบบนี้ได้ (อาจจะมีแต่ผมยังไม่เคยเห็น) เนื่องจากผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังใช้โมเดลการขายโฆษณาแบบเดิมอยู่ คือต้องการพื้นที่บนบล็อกของคุณเพื่อติดแบนเนอร์โฆษณาที่ลูกค้าขอซื้อ ทั้งนี้เพื่อที่เว็บไซต์จะได้มีรายได้สำหรับการดูแลระบบรวมถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ

Convergence ที่สามคือคุณสามารถนำคลิปวิดีโอจาก YouTube หรือ Google Video ในหัวข้อที่คุณสนใจมาติดในทุกหน้าภายในบล็อกของคุณได้แบบง่ายๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ชมบล็อกของคุณสามารถดูวิดีโอได้ทันที

Video clip in Blogger

Convergence ที่สี่คือคุณสามารถนำตัวเก็บสถิติคนเข้าเว็บไซต์ของ Google Analytics มาติดไว้ในบล็อกของคุณได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณทราบว่าคนเข้าเว็บไซต์คุณมาจากที่ไหนบ้าง มีจำนวนขาประจำมากน้อยแค่ไหน

Google Analytics in Blogger

ผมเชื่อว่ายังมี Convergence อื่นๆ อีกหลายอย่างที่คนเขียนบล็อกแต่ละคนสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ และในอนาคตก็คงมีบริการใหม่ๆ อีกหลายอย่างที่ Google พัฒนาขึ้นมา หรือไปซื้อกิจการคนอื่นมา แล้วเอามา Convergence กับ Blogger ได้อีก อย่างเช่นพวกอัลบั้มรูป หรือ Social Network ที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการของคนเขียนบล็อกได้มากขึ้นอีก

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2550

Google ประกาศซื้อกิจการ Internet ทั้งโลก (พฤษภาคม 2017)

12 พฤษภาคม 2017 - Google Inc. ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้นหาข้อมูล ได้ประกาศในวันนี้ว่าได้เข้าซื้อกิจการ Internet แล้วด้วยมูลค่าสูงถึง 2,455.5 พันล้านเหรียญ ดีลในครั้งนี้ตกเป็นข่าวลือตามเว็บบล็อกต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี และได้รับคำยืนยันจาก CEO แล้ว "ดีลนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราที่จะช่วยให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น" Eric Schmidt กล่าว "ด้วยการซื้อกิจการในครั้งนี้ เราสามารถเพิ่มความเร็วของการทำดัชนีข้อมูล เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะมาอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของเราทันทีที่มันถูกสร้างขึ้น"

จากการประชุมทางโทรศัพท์เมื่อเช้านี้ Larry Page อธิบายถึงกลยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังการซื้อกิจการครั้งนี้ว่า "เราพบว่ามันไม่คุ้มเอาเสียเลยถ้าเราจะซื้อ Internet เพียงส่วนเล็กๆ" ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา Google ได้เข้าซื้อ YouTube ในราคา 1.65 พันล้านเหรียญ DoubleClick 3.1 พันล้านเหรียญ AOL 12.5 พันล้านเหรียญ และเมื่อปีที่แล้วได้เข้าซื้อ Microsoft ด้วยตัวเลขสูงถึง 120 พันล้านเหรียญ

เมื่อถูกถามถึงก้าวแรกของการรวมเอา Internet เข้าสู่เซิร์ฟเวอร์ของ Google Eric Schmidt ประกาศว่ามีแผนที่จะโอนผู้ใช้ Yahoo.com มาที่ระบบค้นหาของ Google ทันที "จากมุมมองของผู้ใช้ การมีเว็บสำหรับค้นหาสองเว็บ เป็นเรื่องยุ่งยากต่อการใช้งานและสร้างความสับสนอย่างมาก ถึงแม้ว่าเราจะชื่นชอบเทคโนโลยีการค้นหาตัวล่าสุดของ Yahoo แต่เราก็เชื่อมั่นว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ลงโฆษณา ผู้ใช้เว็บ และผู้ถือหุ้น" Eric เสริมอีกว่า "ด้วยการผนวกเอาแพลตฟอร์มมือถือยุคที่สามเข้ามา ช่วยให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาประสบการณ์การใช้เว็บ และยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักลงทุนและผู้ใช้คอมพิวเตอร์ - การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยเสริมกำลังให้กับ Web 6.0 ในระดับองค์กร"

มีสิ่งที่ตามมาหลังการเข้าซื้อถูกเปิดเผยขึ้น กลุ่มสิทธิส่วนบุคคลได้ออกเอกสารต่อต้านการตัดสินใจนี้ อย่างไรก็ตาม Larry Page โต้แย้งว่าสิทธิส่วนบุคคลจะถูกพัฒนาขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการของ Google โดยอธิบายว่า "ปัญหาหลักของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้เว็บในทุกวันนี้ เกิดจากการที่ข้อมูลรั่วไหลไปยังบุคคลที่สาม แต่การตัดบุคคลที่สามออกทำให้เราสามารถปิดรูรั่วนั้นได้" Eric Schmidt เสริมว่า Google มุ่งมั่นที่จะแทนที่นโยบายสิทธิส่วนบุคคลด้วย "บรรทัดฐานสิทธิส่วนบุคคล" ซึ่งจะสร้างสมดุลได้ดีกว่า "เมื่อคุณพัฒนาสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนส่วนใหญ่ ด้วยการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนกลุ่มเล็กๆ ผลสุดท้ายก็คือเราสามารถพัฒนาสิทธิส่วนบุคคลในภาพรวมทั้งหมด"

รัฐบาลจีนได้ออกมาแสดงความยินดีกับ Google ในการซื้อกิจการครั้งนี้ เนื่องจากได้พิจารณาถึงความสามารถในการเซ็นเซอร์ที่ดีขึ้น Sergey Brin กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า Google จะเลิกใช้ตัวกรองผลการค้นหา และแทนที่มันด้วย "การระบุต้นเหตุของปัญหาที่เกิดจากฝ่ายผู้สร้างข้อมูล" ด้วยการบล็อกคีย์เวิร์ดเวลาที่ผู้ใช้ส่งข้อมูลเข้าเว็บที่ Google เป็นเจ้าของอยู่ เช่น Blogger, Gmail, Page Creator, Yahoo 360 และ MSN Spaces เครือข่ายนิรโทษกรรมสากลและผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังไม่สามารถให้ความเห็นในตอนนี้ได้ เนื่องจากมีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคที่เกิดขึ้นกับโปรแกรม email บนเว็บ

แปลมั่วๆ จาก http://blog.outer-court.com/archive/2007-04-14-n32.html

เมื่อ Google จดทะเบียนสมรสกับ DoubleClick แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกนี้บ้าง?

หลังจากที่ได้เขียนเรื่อง <Google ซื้อ DoubleClick ด้วยเงินสดมูลค่า 3.1 พันล้านเหรียญ นี่คือราคาที่สมเหตุสมผล หรือเป็นราคาที่ต้องการเอาชนะ Microsoft กันแน่?> ซึ่งจะช่วยให้ทุกท่านเห็นภาพของการเคาะราคาอย่างมีที่มาที่ไป ได้เข้าใจว่าทำไม Microsoft ถึงแพ้ ทั้งที่ตัวเองก็มีเงินสดอยู่ในมือสูงถึง 30 พันล้านเหรียญ

บทความนี้จะเล่าต่อว่าเมื่อ Google ได้ DoubleClick มาแล้ว จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับโลกออนไลน์ใบใหญ่แต่แบนราบนี้บ้าง?


DoubleClick มีดีอะไร?

DoubleClick DoubleClick เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีการตลาดออนไลน์ทั้งแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ที่ต้องการขายพื้นที่โฆษณาบนเว็บของตัวเอง (ผู้ขาย) และเอเจนซี่โฆษณาซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการซื้อพื้นที่โฆษณาเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการต่างๆ (ผู้ซื้อ)

สิ่งที่ DoubleClick ทำก็คือการเป็นตัวกลางที่เชื่อมผู้ขายกับผู้ซื้อเข้าด้วยกัน DoubleClick ได้สร้างเครือข่ายของเจ้าของเว็บไซต์ซึ่งมีพื้นที่โฆษณาจำนวนมากเอาไว้ และได้นำพื้นที่นี้ไปขายต่อให้กับเอเจนซี่ ซึ่ง DoubleClick มีหน้าที่บริหารพื้นที่โฆษณาให้ดีที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ

Google and DoubleClick act as intermediator

ในด้านปริมาณก็คือจะต้องลดจำนวนพื้นที่ว่างให้เหลือน้อยที่สุด ให้ลองนึกภาพว่าคุณเป็นเจ้าของหอพักที่มีจำนวนห้องให้บริการได้ 100 ห้อง ถ้ามีคนใช้บริการเพียง 50 ห้อง คุณก็อาจจะขาดทุน แต่ถ้ามีคนใช้บริการสัก 95 ห้อง แบบนี้เยี่ยมครับ ถึงแม้ว่า DoubleClick จะไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่โฆษณาเอง ไม่ได้ลงทุนสร้างและบริหารเว็บไซต์เอง แต่ทำตัวเป็นนายหน้าขายพื้นที่ให้ (นึกภาพว่าคุณเป็นเจ้าของหอพักที่ไม่ได้ขายห้องเอง แต่มีคนมารับอาสาช่วยขายให้คุณ และเขาจะได้รับคอมมิสชั่นจากคุณ) ถ้า DoubleClick ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างเหลือเยอะๆ เจ้าของเว็บไซต์ก็อาจจะไม่พอใจและเปลี่ยนไปให้บริษัทอื่นขายโฆษณาให้ หรือไม่ก็ขายเองซะเลย

ในด้านคุณภาพ DoubleClick จะต้องบริหารโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดทั้งฝั่งผู้ขายและฝั่งผู้ซื้อ สิ่งที่ผู้ซื้อโฆษณาต้องการก็คือได้เห็นโฆษณาของตัวเองไปปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ที่มีผู้ชมเป็นกลุ่มเป้าหมายตามที่ต้องการ เช่น ถ้าผมเป็นเจ้าของโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาจจะเป็นเจ้าของรีสอร์ทก็ได้ สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือโฆษณารีสอร์ทของผมไปปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ด้านท่องเที่ยว แต่ไม่อยากเห็นมันไปปรากฎบนเว็บไซต์สอนเขียนโปรแกรม PHP ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้ขายโฆษณาต้องการก็คือได้เห็นโฆษณาที่เหมาะกับผู้ใช้เว็บมาปรากฎบนเว็บของตัวเอง เช่น ถ้าผมเป็นเจ้าของเว็บไซต์ที่ฐานคนเล่นเป็นเด็ก ผมคงไม่อยากเห็นโฆษณาขายซีดีโป๊มาโผล่บนเว็บผม

บางคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ มันก็ไม่ต่างอะไรกับ Google AdSense เลยสิ ที่ให้เจ้าของเว็บเอาพื้นที่โฆษณามาขายให้กับผู้ที่ซื้อโฆษณาผ่าน Google AdWords ใช่เลยครับ ทั้ง Google และ DoubleClick ต่างก็เป็นตัวกลางเชื่อมผู้ขายและผู้ซื้อเหมือนกัน จะต่างกันก็ที่ Google ให้บริการแบบ Pay-Per-Click Text Ads เป็นหลัก ผู้ซื้อโฆษณาจะซื้อคีย์เวิร์ดจาก Google AdWords จากนั้น Google จะนำข้อความโฆษณาของผู้ซื้อไปแสดงบนเว็บไซต์ที่มีคีย์เวิร์ดนั้นๆ อยู่ ถ้าผู้เล่นเว็บไซต์นั้นเห็นโฆษณาแล้วคลิกที่โฆษณา ผู้ซื้อคีย์เวิร์ดก็จะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของเว็บไซต์ โดย Google จะเป็นตัวกลางและเรียกเก็บค่าต๋งไป

ขณะที่ DoubleClick จะต่างออกไปตรงที่ไม่ได้มีเทคโนโลยี Search Engine แบบ Google จึงไม่สามารถให้บริการ Text Ads ได้ดีนัก แต่ DoubleClick ก็มี Image Ads ที่แข็งแกร่ง มีเครือข่ายเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเน้นรูปภาพและมัลติมีเดีย

Text Ads กับ Image Ads มีวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกัน Text Ads จะถูกใช้เพื่อสื่อสารข้อความออกไปตรงๆ เพื่อให้ผู้มองเห็นตัดสินใจคลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมทันที ขณะที่ Image Ads จะไม่เน้นการถูกคลิกมากนัก แต่ถูกใช้เพื่อสร้าง Brand Awareness ให้ภาพของโฆษณาฝังเข้าไปในหัวของผู้มองเห็น

เจ้า Image Ads เนี่ยแหละครับ ที่ Google สู้ไม่ได้

Performics

นอกจากนี้ DoubleClick ยังมีบริษัทลูกที่ชื่อ Performics ซึ่งเป็นเครือข่าย Affiliate Marketing ใหญ่เป็นอันดับสามของอเมริกา และเป็นเอเจนซี่ด้าน Search Engine Marketing อันดับหนึ่งของอเมริกา

ใครที่เคยอ่านหนังสือ Google Make Me Rich ก็คงรู้จักคำว่า Affiliate Marketing ดี เจ้า Performics ที่เป็นเบอร์สามของตลาดนี้ก็ทำตัวเป็นตัวกลางเช่นกัน ด้วยการสร้างเครือข่ายบริษัทผู้ผลิตสินค้าหรือบริการที่มีเว็บไซต์สำหรับขายออนไลน์ และเปิดให้คนที่อยากเป็นนายหน้าช่วยบริษัทเหล่านี้ขายของได้เข้ามาสมัครสมาชิก และเลือกสินค้าที่มีเพื่อนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามเว็บต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้น Google AdWords ถ้ามีคนคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของบริษัทขายสินค้าผ่านการแนะนำของนายหน้า และคนนั้นตัดสินใจเป็นลูกค้าของบริษัท คนที่เป็นนายหน้าก็จะได้รับค่าต๋งไป

แต่เมื่อ Google เข้ามาขอแต่งงานกับ DoubleClick และได้ Performics เป็นเรือพ่วงติดไปด้วย ต้นทุนของ Affiliate Marketing จะลดลงทันที จากเดิมที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าจะต้องจ่ายเงินให้ Performics และ Performics จะแบ่งเงินออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้นายหน้า อีกส่วนให้ตัวเอง และนายหน้าที่ทำ Affiliate Marketing ที่จ่ายเงินซื้อคีย์เวิร์ดให้กับ Google เงินที่จ่ายก็ถูกแบ่งเป็นสองส่วนเช่นกัน ส่วนหนึ่งให้เจ้าของเว็บไซต์ที่มีพื้นที่โฆษณา อีกส่วนให้ Google เอง

Before acquisition of Google and DoubleClickBefore

ต่อจากนี้ไป Google จะเป็นผู้รับคนเดียวครับ คือรับเงินจากบริษัทผู้ผลิตสินค้า และรับเงินจากผู้ซื้อโฆษณา ซึ่ง Google สามารถที่จะลดเปอร์เซ็นต์ของเงินสองก้อนนี้ลงได้เพื่อให้ตลาดของ Affiliate Marketing โตมากขึ้น กระตุ้นให้เจ้าของสินค้าเอาสินค้ามาฝากให้ Google ช่วยขายมากขึ้นเนื่องจากค่าต๋งถูกลง ซึ่งจะทำให้นายหน้ามีสินค้าให้เลือกขายได้มากขึ้น และลงโฆษณากับ Google AdWords มากขึ้นเช่นกัน

After acquisition of Google and DoubleClickAfter

เว็บไซต์ Affiliate Marketing รายอื่นอย่าง Commission Junction (CJ) หรือ Linkshare ก็เตรียมนับถอยหลังวันตายได้เลยครับ แข่งต้นทุนกับ Google ไม่ได้แน่นอน นอกจากว่าเว็บเหล่านี้จะถูก Microsoft หรือ Yahoo! ซื้อไป (โก่งค่าตัวไม่ได้ด้วยนะ ใครๆ ก็รู้ว่าถ้าไม่ยอมขายก็มีแต่ตายลูกเดียว)


โลกนี้จะดีขึ้นอย่างไรเมื่อ Google สมหวังกับ DoubleClick แล้ว

มาดูกันทีละฝ่ายเลยนะครับ ฝ่ายแรกคือเจ้าของเว็บไซต์ที่ติดโฆษณาของ Google AdSense คุณจะมีตัวเลือกมากขึ้นแล้วครับ คุณจะมีโอกาสได้ติดโฆษณาแบบรูปภาพมากขึ้น คนที่มาลงโฆษณากับคุณก็มากขึ้นเนื่องจาก DoubleClick มีฐานลูกค้ารายใหญ่อยู่ถึง 1,500 ราย โอกาสทำเงินก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ฝ่ายที่สองคือผู้ที่ซื้อโฆษณา จากเดิมที่ต้องไปคุยกับ Google AdWords เมื่อต้องการซื้อโฆษณาแบบตัวอักษร และต้องไปคุยกับ DoubleClick เมื่อต้องการซื้อโฆษณาแบบรูปภาพ ต่อไปนี้ก็คุยกับ Google แค่คนเดียวพอครับ และ Google จะบริหารโฆษณาของคุณให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จาก FAQ ของการซื้อกิจการครั้งนี้ระบุว่า จะช่วยให้ผู้ซื้อโฆษณานำโฆษณาที่ถูกต้อง (right ad) ไปสู่ผู้ชมที่ถูกต้อง (right user) ในเวลาที่ถูกต้อง (right time)

ฝ่ายที่สามคือบริษัทที่ขายสินค้าบนเว็บไซต์ ต้นทุนค่าคอมมิสชั่นของบริษัทที่ต้องจ่ายให้ตัวกลางอย่าง Performics จะถูกลง หรือบริษัทอาจจะคงจำนวนเงินสำหรับคนกลางไว้เท่าเดิม แต่เมื่อจ่ายให้ Performics ถูกลงแล้ว เงินก็จะถูกแบ่งให้แก่นายหน้ามากขึ้น

ฝ่ายที่สี่คือนายหน้าที่ทำ Affiliate Marketing จะได้รับผลประโยชน์จากฝ่ายที่สาม คือได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น และยังได้มีสินค้าให้เลือกมากขึ้น รวมทั้งได้ประโยชน์จากฝ่ายที่หนึ่ง คือมีเว็บไซต์ให้โปรโมทสินค้าได้มากขึ้น ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ฝ่ายที่ห้าก็คือคนเล่นเว็บธรรมดาๆ อย่างพวกเราที่จะได้เห็นโฆษณาแบบรูปภาพที่ตรงกับความสนใจของเรามากขึ้น หรือถึงแม้ว่าบางคนอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องโฆษณา แต่อย่างน้อยเว็บที่คุณเปิดดูก็อาจจะโหลดเร็วขึ้น ถ้าเว็บนั้นใช้โฆษณาจาก Google เนื่องจาก Google มี infrastructure ที่ดีเยี่ยม ทำให้โหลดข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว คุณจะใช้เวลาน้อยลงในการนั่งรอให้เว็บโหลดให้จบ


อะไรคือความเสี่ยงที่จะทำให้ Google ล่มปากอ่าว

ในเว็บไซต์ของ Google ได้ระบุว่ามีปัจจัย 5 ข้อที่จะทำให้ Google ไม่ประสบความสำเร็จตามที่ฝันไว้

  1. การเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ ธุรกิจ การแข่งขัน เทคโนโลยี หรือการเข้ามามีส่วนของภาครัฐ... อันนี้เป็นความเสี่ยงแบบกว้างๆ ครับ ไม่ว่าธุรกิจไหนก็เจอความเสี่ยงพวกนี้ทั้งนั้น
  2. การซื้อกิจการอาจไม่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ... เรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย ทำให้ถูกกฎหมายเข้าไว้ก็พอ
  3. ความล้มเหลวในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะการแข่งขันอย่างรวดเร็ว... ปัจจัยข้อนี้สำคัญนะครับ คงต้องหาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานประจำปี
  4. ไม่สามารถรักษาพนักงานที่สำคัญเอาไว้ได้... มันเป็นไปได้ที่พนักงานของ DoubleClick จะลาออก เพราะไม่อยากอยู่ร่วมบริษัทกับ Google แต่ยุคที่ใครๆ ก็อยากจะทำงานกับ Google แบบนี้ ปัจจัยข้อนี้ก็คงมีความเสี่ยงไม่มากนัก
  5. ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานทางธุรกิจของ Google และ DoubleClick... กว้างจริงๆ แต่สำคัญครับ

ผมมองว่าความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดก็คือการสูญเสีย "ข้อดี" ของ DoubleClick ไป อย่างการสูญเสียพนักงานที่สำคัญก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีอย่างอื่นอีก เช่น ถ้าเดิมที DoubleClick มีเครือข่ายพื้นที่โฆษณาอยู่ แต่เจ้าของพื้นที่โฆษณาดันเป็นบริษัทในเครือของคู่แข่งของ Google พอคู่แข่งเห็นแบบนี้ก็อาจจะยกเลิกพื้นที่โฆษณาที่ให้ DoubleClick ขายให้ก็ได้ หรือในอีกฟากหนึ่งคือฟากของผู้ซื้อโฆษณา ถ้าผู้ซื้อโฆษณาเป็นบริษัทคู่แข่งกับ Google ก็คงจะยกเลิกการซื้อได้เหมือนกัน เรื่องอะไรจะเอาเงินไปให้คู่แข่งง่ายๆ ล่ะ จริงไหม?

ผมเองไม่รู้รายละเอียดเชิงลึกของสภาพอุตสาหกรรมโฆษณาออนไลน์มากนัก แต่ก็เชื่อว่าความเสี่ยงต่างๆ ที่มีอยู่เกิดขึ้นจริงได้ยาก ถึงแม้จะเกิดขึ้นแต่ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงนัก ผมเชื่อว่า Google น่าจะทำให้ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น

อย่าให้เป็นเหมือนการซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือในบางประเทศล่ะ ความเสี่ยงที่วิเคราะห์ออกมาหลายสิบข้อ ผู้ซื้อโดนเข้าไปทุกข้อเลย

Google ซื้อ DoubleClick ด้วยเงินสดมูลค่า 3.1 พันล้านเหรียญ นี่คือราคาที่สมเหตุสมผล หรือเป็นราคาที่ต้องการเอาชนะ Microsoft กันแน่?

ข่าวออกมาสดๆ ร้อนๆ ว่า Google เป็นป๋าอีกแล้ว คราวนี้ทุ่มเงินซื้อตัวหนู DoubleClick ไปด้วย "เงินสด" มูลค่า 3.1 พันล้านเหรียญ เอาชนะเสี่ย Microsoft ไปแบบขาดลอย ราคานี้สูงกว่าที่ Google ให้หนู YouTube ที่ 1.76 พันล้านเหรียญเสียอีก

Google v.s. Microsoft on deal with DoubleClick

หลายคนอาจสงสัยว่าราคา 3.1 พันล้านเหรียญ (เอากำไรสุทธิของปี 2006 ทั้งปีไปซื้อเว็บเพียงเว็บเดียว) เป็นราคาที่สมเหตุสมผลจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่เสี่ยหนุ่มอย่าง Google อยากเอาชนะอาแปะพุงพลุ้ยอย่าง Microsoft กันแน่?

เราลองมาดูกันครับว่าเสี่ย Google อยู่ในอารมณ์อยากประมูลให้ชนะเพื่อความสะใจเฉยๆ หรือว่าเบื้องหลังมีวิธีการคำนวณราคาซื้อที่เหมาะสมกันแน่


เวลาไปซื้อของตามตลาดนัด เคยต่อราคากับแม่ค้าไหมครับ? สมมุติว่าจะซื้อเสื้อยืดตัวละ 199 บาท คุณจะต่อราคาเหลือกี่บาท?

บางคนใช้เกณฑ์ว่าเคยซื้อเสื้อคล้ายๆ แบบนี้ได้ที่ราคา 180 บาท ก็ต่อไปที่ 180 บาท

บางคนใช้เกณฑ์ว่าแม่ค้าเรียกมาเท่าไหร่ ต้องต่อลงไปซัก 10% ก็บอกไปที่ 180 บาท (แต่ถ้าไปซื้อของที่ประเทศจีน ห้ามต่อลงไป 10% นะครับ แต่ต้องต่อให้เหลือ 10% เช่น สินค้า 100 หยวน ต่อไปเลย 10 หยวน)

บางคนใช้ความรู้สึกเป็นหลัก คือรู้สึกว่าเสื้อตัวนี้มันน่าจะถูกกว่านี้ ตัวเองอาจจะใช้ประโยชน์จากเสื้อได้ไม่ถึง 199 บาท ก็เลยเรียกไปที่ 180 บาท

บางคนขี้เกียจต่อครับ 199 ก็ 199 เลย รู้สึกว่าส่วนลด 20 บาทมันไม่คุ้มที่จะเสียเวลายืนต่อราคากับแม่ค้า (ผมก็เป็นคนประเภทนี้)

แล้วการที่ Google ซื้อ DoubleClick ล่ะ? DoubleClick ตั้งราคามาสูงๆ แล้วให้ Google ต่อราคาหรือเปล่า?

คำตอบก็คือตรงกันข้ามครับ เนื่องจาก DoubleClick เป็นสาวสวยที่มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มีเสี่ยสองคนมารอสู่ขอ ทั้งสองเสี่ยก็เลยต้องประมูลแข่งกัน ราคาประมูลก็จะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสี่ยคนไหนให้ราคาสูงสุดได้ คนนั้นก็ได้ตัวสาวไป

แล้วทั้งสองเสี่ยเอาราคาประมูลสูงสุดที่คิดว่าตัวเองจ่ายไหวมาจากไหนล่ะ? ทำไมเสี่ย Microsoft ไม่ประมูลแข่งต่อไปอีกให้ราคาสูงกว่า 3.1 พันล้านเหรียญ แล้วให้เสี่ย Google มาเกทับอีกครั้ง?

คำตอบก็คือไพ่ในมือของทั้งสองเสี่ยไม่เท่ากันครับ ไพ่ของเสี่ย Microsoft เป็น Straight Flush ขณะที่ไพ่ของเสี่ย Google คือ Royal Straight Flush ราคา 3.1 พันล้านเหรียญมันเกินไพ่ Straight Flush ของเสี่ย Microsoft ไปแล้ว

ทีนี้เราลองมาดูกันดีกว่าครับว่าทำไมเสี่ย Google ถึงให้ราคา 3.1 พันล้านเหรียญได้ ราคานี้มีที่มาอย่างไร?

สูตรการคำนวณราคาซื้อกิจการมีอยู่ว่า...

ราคาซื้อ = กำไรที่ผู้ถูกซื้อสามารถสร้างได้ในอนาคตโดยคิดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Net Present Value) + มูลค่าเพิ่มที่ได้จากการรวมกิจการกัน (Synergy Value) + มูลค่าเพิ่มที่ได้จากการที่คู่แข่งไม่สามารถซื้อกิจการนี้ไปได้ (ผมไม่รู้ว่าภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร แต่ผมขอเรียกว่า Competition Value ละกันนะครับ)


Net Present Value

ศัพท์คำนี้เด็กการเงินคงรู้จักดี แต่ผู้อ่านบล็อกนี้ส่วนใหญ่คงไม่ใช่เด็กการเงิน ผมก็จะอธิบายในแบบที่ไม่ใช่ Net Present Value นะครับ จะไม่พูดถึง Time Value of Money หรือ Weighted Average Cost of Capital แต่จะอธิบายเรื่องของจุดคุ้มทุนแทนเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย

เนื่องจากบริษัทธุรกิจคือเครื่องจักรปั๊มเงิน (หรือทำลายเงินก็ได้) มันสามารถปั๊มเงินออกมาได้ทุกปี การเข้าซื้อกิจการก็คือการซื้อเครื่องปั๊มเงิน คือการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ต้องการผลตอบแทนที่ดี

ให้คุณลองนึกว่าถ้าคุณมีเงินก้อน แล้วเอาเงินไปฝากประจำ หรือเอาไปซื้อพันธบัตร ซื้อกองทุน ซื้อหุ้น หรืออะไรก็ตาม คุณต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นๆ ซึ่งผลตอบแทนมักจะถูกพูดถึงในรูปแบบของอัตราดอกเบี้ย แต่มันก็สามารถพูดได้อีกแบบว่าคุณต้องการให้เงินก้อนนี้เพิ่มเป็นสองเท่าภายในกี่ปี หรือแปลอีกอย่างก็คือคุณต้องการถอนทุนคืนกลับมาภายในกี่ปี

สมมุติว่าคุณมีเงินหนึ่งล้านบาท เอาไปลงทุนอะไรสักอย่างที่ให้ผลตอบแทนปีละ 7% ผลตอบแทนที่ได้ คุณทบต้นเข้าไปอีก จะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี เพื่อให้เงินหนึ่งล้านกลายเป็นสองล้านบาท

ผมไม่รู้ว่าตัวเลขกำไรของ DoubleClick อยู่ที่ปีละเท่าไหร่ แต่สมมุติว่าถ้า DoubleClick ทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอปีละ 310 ล้านเหรียญ ขณะที่ Google จ่ายเงินซื้อไป 3.1 พันล้านเหรียญ แปลว่าต้องใช้เวลา 10 ปี Google ถึงจะได้ทุนคืน (ไม่สนใจเรื่อง Time Value of Money นะครับ)

ถ้า 10 ปีคืนทุน Google เอาเงินไปฝากธนาคารที่ให้ดอกเบี้ย 7% ดีกว่าครับ

แปลว่ากำไรของ DoubleClick น่าจะสูงกว่าปีละ 310 ล้านเหรียญ หรือ Google ได้อะไรจากการซื้อ DoubleClick ที่มากกว่ากำไรที่ตัวมันเองทำได้อยู่แล้ว

โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมเชื่อว่ากำไรของ DoubleClick ไม่น่าจะสูงกว่านี้มากนัก แต่ Google ได้อย่างอื่นพ่วงมาด้วย ซึ่งอยู่ในหัวข้อถัดไป

*** แก้ไขเพิ่มเติม ***

ผมได้ข้อมูลตัวเลขของ DoubleClick มาแล้วครับ DoubleClick มีรายได้ประมาณปีละ 300 ล้านเหรียญ รายได้นะครับ ไม่ใช่กำไร แปลว่ากำไรต้องน้อยกว่านี้ และจุดคุ้มทุนของ Google ต้องนานกว่า 10 ปีแน่นอน


Synergy Value

การที่บริษัทหนึ่งเข้าไปซื้อกิจการของอีกบริษัท สิ่งที่ผู้ซื้อจะได้รับมากกว่ากำไรตามปกติก็คือมูลค่าเพิ่มจากการร่วมรัก เอ้ย ร่วมกิจการกัน เมื่อสองบริษัทได้แนบชิดรวมตัวเข้าด้วยกันเป็นทองแผ่นเดียวกันแล้ว จะเกิดสิ่งที่เรียกสวยหรูว่า Synergy ขึ้น ซึ่งก็คือการได้ลดต้นทุนบางอย่างลงไป หรือได้ผลประโยชน์บางอย่างเพิ่มขึ้นมา ประมาณว่าอยู่เป็นโสดแล้วเปลืองค่าใช้จ่าย พอแต่งงานแล้วจะได้มีคนมาช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย แถมได้อย่างอื่นแถมมาด้วย บางคนอาจบอกว่า Synergy คือ 1 + 1 = 3 หรือบางคนก็ 1 + 1 = 11 ไปเลย (พวกนักนิยมเลขฐานสองเค้าว่าแบบนี้น่ะครับ)

Synergy Value ที่ว่านี้มีอะไรบ้าง?

ลดพนักงานลง - แน่ซะยิ่งกว่าแช่แป้ง (ทำไมต้องแช่แป้ง?) พนักงานของบริษัทที่ถูกซื้อกิจการไปย่อมรู้ตัวดีครับว่าต้องมีคนถูกปลดออก โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ในแผนกสนับสนุนที่ไม่ใช่หัวใจสำคัญของบริษัท อย่างเช่น บัญชี ทรัพยากรบุคคล ฝ่ายกฎหมาย ฯลฯ ก็ในเมื่อบริษัทผู้ซื้อมีแผนกเหล่านี้อยู่แล้ว บริษัทผู้ถูกซื้อจะมีไปอีกทำไมล่ะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่ง CEO และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ถูกซื้อ มีโอกาสตกงานสูงครับ

การประหยัดต่อขนาด - ภาษาอังกฤษเรียกว่า Economies of Scale คือซื้อของจำนวนน้อยจะต้องจ่ายแพง แต่ถ้าซื้อของจำนวนมาก ราคาต่อชิ้นจะถูกลง Google กับ DoubleClick อาจจะรวมฝ่ายจัดซื้อเข้าด้วยกัน เวลาที่จะสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ ก็สามารถซื้อในล็อตใหญ่มากขึ้น และได้ส่วนลดจากผู้ขายมากขึ้นด้วย อย่างวันนี้ผมซื้อไอศกรีมของ Nestle แบบที่เป็นโคน คล้ายๆ กับ Cornetto ของ Wall's น่ะครับ ผมซื้ออันเดียว ราคา 23 บาท แต่แคชเชียร์บอกว่าถ้าซื้อสองอัน จะได้รับส่วนลด 14 บาท แปลว่าราคาต่อหน่วยเหลือเพียง 16 บาทเท่านั้น พอดีมีเพื่อนอยู่ด้วยอีกคน ก็เลยซื้อสองอันมาแบ่งกันกินคนละอันเลย (แล้วเธอก็บ่นว่ากินแล้วอ้วน)

การได้ครอบครองเทคโนโลยี - บางทีบริษัทใหญ่ๆ อาจจะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สู้กับบริษัทขนาดเล็กไม่ได้ ก็เลยใช้วิธีเข้าซื้อกิจการซะเลย จะได้เอาเทคโนโลยีมาเป็นของตัวเองด้วย แต่กรณีนี้คงไม่เกิดกับ Google เพราะเขาเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่แล้ว

การขยายตลาด - อันนี้เกี่ยวกับ Google แน่นอนครับ บางบริษัทมีเทคโนโลยีที่ดีอยู่แล้ว แต่ตลาดยังไม่กว้าง ก็ใช้วิธีเข้าซื้อกิจการของบริษัทที่มีลูกค้าอยู่ในมือเยอะๆ อย่างการที่ Google ซื้อ YouTube ทั้งที่ตัวเองก็มีเทคโนโลยี Video Sharing ที่ดีกว่า YouTube เสียอีก ก็เพื่อจะได้ฐานผู้ใช้ของ YouTube มาเป็นของตัวเอง ส่วนการซื้อ DoubleClick นั้น เชื่อว่าเป็นเพราะ DoubleClick มีฐานลูกค้ารายใหญ่ถึง 1,500 ราย Google คงอยากจะเอาเครือข่ายโฆษณาออนไลน์ที่ตัวเองมีอยู่ไปขายให้กับลูกค้าเหล่านี้


Competition Value

นอกจากมูลค่าเพิ่มที่ได้รับจากการ Synergy แล้ว Google ยังได้มูลค่าเพิ่มจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการแข่งขันด้วย อย่างแรกที่ได้ก็คือคู่แข่งลดลง คู่แข่งที่ว่านี้ก็คือ DoubleClick นั่นเอง เมื่อถูกซื้อมาแล้วก็ไม่ต้องแข่งกันอีก แต่จับมือกันรวยดีกว่า

แต่ยังมีมูลค่าเพิ่มอีกแบบก็คือการที่คู่แข่งของ Google ไม่ได้กิจการของ DoubleClick ไป ให้ลองนึกดูว่าถ้าคู่แข่งอย่าง Microsoft หรือ Yahoo! ได้ DoubleClick ไป จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของ Google ลดลงแค่ไหน แต่พอ Google ได้ DoubleClick มา ทำให้ส่วนแบ่งของ Microsoft และ Yahoo! ลดลงแค่ไหน และส่วนแบ่งของ Google สูงขึ้นแค่ไหน ผลต่างระหว่างความเสียหายของคู่แข่งและความได้เปรียบของ Google ก็คือมูลค่าเพิ่มที่ Google ได้มาครับ


มูลค่าในส่วนที่เป็น Net Present Value ทั้ง Google และ Microsoft คงคำนวณออกมาได้ไม่ต่างกันมากนัก แต่ที่ต่างกันก็คือ Synergy Value และ Competition Value โดยที่ Google ให้ราคาของมูลค่าเพิ่มสองแบบนี้สูงกว่าที่ Microsoft ให้ อาจจะด้วยความสามารถของ Google ที่จะทำให้มูลค่าเพิ่มทั้งสองแบบเกิดขึ้นได้เหนือกว่าที่ Microsoft จะทำได้ และนี่คือไพ่ที่เหนือกว่าของ Google ครับ

ต่อจากนี้ไป สิ่งที่ Google ต้องพยายามทำก็คือการ maximize ทั้ง Synergy Value และ Competition Value ให้เป็นไปตามราคาที่ได้คำนวณเอาไว้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บางครั้งการ Synergy อาจจะไม่ประสบความสำเร็จและทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีก หรือการคุกคามจากคู่แข่งก็อาจจะไม่ได้ลดลงอย่างที่ต้องการก็ได้

เราก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าเสี่ย Google กับหนู DoubleClick จะเข้าขากันได้ดีแค่ไหน จะเป็นคู่ที่ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรไปจนแก่เฒ่า หรือจะกลายเป็นคู่นกกระจอกไม่ทันกินน้ำกันแน่ (เสี่ยอย่าล่มปากอ่าวละกัน)

ปิดโต๊ะราชดำเนินซะ เพื่อความอยู่รอดของ Pantip.com

จั่วหัวได้การเมืองมาก แต่บล็อกนี้เป็นบล็อกธุรกิจ แง่มุมที่ผมจะเขียนถึงก็เป็นเรื่องธุรกิจครับ ไม่ใช่เรื่องการกำจัดเชื้อชั่วอะไรแต่อย่างใด

ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันก่อนว่าสิ่งที่พันทิปอยากให้ราชดำเนินเป็นคืออะไร ถ้าใครเคยเล่นพันทิปสมัยแรกเริ่มเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว โต๊ะราชดำเนินในยุคนั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์มาก เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์ (Analysis) และการสังเคราะห์ (Synthesis) แง่มุมทางการเมือง มีความคิดเห็นที่แตกต่างแต่ไม่แตกแยก การเห็นต่างจะเริ่มต้นด้วยประโยค "ขออนุญาตเห็นแย้ง"

ขณะที่ราชดำเนินยุคนี้กลับกลายเป็นเวทีสำหรับชิงไหวชิงพริบทางการเมือง มีการใช้ถ้อยคำดูหมิ่นหยาบคายต่อกัน ประหนึ่งไม่ใช่คนชาติเดียวกันเลย บทวิเคราะห์และสังเคราะห์ทางการเมืองแทบไม่มีให้เห็น นานๆ ทีถึงจะได้เห็น

สิ่งที่เป็นในปัจจุบันได้ผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่อยากให้เป็นเมื่อครั้งอดีต

ความผิดเพี้ยนนี้ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ควรจะปิดราชดำเนิน แต่ความผิดเพี้ยนนี้มันทำให้พันทิปมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นครับ (เข้าเรื่องธุรกิจล่ะนะ)

ทุกวันนี้ราชดำเนินเป็นโต๊ะที่สร้างค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงมาก ค่าใช้จ่ายที่ว่านี้มาในรูปแบบของพนักงานที่ต้องนั่งดูแลกระทู้ ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการประกาศเตือนสมาชิกที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร แต่ก่อนหน้านั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีใครดูแลกระทู้ในราชดำเนิน ทีมงานพันทิปต้องจับตาดูกระทู้ในราชดำเนินมาหลายปีแล้วครับ

ถ้าเอาเงินเดือนพนักงานดูแลกระทู้มาคิดเป็นค่าใช้จ่าย ผมเชื่อว่าเดือนนึงคงหลายหมื่นบาทอยู่ นี่ยังไม่นับค่าเสียโอกาสที่พนักงานที่มีอยู่น้อยนิดจะไปคิดไปทำอย่างอื่นที่ช่วยให้เว็บมีความเติบโตก้าวหน้ามากขึ้น

ดูด้านค่าใช้จ่ายไปแล้ว ลองดูด้านรายรับบ้าง ถ้าเรามองว่าทุกโต๊ะในพันทิปคือสินค้าตัวหนึ่ง โต๊ะราชดำเนินคงเป็นโต๊ะที่มีศักยภาพทางการตลาดที่ต่ำมาก ผมนึกไม่ออกนะว่าสินค้าประเภทไหนเหมาะที่จะโฆษณาในราชดำเนิน นอกจากลูกอมฮอลล์รสตะไคร้ เวลาอ่านกระทู้ในราชดำเนินให้อมฮอลล์ไปด้วย จะได้ใจเย็นๆ (ไม่โกรธเหรอ...ไม่... ไม่อิจฉาเหรอ...ไม่...) นอกจากนี้ก็นึกไม่ออกแล้ว

ถ้าลองเปิดดูราชดำเนินในตอนนี้ จะพบว่ามีแบนเนอร์โฆษณาของลูกค้าเพียงชิ้นเดียว ก็คือแบนเนอร์โปรโมทการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในอดีตที่ผ่านมาก็อาจจะมีโฆษณาอย่างอื่นบ้าง เช่น โฆษณาโปรโมทรายการโทรทัศน์ของคุณสมัคร

ถ้าลองเทียบกับโต๊ะเฉลิมไทยดู เป็นโต๊ะที่มีโฆษณาเยอะมาก โฆษณาเต็มทั้งปี ขณะที่โต๊ะราชดำเนินไม่มีโฆษณา ไม่สร้างรายรับ แถมยังเป็นตัวสร้างรายจ่ายหลักของพันทิปอีก เป็นไปตามกฎ 20/80 คือใช้จ่ายไป 80 เพื่อสร้างรายได้เพียง 20 (หรืออาจจะต่ำกว่านี้)

บางคนมองว่าคนส่วนใหญ่ของโต๊ะราชดำเนินคือกลุ่มคนรักทักษิณ แต่คนส่วนใหญ่ของโต๊ะเฉลิมไทยคือกลุ่มคนไล่ทักษิณ ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมา เงินที่เอามาดูแลพื้นที่ให้คนรักทักษิณใช้ ก็คือเงินที่คนไล่ทักษิณหามา

ผมเลยคิดว่าจริงๆ แล้วโต๊ะราชดำเนินอาจจะไม่เหมาะที่จะดำเนินงานอยู่ภายใต้รูปแบบขององค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไร ภายใต้ชื่อ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาเว็บพันทิปก็ได้

ลองคิดดูสิ ถ้าเปิดราชดำเนินต่อไป ICT จะปิดทั้งเว็บพันทิปเลย (อันนี้ quote มาจากข้อความที่พันทิปติดประกาศในราชดำเนินในช่วงที่ถูกปิด) ปิดทั้งเว็บนี่หมายถึง core business ได้รับผลกระทบไปหมด ลูกค้าที่จ่ายเงินซื้อพื้นที่โฆษณาก็จะไม่ได้รับการบริการตามที่ข้อสัญญาระบุไว้ คนเล่นพันทิปที่ไม่สนใจเรื่องการเมืองก็ไม่มีเว็บให้เล่นอีก ฯลฯ

ถ้าจะให้ธุรกิจของพันทิปอยู่รอดต่อไป ก็ควรจะเอาเรื่องการเมืองออกไปจากเว็บซะ

ผมเชื่อว่าเรื่องการเมืองควรจะดำเนินงานภายใต้องค์กรไม่แสวงหากำไร อาจจะตั้งเป็นมูลนิธิก็ได้ เช่น Democratic Online Community Foundation (DOCF) หรือ มูลนิธิชุมชนออนไลน์เพื่อประชาธิปไตย เป็นมูลนิธิที่ดำเนินกิจกรรมให้บริการเว็บบอร์ดรวมถึงบริการอื่นๆ อย่างเป็นกลาง รายได้ของมูลนิธิมาจากเงินบริจาคของประชาชน ที่สำคัญคือผู้บริจาคจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินงานของมูลนิธิ ไม่สามารถเข้าไปบิดเบือนการแสดงความคิดเห็นในเว็บได้

การหารายได้จากเงินบริจาคน่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด จะได้ไม่มีปัญหาเหมือนในช่วงที่ผ่านมาที่รายการของคุณสมัครมาซื้อโฆษณาในราชดำเนิน ทำให้ภาพของราชดำเนินกลายเป็นโปรไทยรักไทยทันที ทั้งที่คนขายโฆษณาให้พันทิปก็คือเนชั่นมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าต่อต้านทักษิณ แต่ฝ่ายขายโฆษณาทำงานอย่างเป็นกลางทางการเมือง เพราะ KPI ของฝ่ายขายคือยอดขายที่เพิ่มขึ้น ก็เลยมีแบนเนอร์ที่เป็นขั้วการเมืองหลุดเข้ามาในราชดำเนิน ทำให้ภาพลักษณ์ของเว็บดูไม่เป็นกลางในที่สุด

การจัดตั้งมูลนิธิไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก (ไม่รู้ว่ามีเงื่อนไขทางกฎหมายหรือเปล่า คงต้องถามผู้รู้) แต่ที่ยากก็คือการหาผู้บริหารมูลนิธิที่เหมาะสม เหมาะสมในที่นี้ก็คือการวางตัวอย่างเป็นกลาง เปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ผู้บริหารมูลนิธิจะต้องยอมสูญเสียเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นว่าเขารักหรือเกลียดขั้วการเมืองใด เพื่อให้ภาพของมูลนิธิดูเป็นกลางมากที่สุด

นอกจากนี้ ผู้บริหารมูลนิธิยังต้องเป็นคนที่ยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของมวลชน ขณะที่ต้องสร้างสมดุลของความเหมาะสมและความสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นด้วย ไม่ใช่ว่าปล่อยให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่ 90% ของข้อความไม่มีความสร้างสรรค์เลย มีแต่การใช้ข้อความหยาบคาย ดูหมิ่นเสียดสีกัน ซึ่งทำให้เงินบริจาคของประชาชนถูกใช้ไปอย่างไม่เกิดประโยชน์

โต๊ะราชดำเนินจะต้องถูกแยกออกมาเป็นเว็บไซต์ต่างหาก คล้ายๆ กับโต๊ะโทรโข่งที่แยกออกมาเป็น torakhong.org การแยกเว็บไซต์นี้จะช่วยให้เว็บพันทิปไม่ได้รับความเดือดร้อนในกรณีที่ถูกบล็อก แต่ที่เหนือกว่านั้นก็คือระบบของราชดำเนินจะต้องเป็นคนละระบบกับที่พันทิปใช้อยู่

ระบบของพันทิปในปัจจุบันคือการให้สมาชิกเว็บต้องยืนยันตัวตนด้วยหมายเลขบัตรประชาชน บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร เนื่องจากพันทิปสื่อสารออกมาได้ไม่ดีนัก ปลายทางสุดท้ายของระบบนี้ก็เพื่อให้สังคมดูแลกันเองได้ สมาชิกแต่ละคน ไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่ง ทุกคนมีสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากันหมด ทุกคนสามารถใช้ "หนึ่งสิทธิ์" ของตัวเองในการเลือกผู้แทนชุมชนขึ้นมาบริหารงานเว็บได้ พันทิปจะกลายเป็นเว็บที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมาทันที แต่การจะทำให้ "หนึ่งสิทธิ์" เกิดขึ้นได้ ก็ต้องการการยืนยันตัวตน หมายเลขบัตรประชาชนจึงถูกนำมาใช้

แนวคิดดีมากครับ แต่ยังมีปัญหาด้าน implementation ที่เห็นชัดๆ ก็มีอยู่สองจุด

จุดแรกคือการใช้หมายเลขบัตรประชาชนยังมีรูรั่วอยู่ เพราะยังไม่มีวิธีการยืนยันตัวตนว่าคนที่เอาหมายเลขบัตรประชาชนมาสมัครสมาชิก คนนั้นเป็นเจ้าของบัตรตัวจริงหรือเปล่า หรือเป็นวอร์รูมพรรคการเมืองที่เอาเลขบัตรประชาชนของตาสีตาสามาใช้ รูรั่วนี้ส่งผลกระทบออกมาแล้วสองเฟส เฟสแรกคือช่วงที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อถือในระบบนี้อยู่ว่าคนเป็นสมาชิกแบบยืนยันตัวตน เป็นคนที่เชื่อถือได้ แต่มันก็ทำให้คนหนึ่งคนที่มีบัตรประชาชนหลายใบได้ใช้ประโยชน์จากรูรั่วนี้ในการสร้างกระแสสังคม เฟสที่สองคือช่วงที่คนเริ่มไม่เชื่อมั่นกับระบบนี้แล้ว มันก็เลยกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่า "หนึ่งสิทธิ์" ยังไม่เกิดขึ้นจริง

ปัญหาด้าน implemetation จุดที่สองก็คือการถูกยกเลิกความเป็นสมาชิก ทำให้สมาชิกที่เป็นพวก "หนึ่งสิทธิ์" จริงๆ ต้องสูญเสียโอกาสในการแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ทันที เสมือนกับว่าคุณเป็นคนไทย มีบัตรประชาชน แต่วันหนึ่งคุณถูกยกเลิกความเป็นคนไทย และต้องถูกอัปเปหิออกไปจากประเทศไทยทันที ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างมากกับกลุ่มคนที่ไล่ทักษิณ จากการที่ได้คุยกับทีมงานพันทิปที่ดูแลเรื่องสมาชิกโดยตรง ทำให้ทราบว่าพันทิปไม่ได้รับเงินมาจากพรรคการเมืองเพื่อเลือกปฏิบัตินะครับ แต่มาตรฐานของพันทิปคือความคิดเห็นต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมตามกรอบกติกา แต่ปัญหามันอยู่ที่กลุ่มคนไล่ทักษิณถูกบิ๊วอารมณ์มาในช่วงเย็นวันศุกร์ก่อนการรัฐประหาร พอกลับจากชุมนุมก็มาสาดเสียเทเสียกันในเว็บ ซึ่งทีมงานที่ดูแลกระทู้ก็ตามลบกันไม่ไหว สุดท้ายก็เลยต้องยกเลิกสมาชิกเพื่อระงับเหตุ ขณะที่ฝ่ายคนรักทักษิณในตอนนั้นยังเป็นฝ่ายตั้งรับ ก็ยังไม่ได้ใช้ข้อความอะไรที่รุนแรงมาก แต่พอหลังรัฐประหาร กลุ่มคนรักทักษิณเริ่มมีอารมณ์มากขึ้น ซึ่งเราก็ได้เห็นรายชื่อสมาชิกที่ถูกตักเตือนประจานบนเว็บ บางคนถามว่าทำไมกลุ่มคนไล่ทักษิณถึงถูกยกเลิกสมาชิกโดยไม่ได้รับการตักเตือน ขณะที่กลุ่มคนรักทักษิณถูกตักเตือนโดยไม่ยกเลิกสมาชิก แบบนี้ double standard หรือเปล่า คำตอบก็คือเพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไป กลยุทธ์การรับมือสมาชิกก็เปลี่ยนไป ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็ต้องเทียบภายใต้ตัวแปรเดียวกัน คือในช่วงเวลาเดียวกัน ความผิดแบบเดียวกัน ในช่วงก่อนรัฐประหาร ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม ถ้าใช้ข้อความที่รุนแรงเกินควรก็จะถูกยกเลิกสมาชิกเหมือนกัน เพียงแต่ฝ่ายไล่ทักษิณจะโดนมากกว่าเพราะถูกบิ๊วอารมณ์มาหนักกว่า

ด้วยปัญหาทั้งสองอย่างนี้ ผมเลยมองว่าราชดำเนินไม่ควรจะใช้ระบบเดียวกับพันทิป แต่ควรจะแยกเว็บไซต์ออกมาและใช้ระบบที่ถูก customize ให้เหมาะสมสำหรับวัฒนธรรมของเว็บ คล้ายกับที่ torakhong.org ก็มีระบบที่แตกต่างไปจากของพันทิป

ส่วนเรื่องระบบที่ดีควรจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้บริหารมูลนิธิจะต้องหาคำตอบให้ได้

ผมเชื่อว่าถ้าเราจัดตั้งเป็นมูลนิธิ และแยกโต๊ะราชดำเนินออกไปเป็นเว็บต่างหาก ทุกฝ่ายจะ win-win ทางพันทิปซึ่งเป็นองค์กรแสวงหากำไร จะได้นำทรัพยากรของบริษัทที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์กว่านี้ ส่วนฝ่ายคนเล่นเว็บเองก็ยังมีช่องทางให้แสดงความคิดเห็นได้ ไม่ใช่ว่าราชดำเนินถูกปิดแล้วต้องไปสิงสถิตอยู่ในโต๊ะอื่นให้ขาประจำโต๊ะนั้นเบื่อหน่ายและออกมาขับไล่ไสส่ง

MIS - IT Outsourcing

Outsourcing คือการถ่ายงานที่ไม่ใช่หัวใจสำคัญขององค์กรไปให้บริษัทอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในงานนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากบริษัทอื่นมีต้นทุนในการทำงานนั้นที่ต่ำกว่า สามารถทำงานได้โดยมีคุณภาพที่ดีกว่า และเพื่อให้องค์กรได้มุ่งเน้นเฉพาะ competencies ของตนเอง

ปัจจุบันนี้มีการ outsource ในหลายส่วนงานขององค์กร เช่น บัญชี กฎหมาย การวิจัย งานด้าน call center รวมถึงงานด้าน IT ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทที่ทำธุรกิจ IT outsourcing ในหลากหลายสาขา เช่น software development, system maintenance, network management, security audit, IT operations, data analysis เป็นต้น

ข้อดี

  • ช่วยลดต้นทุนขององค์กร งานด้าน IT หลายอย่างมีต้นทุน overhead cost เช่น ค่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ค่าซอฟท์แวร์ ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าที่องค์กรจะลงทุน แต่บริษัทที่ทำธุรกิจ outsourcing ได้ลงทุนในสิ่งเหล่านี้ไปแล้วเพื่อรองรับลูกค้าจำนวนหลายราย นอกจากนี้บริษัท outsourcing หลายแห่งดำเนินการอยู่ในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ เช่น อินเดีย ทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า
  • คุณภาพงานที่ดีกว่า บริษัท outsourcing มักจะมี know-how ที่เกิดจากประสบการณ์ในการให้บริการกับลูกค้าหลายราย และมีบุคคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางในด้าน IT ทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีมาตรฐานและมีคุณภาพสูงกว่าการที่องค์กรจะทำเอง
  • ช่วยให้องค์กรมุ่งเน้นเฉพาะงานที่เป็นหัวใจสำคัญ การ outsource งานที่ไม่ใช่หัวใจสำคัญขององค์กรไปให้บริษัทอื่น นอกจากจะช่วยลดต้นทุนขององค์กรแล้ว ยังช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถลดภาระงานที่ไม่ใช่หัวใจสำคัญ เพื่อมุ่งเน้นและพัฒนา function ที่เป็นหัวใจหลักขององค์กรให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
  • ความได้เปรียบที่เกิดจาก time zone ที่แตกต่างกัน เช่น การส่งข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาด NYSE หลังจากปิดตลาดแล้วไปยังบริษัท outsourcing ในประเทศอีกซีกโลก เช่น อินเดีย เพื่อทำการประมวลผลข้อมูลและจัดทำบทวิเคราะห์ข้อมูล ส่งกลับมาให้ผู้บริหารใน New York ในเช้าวันรุ่งขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้ทันที

ข้อด้อย

  • การเปิดเผยความลับขององค์กร การ outsource งานบางประเภททำให้องค์กรจะต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญบางอย่างให้แก่บริษัท outsourcing เช่น ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลโครงการในอนาคตของบริษัท หรือข้อมูลทางการเงิน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะหลุดไปถึงบริษัทคู่แข่งได้
  • ผลงานของบริษัท outsourcing ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ องค์กรจะต้องมีการติดต่อประสานงาน (interface) กับบริษัท outsourcing อย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้งานเป็นไปตามที่ต้องการ แต่อาจมีความเสี่ยงที่ผลงานของบริษัท outsourcing จะไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ทำให้ต้องเสียเวลาในการแก้ไข ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่องานโดยรวมขององค์กรได้ และการที่องค์กรจะเปลี่ยนบริษัท outsourcing เป็นบริษัทอื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากมี switching cost ในการโอนถ่ายงานสูง

MIS - Enterprise Resource Planning (ERP)

ERP คืออะไร?

Enterprise Resource Planning (ERP) เป็นระบบจัดการข้อมูลที่ integrate และ automate ข้อมูลและกระบวนการทำงานในหน่วยงานส่วนต่างๆ ขององค์กรธุรกิจ เช่น sales, service, supply chain management, finance, accounting, manufacturing, human resources, data analysis, logistics, distribution, inventory, shipping และ invoicing เป็นต้น

ERP เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันแบบ cross functional ได้ เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดถูก centralize อยู่ในที่เดียวกัน และถูก standardize ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถเรียกใช้ข้อมูล แก้ไขข้อมูล และทำให้ข้อมูลไหลผ่านจากหน่วยงานหนึ่งไปอีกหน่วยงานหนึ่งได้ เมื่อมีปัญหาในการปฏิบัติงานเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด หน่วยงานอื่นๆ ก็สามารถรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับหน่วยงานของตนและสามารถวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันนี้บริษัทต่างๆ สามารถ implement ระบบ ERP ได้ 2 วิธี วิธีแรกคือการใช้ซอฟท์แวร์ของผู้ผลิตซอฟท์แวร์เพียงรายเดียว ซึ่งมีข้อดีคือส่วนต่างๆ ของซอฟท์แวร์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น แต่มีข้อด้อยที่ซอฟท์แวร์จะขาดความยืดหยุ่น ส่วนวิธีที่สองคือการใช้ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในแต่ละส่วนงานจากแต่ละบริษัทผู้ผลิตซอฟท์แวร์ โดยมีการ integrate ซอฟท์แวร์ในแต่ละส่วนให้สามารถทำงานร่วมกันและสื่อสารข้อมูลถึงกันได้ วิธีนี้มีข้อดีคือองค์กรสามารถเลือกใช้ซอฟท์แวร์ที่เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานได้ มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งซอฟท์แวร์ แต่มีข้อด้อยคือการ integrate ซอฟท์แวร์จากบริษัทต่างๆ ให้เป็นระบบเดียวกันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน

ข้อดีและข้อด้อยของการใช้ ERP

ERP ช่วยให้ทุกหน่วยงานในองค์กรติดต่อสื่อสารกันด้วยข้อมูลที่มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ทราบได้ว่าสถานะการสั่งซื้อของลูกค้าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ช่วยให้ทราบได้ว่าสินค้ากำลังขาดสต็อกและต้องผลิตเพิ่มทันทีหรือไม่ ช่วยผนวก purchase orders, inventory receipts และ costing เข้าด้วยกัน และมีระบบบัญชีที่คอยควบคุมต้นทุนและกำไรในทุกขั้นตอน

ปัญหาของการใช้ ERP มักเกิดจากการให้ความรู้กับพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอหรือไม่ต่อเนื่อง พนักงานไม่มีประสบการณ์ในการใช้งาน ERP บริษัทลดต้นทุนด้านการฝึกอบรม การออกจากงานของพนักงานที่มีความรู้ทำให้บริษัทมีต้นทุนในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ นอกจากนี้ ERP ยังมีราคาแพง บริษัทจึงต้องมีนโยบายให้พนักงานทราบว่าจะใช้ข้อมูล ERP อย่างไรจึงจะถูกต้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด

MIS - Customer Relationship Management (CRM)

CRM คืออะไร?

Customer Relationship Management (CRM) เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า เรียนรู้ความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคนมากที่สุด กระบวนการทำงานของระบบ CRM มี 4 ขั้นตอนดังนี้

  1. Identify เก็บข้อมูลว่าลูกค้าของบริษัทเป็นใคร เช่น ชื่อลูกค้า ข้อมูลสำหรับติดต่อกับลูกค้า
  2. Differentiate วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคน และจัดแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มตามคุณค่าที่ลูกค้ามีต่อบริษัท
  3. Interact มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อเรียนรู้ความต้องการของลูกค้า และเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในระยะยาว
  4. Customize นำเสนอสินค้าหรือบริการที่มีความเหมาะสมเฉพาะตัวกับลูกค้าแต่ละคน

มีการนำระบบไอทีมาใช้กับ CRM เพื่อช่วยในการจัดการฐานข้อมูลลูกค้า วิเคราะห์ข้อมูล และเป็นช่องทางในการติดต่อกับลูกค้า โดยสถาปัตยกรรมของซอฟท์แวร์ด้าน CRM มักแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

  1. Operational CRM เป็นซอฟท์แวร์ front office ที่ใช้ช่วยจัดการกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น sales, marketing หรือ service เช่น การจัดการข้อมูลติดต่อลูกค้า การเสนอราคา การบริหารฝ่ายขาย การเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า ระบบบริการลูกค้า เป็นต้น
  2. Analytical CRM ระบบวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าที่รวบรวมได้จากส่วน Operational CRM หรือจากแหล่งอื่นๆ เพื่อแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มและค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่บริษัทสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการเพิ่มเติมได้
  3. Collaborative CRM ระบบช่วยสนับสนุนในการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านทางช่องทางต่างๆ เช่น ติดต่อส่วนตัว จดหมาย แฟกซ์ โทรศัพท์ เว็บไซต์ อีเมล เป็นต้น รวมถึงช่วยจัดการทรัพยากรที่บริษัทมีคือพนักงาน กระบวนการทำงาน และฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อนำไปให้บริการแก่ลูกค้าและช่วยรักษาฐานลูกค้าของบริษัทได้ดีขึ้น

ประโยชน์ของ CRM ต่อธุรกิจของคุณ

CRM ช่วยเพิ่มความสามารถในการให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น เช่น ใช้เว็บไซต์ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า วิธีการใช้สินค้า และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นช่องทางให้ลูกค้าแนะนำติชมต่อบริการของบริษัทได้ง่าย ช่วยให้ลูกค้าสามารถ customize ความต้องการของตนเองได้ทันที เป็นต้น

CRM ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้าให้ดีขึ้น ช่วยให้บริษัทรู้ความสนใจ ความต้องการ และพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า ทำให้บริษัทสามารถนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับลูกค้าได้ และช่วยให้บริษัทสามารถให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าตามที่ลูกค้าต้องการได้ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาวจะช่วยเพิ่ม loyalty ที่ลูกค้ามีต่อบริษัท ลดการสูญเสียลูกค้า ลดต้นทุนการตลาด เพิ่มรายได้จากการที่ลูกค้าซื้อซ้ำหรือแนะนำให้คนรู้จักซื้อสินค้าของบริษัท และนั่นหมายถึงกำไรของบริษัทที่เพิ่มมากขึ้น

MIS - P2P Technology

P2P คืออะไร? ทำงานอย่างไร?

Peer-to-peer (P2P) เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบ client-client โดยที่ client แต่ละเครื่องมีข้อมูลเก็บอยู่ และสามารถจำลองตนเองเป็น server เพื่อเปิดให้ client เครื่องอื่นๆ สามารถเข้ามาโหลดข้อมูลจากเครื่องของตนเองได้โดยอาศัยพลังงานและ bandwidth ที่เครื่องตนเองมี ซึ่งจะแตกต่างกับการสื่อสารแบบ client-server ที่มี server เก็บข้อมูลไว้เพียงเครื่องเดียว และเปิดให้ client เครื่องอื่นเข้ามาโหลดข้อมูล

Client-Server
Client-Server
(centralized information)
Client-Client
Client-Client
(distributed information)

จุดเด่นที่ P2P เหนือกว่า client-server คือการกระจายตัวของข้อมูลที่กระจายอยู่ในเครื่อง client ต่างๆ โดยไม่กระจุกตัวอยู่ที่ server เพียงเครื่องเดียว ทำให้ข้อมูลสามารถแพร่กระจายตัวออกไปได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดที่จะต้องผูกติดอยู่กับ server เครื่องใดเครื่องหนึ่ง ซึ่งมักจะมีปัญหาความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลที่ลดลงเมื่อจำนวน client เพิ่มสูงขึ้น และอาจมีปัญหาไม่สามารถกระจายข้อมูลได้ถ้า server เครื่องนั้นมีปัญหาด้านการเปิดให้บริการ เช่น ถูกผู้บุกรุกโจมตี หรือถูกสั่งระงับการให้บริการ เป็นต้น

เราสามารถแบ่งประเภทของ P2P ออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

  1. Pure P2P เครื่อง client แต่ละเครื่องทำหน้าที่เป็นทั้ง client และ server โดยไม่ต้องมี server กลางที่คอยจัดการหรือค้นหาข้อมูล
  2. Hybrid P2P มีเครื่อง server กลางที่ใช้เก็บข้อมูลของ client ว่า client เครื่องใดมีข้อมูลใดที่เปิดให้โหลดได้บ้าง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาได้ว่าข้อมูลที่ตนเองต้องการโหลดถูกเก็บอยู่ที่ client เครื่องใด
  3. Mixed P2P มีคุณสมบัติทั้งแบบ Pure P2P และ Hybrid P2P

อย่างไรก็ตาม P2P มีข้อด้อยด้าน security ที่เครื่อง client ที่จำลองตนเองเป็น server เพื่อเปิดให้คนอื่นเข้ามาโหลดข้อมูลได้ อาจถูกแฮกหรือถูกโจมตีจากผู้บุกรุก และ P2P ยังอาจเป็นเครือข่ายสำหรับกระจายข้อมูลผิดกฎหมายหรือละเมิดลิขสิทธิ์ และข้อมูลที่มีไวรัสแอบแฝงอยู่ได้อย่างดี

ข้อดีและข้อด้อยของเทคโนโลยี P2P ที่มีต่อธุรกิจ

มีการใช้เทคโนโลยี P2P ใน application หลากหลายรูปแบบ เช่น BitTorrent, KaZaA, Napster, Skype เป็นต้น ซึ่งส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อธุรกิจในปัจจุบันดังนี้

ในด้านบวก เทคโนโลยี P2P ช่วยลดต้นทุนด้านการติดต่อสื่อสารของคนในองค์กรหรือระหว่างองค์กรลง ด้วย application ด้านการติดต่อสื่อสารเช่น Skype ช่วยให้สามารถทำ teleconference ข้ามประเทศได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้โทรศัพท์มาก เนื่องจาก Skype ทำให้เราสามารถพูดคุยกับคู่สนทนาที่อยู่คนละประเทศได้โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยที่ข้อมูลเสียงมีคุณภาพอยู่ในระดับสูง และสามารถรับส่งข้อมูลเสียงได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากข้อมูลเสียงของผู้พูดจะถูกส่งตรงไปให้ผู้รับโดยที่ไม่ต้องผ่าน server กลางแต่อย่างใด

ในด้านลบ เทคโนโลยี P2P ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ขายข้อมูลดิจิตอลอย่างรุนแรง เช่น ธุรกิจเพลง ธุรกิจภาพยนตร์ และธุรกิจซอฟท์แวร์ เนื่องจากข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์เหล่านี้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางบนเครือข่าย P2P ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล และเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับเครือข่าย P2P ได้ เนื่องจากข้อมูลถูกกระจายไปเก็บไว้ใน client เครื่องต่างๆ โดยที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับ client ทั้งหมดได้

MIS - eBay Business Model

eBay

eBay เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1995 ด้วยการใช้โมเดลทางธุรกิจที่แตกต่างจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอื่นๆ กล่าวคือ eBay ทำธุรกิจแบบ C2C โดยเป็นตัวกลางที่เชื่อมผู้ขายกับผู้ซื้อเข้าด้วยกัน ทำให้ eBay ไม่ต้องสต็อกสินค้าและประสบปัญหาต้นทุนสินค้าคงคลังสูงเหมือนที่ Amazon เป็น

eBay ใช้กลยุทธ์ Transaction Advantage ในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ เช่นเดียวกับที่ห้างสรรพสินค้าเป็น แต่ eBay สามารถลดต้นทุนทั้ง process cost และ transaction cost ของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อได้ต่ำกว่าที่ห้างสรรพสินค้าทำได้

ผู้ขายมีต้นทุนค่าวางขายสินค้าผ่าน eBay ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการวางขายที่ห้างสรรพสินค้า ไม่มีต้นทุนค่าขนส่งสินค้าไปที่ห้าง สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องให้เครดิตเหมือนการขายผ่านห้าง และผู้ขายสามารถควบคุมปริมาณและประเภทสินค้าที่ต้องการขายได้ตลอดเวลา

ด้านผู้ซื้อก็มี transaction cost ที่ต่ำกว่าการซื้อที่ห้าง เช่น ผู้ซื้อไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปห้าง ผู้ซื้อสามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วโดยใช้ระบบ search ของ eBay ผู้ซื้อสามารถค้นหาสินค้าที่มีราคาต่ำที่สุดได้โดยสั่ง sort ตามราคาสินค้า และผู้ซื้อสามารถสอบถามรายละเอียดของสินค้าได้จากผู้ขายโดยตรงผ่าน e-mail

การที่ eBay สามารถเก็บค่าขายสินค้าจากผู้ขายในราคาที่ต่ำกว่าห้างสรรพสินค้าได้ เนื่องจาก eBay ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าค่าพื้นที่ของห้างสรรพสินค้ามาก ถ้าห้างสรรพสินค้าต้องการวางสินค้าจำนวนหนึ่งล้านชิ้น อาจจะต้องใช้พื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอล แต่ eBay สามารถวางสินค้าหนึ่งล้านชิ้นได้ในเซิร์ฟเวอร์เพียงเครื่องเดียวที่ใช้พื้นที่ขนาดเล็กๆ ในการวางเครื่อง

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตมีข้อด้อยที่สำคัญคือเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้ขายและผู้ซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมเดลแบบ C2C ที่ eBay ใช้ ซึ่งผู้ขายและผู้ซื้อต่างไม่รู้จักตัวตนของอีกฝ่าย ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะถูกคู่ค้าของตนโกงหรือไม่ แต่จากปรัชญาธุรกิจของ eBay ที่กล่าวว่า "ธุรกิจของเราเริ่มต้นจากความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นคนดี" ทำให้ eBay พัฒนาระบบ Feedback ที่เป็นเสมือนการการันตีว่าเป็นสมาชิกสุจริต และการจูงใจให้สมาชิกใช้ระบบชำระเงิน PayPal เพื่อป้องกันการทุจริต

eBay Feedback Forum

ระบบ Feedback เป็นระบบที่ใช้เก็บประวัติการซื้อขายของสมาชิก เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายได้ทำการซื้อขายกันเสร็จสิ้น โดยผู้ขายได้รับการชำระเงินจากผู้ซื้อ และผู้ซื้อได้รับสินค้าจากผู้ขายแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะให้คะแนน Positive Feedback และเขียนข้อความชมเชยให้แก่กันเพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นสมาชิกที่เชื่อถือได้ ระบบ Feedback จะเก็บคะแนนและข้อความไว้ตลอดกาลเพื่อเป็นประวัติของสมาชิกแต่ละคน และสมาชิกทุกคนสามารถดูคะแนน Feedback ของคนอื่นได้

PayPal

ระบบชำระเงิน PayPal เป็นระบบที่ eBay แนะนำให้ผู้ซื้อและผู้ขายใช้ โดย PayPal จะเป็นตัวกลางในการรับชำระเงินจากผู้ซื้อและส่งต่อเงินให้ผู้ขาย ถ้าผู้ซื้อชำระเงินทาง PayPal แล้วแต่ผู้ขายไม่ส่งสินค้าไปให้ ผู้ซื้อสามารถร้องเรียนไปที่ PayPal เพื่อขอเงินคืนได้

ระบบ Feedback และระบบชำระเงิน PayPal ทำให้การซื้อขายสินค้าผ่าน eBay ได้รับความน่าเชื่อถือสูงขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าผ่าน eBay เพิ่มมากขึ้น และทำให้ eBay มีรายได้ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีต้นทุนที่ต่ำ ไม่ต้องสต็อกสินค้าเอง ทำให้ eBay เป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จและมีกำไรมหาศาล

Network Effect ถ้าโลกนี้มีคนใช้ YouTube, eBay, Pantip แค่คนเดียว ผมก็คงไม่ใช้เว็บเหล่านี้เหมือนกัน

แต่จะด้วยความบังเอิญหรือไม่ก็แล้วแต่ ก็มีคนทั่วโลกนับล้านคนที่ใช้บริการเว็บเหล่านี้

Network Effect คือคุณลักษณะที่คุณค่าหลักของสินค้าหรือบริการหนึ่งๆ ไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นๆ แต่อยู่ที่จำนวนผู้ใช้สินค้าหรือบริการ ยิ่งมีจำนวนมาก คุณค่าก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

Telephone Network Effect

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือถ้าทั้งโลกนี้มีคนใช้โทรศัพท์แค่คนเดียว คุณคงไม่คิดอยากมีโทรศัพท์ใช้ นอกจากว่าคุณจะเป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนของคนเดียวคนนั้นที่มีโทรศัพท์ใช้ เพื่อที่คุณจะได้ใช้ติดต่อสื่อสารกับเขาได้ หรืออาจจะเพียงเพื่อความเท่ที่ได้เป็นคนรุ่นแรกๆ ที่ได้ใช้โทรศัพท์ก็ได้ แต่พอญาติพี่น้องของคนเดียวคนนั้นเริ่มใช้โทรศัพท์ ก็จะมีญาติพี่น้องของญาติพี่น้องที่อยากใช้บ้างตามมา ท้ายที่สุดแล้วผู้ใช้โทรศัพท์ก็ขยายเป็นเครือข่ายออกไปทั่วโลก

คุณค่าหลักของโทรศัพท์จึงไม่ได้อยู่ที่แผงวงจรอิเล็คทรอนิคส์ภายในเครื่อง ไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์อันสวยงามจับถนัดมือของตัวเครื่อง แต่อยู่ที่เครือข่ายโทรศัพท์ที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วทั้งโลก จนเมื่อโทรศัพท์กลายเป็นสินค้าพื้นฐานที่ใช้กันทั่วโลกแล้ว ผู้คนก็จะไม่ได้พิจารณาเรื่องคุณค่าของเครือข่ายการสื่อสารอีก แต่จะไปสนใจที่ความสามารถพิเศษของเครื่องโทรศัพท์แทน

หลักการของ Network Effect ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับบริการออนไลน์หลายอย่าง ที่โด่งดังมากในช่วงยุคดอทคอมบูมก็คือโปรแกรม ICQ ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับการสื่อสารด้วยข้อความแบบทันใจ (Instant Messaging) คุณค่าของโปรแกรมนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับคุณค่าของเครือข่ายโทรศัพท์เลย ถ้าคุณไม่มีคนรู้จักที่ใช้โปรแกรมนี้ คุณก็คงไม่รู้ว่าจะใช้มันไปทำไม

Network Effect ที่ใช้จับคู่คนสองคนเข้าด้วยกันอีกแบบหนึ่งก็คือ eBay ซึ่งเป็นตลาดประมูลสินค้าออนไลน์ ทำหน้าที่จับคู่ผู้ขายสินค้าเข้ากับผู้ซื้อสินค้า ด้วยความนิยมที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้เราสามารถขายสินค้าไทยให้กับคนอเมริกันได้โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็นั่งอยู่ที่บ้านในประเทศของตัวเอง

นอกจากเครือข่ายของการสื่อสารและการจับคู่คนแล้ว Network Effect ยังถูกนำมาใช้อธิบายปรากฎการณ์ของเครือข่ายผู้สร้าง content ด้วย อย่างเช่น YouTube ที่มีผู้คนจากทั่วโลกเข้าไปโพสต์ไฟล์วิดีโอไว้ และให้คนทั่วไปเข้าไปโหลดดูได้ โดยที่ YouTube เป็นเพียงผู้พัฒนาโปรแกรมและผู้ดูแลระบบ แต่ไม่ได้เป็นผู้สร้าง content ขึ้นมาเอง

นอกจาก YouTube แล้วก็ยังมีเว็บไทยๆ อย่าง Pantip ที่มีลักษณะแบบเดียวกัน คือเปิดให้ผู้ใช้เว็บเข้าไปโพสต์ข้อความเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้

แต่ความท้าทายของเครือข่ายผู้สร้าง content แบบนี้ก็คือใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องเหมาะสมของ content ผู้ให้บริการเว็บหรือผู้สร้าง content? รวมถึงบรรทัดฐานความถูกต้องเหมาะสมก็ไม่ค่อยชัดเจนนัก อย่างของ Pantip ความถูกต้องเหมาะสมก็คือการไม่ล่วงละเมิดสถาบัน การไม่กล่าวหาผู้อื่นโดยไม่มีมูลความจริง และการไม่ใช้ข้อความส่อเสียดหยาบคาย บรรทัดฐานนี้คือสิ่งที่ผู้ดูแลเว็บกำหนดขึ้น แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใช้เว็บยอมรับก็ได้ นั่นหมายความว่าถ้าวันหนึ่งที่ผู้ใช้เว็บส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกับบรรทัดฐานของเว็บ ผู้ใช้เว็บอาจจะร่วมกันกำหนดบรรทัดฐานของตัวเองขึ้นมาแทน และถ้าผู้ดูแลเว็บยอมรับไม่ได้ เว็บก็คงต้องปิดตัวลง ดังนั้น กลยุทธ์ของผู้ดูแลเว็บก็คือการรักษาและเพิ่มจำนวนผู้ใช้เว็บที่เห็นด้วยกับบรรทัดฐานที่ผู้ดูแลเว็บกำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นน้ำดีในการเจือจางผู้ใช้เว็บที่ไม่เห็นด้วยกับบรรทัดฐาน

ยังมี Network Effect อีกประเภทหนึ่งที่โด่งดังมาก นั่นก็คือ Microsoft Office ที่มีผู้คนทั่วโลกใช้งาน มีไฟล์ Word, Excel, PowerPoint อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วทั้งโลก จนกลายเป็นมาตรฐานที่คนทั่วโลกต้องยอมรับไปโดยปริยาย ถ้าคุณใช้โปรแกรมสำนักงานยี่ห้ออื่นที่อ่านและเขียนไฟล์ของ Microsoft Office ไม่ได้ มันก็เหมือนคุณเป็นคนเดียวในโลกที่พูดภาษาสะเด๋ยบูดู ขณะที่ผู้คนทั่วโลกใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล

มีทฤษฎีหนึ่งที่สามารถใช้อธิบายปรากฎการณ์การเกิด Network Effect ได้ นั่นก็คือทฤษฎี Diffusion of Innovation โดยพล็อตกราฟเป็นรูป S-curve ที่มีแกน X เป็นเวลา และแกน Y เป็นจำนวนผู้ใช้งาน

Diffusion of Innovation

Innovators คือกลุ่มผู้ใช้รุ่นบุกเบิก คนกลุ่มนี้ชอบความแปลกใหม่ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นคนแรกๆ ที่ได้ใช้สินค้าหรือบริการที่ออกมาใหม่ รับความเสี่ยงได้ถ้าสินค้าหรือบริการนั้นๆ ยังไม่มีเสถียรภาพนัก หรืออาจจะมีปัญหาอยู่บ่อยๆ ถ้าคุณกำลังพยายามสร้าง Network Effect ให้เกิดขึ้น คนกลุ่มนี้ถือว่ามีค่ามากในฐานะผู้ใช้รุ่นแรกที่พร้อมจะให้คำแนะนำในการปรับปรุงสินค้าหรือบริการแก่คุณ และยังเป็นผู้ที่ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของคุณให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย

ใครที่เล่น Pantip ตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีระบบสมาชิก ยุคที่ยังปลอมชื่อกันได้ ยุคที่มีตัวป่วนเข้ามาสร้างความวุ่นวายจนเว็บล่ม ก็ถือได้ว่าเป็น Innovators ของ Pantip ปัญหาข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เคยประสบมาในยุคบุกเบิก ทุกวันนี้ไม่ค่อยพบปัญหาเหล่านี้อีกแล้ว เพราะทางเว็บได้นำข้อผิดพลาดไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

Early Adopters คือกลุ่มผู้ใช้ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักแพร่หลาย คนกลุ่มนี้จะบอกต่อและชักชวนคนรู้จักให้มาซื้อหาหรือใช้บริการเช่นกัน แต่สินค้าหรือบริการก็จะต้องมีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว ไม่เช่นนั้นถ้าคนกลุ่มนี้รู้สึกผิดหวัง พวกเขาอาจจะบอกต่อในแง่ลบได้

ใครที่มีเลขสมาชิก ICQ 6 หลัก หรือ 7 หลักต้นๆ ก็น่าจะเป็น Early Adopters ในยุคนั้นคนไทยยังใช้ ICQ กันไม่ค่อยมาก แต่ก็ได้คนกลุ่มนี้นี่แหละที่ช่วยบอกต่อให้เพื่อนๆ มาใช้ จนกลายเป็นเครือข่ายผู้ใช้ ICQ ที่เติบใหญ่ในอดีต

Early Majority และ Late Majority คือกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ Early Majority จะได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม Early Adopters อย่างมาก ประเภทเขาชวนมาเราก็เอาด้วย ส่วน Late Majority จะตัดสินใจช้ากว่านั้น เขาชวนมาเราอาจจะยังไม่เอาด้วย แต่ถ้าเพื่อนในกลุ่มเราทุกคนเอาหมดแล้ว เราก็จะรู้สึกกดดันว่าทำไมตัวเองถึงไม่เอาอยู่คนเดียว

YouTube, Weblog, Social Network อย่างพวก MySpace หรือ Hi5 ณ ปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่าอยู่ในเฟสนี้แล้ว ส่วนเฟสนี้จะกินเวลายาวนานแค่ไหน ก็ต้องดูจากความสามารถในการเติบโต รวมถึงต้องดูว่ามีใครเป็นคู่แข่งบ้าง

Laggards หรือพวกตกยุค คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับแรงจูงใจจากสังคมรอบข้างมากนัก แต่มักจะใช้ประสบการณ์ในอดีตของตัวเองในการตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ

คุณพ่อคุณแม่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หลายท่านเพิ่งจะมีโทรศัพท์มือถือใช้ ก่อนหน้านี้ท่านอาจจะไม่ใช้ก็เพราะว่าท่านไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องตามกระแสคนส่วนใหญ่ หรือบางท่านอาจจะใช้ไม่เป็น กลัวการใช้งานเทคโนโลยี กลัวราคาแพง แต่เหตุผลที่เพิ่งตัดสินใจใช้ก็เพราะมันมีประโยชน์ ราคาโทรศัพท์มือถือสมัยนี้ก็ถูกมาก ค่าโทรก็ถูกลงเช่นกัน

ใครที่คิดจะสร้าง Network Effect ให้เกิดขึ้นได้นั้น ปัจจัยสำคัญคือต้องสร้างสิ่งที่แปลกใหม่ต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดกลุ่ม Innovators ขึ้นมา จากนั้นจะต้องพยายามสร้างโมเมนตัมให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดกลุ่ม Early Adopters ที่จะทำหน้าที่เป็นนักประชาสัมพันธ์ให้แบบฟรีๆ ช่วงการสร้างโมเมนตัมน่าจะเป็นช่วงที่ยากที่สุดและเหนื่อยที่สุด เพราะเป็นช่วงรอยต่อของการทำให้คนอื่นรู้จัก ขณะที่ต้องพัฒนาสินค้าหรือบริการให้มีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย แต่ถ้าผ่านช่วงนี้ไปถึงช่วง Early Majority ได้แล้ว ทุกอย่างจะหมุนไปได้ด้วยตัวเอง และคุณจะกลายเป็นเสือนอนกินทันที

Please don't block these 5 web sites ฆ่าผมทิ้งเสียดีกว่าถ้าจะบล็อกห้าเว็บนี้

ขอเกาะกระแสบล็อกเว็บไซต์ YouTube เสียหน่อย ผมเชื่อว่าชาวออนไลน์ทุกคนคงจะมีกิจกรรมออนไลน์หลายอย่างที่ต้องทำในแต่ละวัน มีหลายเว็บไซต์ที่ต้องเข้าเป็นประจำทุกวัน เคยลองนึกดูไหมครับว่ามีเว็บไซต์อะไรบ้างที่ถ้าโดนบล็อก มันจะทำให้ชีวิตออนไลน์ของคุณดับวูบลงทันที

นี่คือ 5 อันดับเว็บไซต์ที่ผมรู้สึกว่าขาดไม่ได้ ถ้าเว็บไซต์เหล่านี้ถูกบล็อก ผมก็ไม่รู้จะเปิดคอมพิวเตอร์ไปทำไม


อันดับที่ 5 - Hotmail

Hotmail

E-mail ที่ผมใช้เป็นประจำคือ Hotmail ครับ ต้องเข้าไปเช็คทุกวันว่ามี mail ใหม่เข้ามาหรือเปล่า บางวันที่ไม่มี mail ใหม่เลย ก็จะรู้สึกเหงาๆ ว่าทำไมไม่มีใครส่ง mail ให้เราเลยนะ บางวันที่มี mail ใหม่มา 2 - 3 ฉบับ แต่เห็นหัวข้อก็รู้แล้วว่ามาชวนทำธุรกิจหรือขายยาเพิ่มขนาดน้องชาย แบบนี้ก็เซ็งหน่อยที่ต้องมานั่งลบ แต่ถ้าวันไหนมี mail มาซัก 5 ฉบับ และชื่อคนส่งก็เป็นเพื่อนๆ ที่รู้จักกัน แบบนี้จะรู้สึกดีครับ เพราะส่วนใหญ่เพื่อนจะส่ง forward mail ที่น่าสนใจมาให้อ่านแก้เซ็ง

ถ้าวันไหนผมเข้า Hotmail ไม่ได้ ผมคงรู้สึกกระวนกระวายใจว่าจะมีใครส่ง mail สำคัญมาหาหรือเปล่า และถ้าจะให้ผมทรมานยิ่งกว่านั้น ก็ต้องปล่อยให้โปรแกรม MSN Messenger แจ้งผมว่ามี mail ใหม่กี่ฉบับได้ตามปกติ แต่บล็อกไม่ให้ผมเข้าไปดู Inbox ของตัวเองได้เลย

ถ้า Hotmail ถูกบล็อก ก็มาฆ่าผมทิ้งเสียเลยดีกว่า!


อันดับที่ 4 - Pantip

Pantip

เป็นเว็บที่เหมาะสำหรับใช้ฆ่าเวลาว่างของผม การได้เข้าไปไล่อ่านกระทู้ในหน้ารวมมิตรของคาเฟ่ เป็นสิ่งที่เพลิดเพลินใจดีเหลือเกิน บางครั้งเจอกระทู้แปลกๆ หรือขำๆ ผมก็มักจะส่งต่อให้เพื่อนๆ ดู หรือบางทีเพื่อนก็ชอบส่งกระทู้มาให้อ่าน กระทู้ที่ผมชอบคลิกเข้าไปอ่านเป็นพิเศษคือกระทู้ที่จั่วหัวข้อว่า "ติดเรท" ซึ่งมักจะเป็นกระทู้ในโต๊ะสวนลุม หรือบางทีกระทู้ของโต๊ะหว้ากอก็น่าสนใจถ้าหัวข้อกระทู้เป็นเรื่องแปลก หรือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเคยสงสัยแต่ไม่เคยคิดจะถามใคร กระทู้ของโต๊ะก้นครัวก็น่าคลิกเข้าไปดูรูปอาหารอร่อยๆ ผมเคยนั่งไล่หากระทู้ที่สมาชิกทำอาหารแล้วถ่ายรูปมาอวดกันโดยเฉพาะเลย ถึงจะไม่ได้กินของจริง ขอแค่ได้เห็นรูปก็ยังดี

ถ้าวันไหนผมเข้า Pantip ไม่ได้ ผมคงจะมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลย ช่วงแรกๆ ผมคงจะกลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ คอยแต่จะคลิกเข้าเว็บ Pantip ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเข้าไม่ได้ แต่ก็เผลออยู่เรื่อยเชียว คงนั่งฟุ้งซ่านและบ่นกระปอดกระแปดกับเพื่อนๆ ว่าจะมีเว็บบอร์ดที่ไหนที่ครบเครื่องได้เท่ากับ Pantip อีก

ถ้า Pantip ถูกบล็อก ก็มาฆ่าผมทิ้งเสียเลยดีกว่า!


อันดับที่ 3 - DiaryIS, Exteen

DiaryIS

ทั้งสองเว็บนี้เป็นแหล่งรวมเว็บบล็อกที่ผมเป็นขาประจำ เฝ้าติดตามอ่านอยู่ทุกวัน รวมๆ กันก็มากกว่าสิบบล็อกครับ นอกจากนี้ผมยังมีบล็อกของตัวเองที่เขียนอยู่บนสองเว็บไซต์นี้ด้วย ความทรมานจากการไม่มีเว็บให้เขียนบล็อกยังไม่รุนแรงเท่าไหร่ เพราะสามารถหาเว็บบล็อกที่อื่นเขียนได้ แต่ความปวดร้าวใจจากการที่ไม่ได้อ่านบล็อกเจ้าประจำนี่สิ ที่ DiaryIS ผมจะชอบอ่านไดอารี่ของสาวๆ น่ารักๆ ที่ชอบเอารูปของตัวเองมาโพสต์ ไดอารี่ไหนที่เจ้าของโพสต์รูปตัวเองบ่อย ยิ่งชอบเข้าไปดู ส่วนที่ Exteen ผมจะชอบอ่านบล็อกที่มีเนื้อหาน่าสนใจ บล็อกที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับโฆษณา การตลาด หรือแม้แต่บล็อกที่มีการ์ตูนให้อ่านคลายเครียด

ถ้าวันไหนผมเข้า DiaryIS, Exteen ไม่ได้ ผมคงจะไม่มีอะไรทำในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นเวลาที่ผมจะเข้าไปไล่อ่านบล็อกเจ้าประจำ ผมคงต้องเข้านอนเร็วเพราะไม่รู้จะออนไลน์ไปทำอะไร แล้วผมก็จะนอนไม่หลับเพราะปกติเป็นคนนอนดึกมาก พอนอนไม่หลับผมก็จะกระสับกระส่ายไปจนเช้า หลังจากนั้นก็คงจะนั่งคิดว่าเจ้าของไดอารี่จะมีชีวิตเป็นอย่างไรแล้ว คนเขียนบล็อกจะย้ายไปเขียนที่เว็บอื่นหรือเปล่า

ถ้า DiaryIS, Exteen ถูกบล็อก ก็มาฆ่าผมทิ้งเสียเลยดีกว่า!


อันดับที่ 2 - Windows Live Messenger, Skype

Skype

ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เว็บไซต์ แต่ก็เป็นโปรแกรม Instant Messenger ที่ผมใช้งานทุกวัน ใช้งานในที่นี้ไม่ใช่ว่าใช้แชทอะไรมากมายหรอกนะ แค่ใช้ออนไลน์เฉยๆ ใช้ดูว่ามีเพื่อนคนไหนออกไลน์อยู่บ้าง ดูว่าเพื่อนแต่ละคนเขียน personal message ว่าอะไร และดูว่าเพื่อนแต่ละคนเปลี่ยน display ของตัวเองหรือยัง หลักๆ ก็ใช้งานแค่นี้แหละ ส่วนที่ใช้เสริมขึ้นมาก็คือใช้แชทไปหาเพื่อน กับให้เพื่อนแชทมาหา จริงๆ แล้วผมมีกลุ่มเพื่อนออนไลน์ที่ใช้ Skype ในการคุยเป็นกลุ่มทุกวันและทั้งวัน พอเช้าขึ้นมา เปิดคอมพิวเตอร์ออนไลน์ปุ๊บ ก็จะมี message ที่เพื่อนกลุ่มนี้คุยกันโผล่ขึ้นมาทันที ถ้าไม่ยาวมากก็นั่งอ่านกันไป ส่วนใหญ่ผมจะชอบคลิกดูเว็บที่เพื่อนในกลุ่มเอามาบอกกันในแชท

ถ้าวันไหนผมเข้า Windows Live Messenger, Skype ไม่ได้ ผมจะระแวงว่า account ผมถูกขโมยหรือเปล่า ผมจะลองเข้าผ่านเว็บดูเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้ถูกขโมย แต่ถ้าเข้าผ่านเว็บก็ไม่ได้อีก ผมคงจะยิ่งกระวนกระวายใจมากขึ้น และคงโทรถามเพื่อนๆ คนอื่นว่าเข้าได้ไหม ถ้าทุกคนก็เข้าไม่ได้เหมือนกัน ผมก็จะนั่งเล่นเว็บอื่นไปเรื่อยๆ และลองพยายามเข้าซ้ำทุก 5 นาที

ถ้า Windows Live Messenger, Skype ถูกบล็อก ก็มาฆ่าผมทิ้งเสียเลยดีกว่า!


อันดับที่ 1 - Google

Google

สุดยอดเว็บไซต์ที่ผมใช้บริการทุกวัน วันละหลายครั้ง ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่ต้องเขียนรายงานหรือทำ presentation ส่งอาจารย์ ยิ่งใช้งาน Google หนักขึ้น อย่างช่วงที่ไม่ได้อัพเดทบล็อกไป 3 - 4 วัน ก็เพราะนั่งเขียนรายงานอยู่ ซึ่งต้องค้นข้อมูลหนักมากเพื่อนำมาใช้อ้างอิงในรายงาน ผมประมาณดูว่าใช้ Google ไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นอกจาก Google จะช่วยผมทำรายงานได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยให้ข้อมูลในสิ่งที่ผมอยากรู้ได้ทันที บางทีผมนึกสงสัยอะไรขึ้นมา ผมก็เข้า Google นึกอยากลองหาชื่อพ่อแม่เพื่อนดู ก็เข้า Google นึกอยากรู้ประวัติของคนที่เขียนกระทู้หรือบล็อก ก็เข้า Google อีก อะไรๆ ก็ให้ Google ช่วยหาให้ตลอด

ถ้าวันไหนผมเข้า Google ไม่ได้ ผมคงต้องไปใช้บริการห้องสมุดเวลาที่จะเขียนรายงาน คงต้องไปเดินหาหนังสือที่เกี่ยวข้องตามชั้นหนังสือ พอเจอเล่มที่คิดว่าจะมีข้อมูล ก็ต้องเปิดดูสารบัญ ถ้าไม่มีหัวข้อน่าสนใจก็เก็บหนังสือคืนที่เดิมและหาเล่มใหม่ ถ้าเจอหัวข้อน่าสนใจก็เปิดไปดูเนื้อหาข้างใน แล้วก็ต้องสแกนอ่านเร็วๆ เพื่อที่ท้ายที่สุดแล้วจะพบว่าเนื้อหานี้ยังไม่ใช่ที่ต้องการ ต้องเดินหาเล่มอื่นต่อไป กว่าจะเขียนรายงานเสร็จคงใช้เวลาเป็นเดือน

ถ้า Google ถูกบล็อก ก็มาฆ่าผมทิ้งเสียเลยดีกว่า!


คุณล่ะครับ มี 5 เว็บไซต์ที่ภาวนาว่าขออย่าให้ถูกบล็อกเลยบ้างไหม?

Social Business Enterprise เมื่อเป้าหมายธุรกิจไม่ใช่เพื่อ Maximize Profit แต่เพื่อ Minimize Poverty

Muhammad Yunus

ได้ดูรายการชีพจรโลกโดย สุทธิชัย หยุ่น ที่นำเสนอเรื่องราวของ Dr. Muhammad Yunus เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2006 ซึ่งผมมองว่าเป็นบุคคลที่มีแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก น่าที่จะลองศึกษาแนวคิดของเขาดู โดยเฉพาะนักศึกษา MBA ที่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อ Maximize Profit ทำอย่างไรก็ได้ให้บริษัทมีกำไรมากที่สุด ขณะที่แนวคิดของ Dr. Yunus กลับเป็นการ Minimize Poverty หรือการลดจำนวนคนยากจนให้เหลือน้อยที่สด รวมถึงการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคน

ฟังดูอาจจะรู้สึกแปลกๆ ว่าการลดจำนวนคนจน มันไม่น่าจะเรียกว่าธุรกิจ น่าจะเรียกว่ามูลนิธิมากกว่า ถ้าทำธุรกิจเพื่อคนจน ธุรกิจจะอยู่รอดได้อย่างไร (แต่ถ้าทำธุรกิจหากินกับคนจน แบบนี้มีโอกาสรวยล้นฟ้าได้ครับ) แต่ Dr. Yunus ก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นไปได้ อย่างเช่นธุรกิจ Village Phone ที่มีแนวคิดว่าคนในชนบทของบังกลาเทศขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร Dr. Yunus ก็ใช้วิธีปล่อยกู้ให้แก่ผู้หญิงในหมู่บ้านตามชนบทเพื่อนำเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือ แล้วให้ทำอาชีพเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือสาธารณะ (เหมือนการตั้งโต๊ะมือถือตามหอพักนักศึกษาในสมัยก่อนครับ ไม่รู้ว่าสมัยนี้ยังมีอยู่มั้ย นักศึกษาส่วนใหญ่คงมีมือถือเป็นของตัวเองกันหมดแล้ว) คนในหมู่บ้านที่ต้องการการติดต่อสื่อสาร แต่ไม่มีโทรศัพท์ ก็มาใช้บริการได้ คนที่ให้บริการก็มีรายได้เสริม

หลักการดำเนินธุรกิจของ Dr. Yunus คือต้องมีกำไร ธุรกิจต้องทำให้ผู้ลงทุนได้เงินของตัวเองกลับคืนไป แต่กำไรของธุรกิจไม่ต้องสูงมาก เมื่อสามารถคืนทุนให้เจ้าของเงินได้แล้ว บริษัทก็ยังต้องดำเนินต่อไปได้โดยใช้กำไรของตัวเองเป็นทุนในการดำเนินงาน กำไรส่วนที่เกินทุน ส่วนหนึ่งจะต้องคืนกลับสู่สังคม อีกส่วนใช้สำหรับขยายกิจการเพื่อก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง เลยครับ

จริงๆ แล้ว Dr. Yunus มีชื่อเสียงมากจากแนวคิด Micro Credit หรือเงินกู้ระดับรากแก้ว ซึ่งมีผู้ที่เขียนอธิบายถึงแนวคิดนี้ไว้ได้อย่างละเอียดดีมากครับ ลองอ่านดูได้ที่นี่ <ยูนุส (Yunus) และ ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ 2006>

คนไทยเองก็มี Micro Credit เช่นกัน แต่อยู่ภายใต้ชื่อ สัจจะสะสมทรัพย์ ซึ่งริเริ่มโดย ครูชบ ยอดแก้ว และ พระสุบิน ปณีโต รายละเอียดอาจจะแตกต่างจาก Dr. Yunus อยู่บ้างครับ

หลักการมีอยู่ว่า ให้คนที่อยู่ในหมู่บ้านมาพบกันทุกเดือน และแต่ละคนนำเงินมาฝากประจำไว้ คนละนิดละหน่อย แค่หลักสิบหรือหลักร้อยบาท แต่ต้องมีวินัย มาฝากกันทุกเดือน แล้วเวลาที่มีชาวบ้านคนไหนร้อนเงิน ต้องการใช้เงินด่วน ก็จะมาขอกู้จากกรรมการที่ดูแลบัญชี กรรมการก็จะพิจารณาและปล่อยกู้ให้โดยที่ไม่ต้องมีทรัพย์สินมาเป็นหลักประกัน แต่ใช้หลักของความเชื่อใจหรือ "สัจจะ"

สัจจะสะสมทรัพย์มีความแตกต่างจากนโยบายกองทุนหมู่บ้านตรงที่เงินที่ถูกนำมาเป็นกองทุนหมู่บ้านคือเงินที่รัฐบาลให้กู้ยืม ขณะที่เงินของสัจจะสะสมทรัพย์เป็นเงินของชาวบ้านเอง ความรู้สึกเป็นเจ้าของเงินจะแตกต่างกัน ชาวบ้านที่กู้จากกองทุนหมู่บ้านจะรู้สึกว่าถ้าไม่ใช้หนี้ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวรัฐบาลก็ช่วย ขณะที่การกู้เงินจากโครงการสัจจะสะสมทรัพย์ ลูกหนี้จะรู้สึกถึงความรับผิดชอบ เพราะเจ้าหนี้ก็คือคนรู้จักนับร้อยคนที่อยู่ในหมู่บ้าน ตัวเจ้าหนี้เองก็รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของเงิน ถ้าลูกหนี้ประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็จะพยายามช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ วิธีการแบบนี้ทำให้รากแก้วมีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

เขียนถึงเรื่องการทำเพื่อสังคม และการให้สังคมดูแลกันเอง คงต้องวกเข้ามาที่วงการออนไลน์หน่อย ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า Web 2.0 กันมากขึ้น ซึ่งมีคีย์เวิร์ดที่สามารถบ่งบอกความเป็น Web 2.0 ได้ก็คือคำว่า Collaboration, Community และ Social

Web 2.0

ทั้งสามคำนี้ต่างก็มีความหมายไปในแนวทางเดียวกัน คือการเชื่อมโยงประชากรออนไลน์เข้าด้วยกัน ให้แต่ละคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ขึ้นมา

เว็บไซต์ที่มีลักษณะแบบนี้ก็เช่น Wikipedia ที่ให้คนเข้ามาร่วมเขียนบทความลงสารานุกรมออนไลน์ หรือ del.icio.us ที่ให้คนเอาเว็บดีๆ ที่ตนเองไปพบเจอมาแบ่งปันกัน

ถ้าพูดถึงเว็บไซต์ไทยที่มี concept แบบนี้ ก็คงนึกถึง Pantip.com กัน ที่เปิดให้คนเข้าไปเขียนตอบกระทู้ แบ่งปันความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

สมัยที่ผมทำงานอยู่กับ Pantip.com คุณวันฉัตรซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ เคยปรารภอยู่บ่อยๆ ว่าอยากเห็น Pantip.com เป็นของประชาชนจริงๆ อยากเห็นคนเล่นเว็บเข้ามาเป็นคนบริหารเว็บ อยากเห็นอะไรที่คล้ายๆ กับสหกรณ์ที่คนเล่นเว็บร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมบริหาร เมื่อมีกำไรก็ปันผลกลับไปให้แก่คนเล่นเว็บเอง

คุณวันฉัตรเคยนำแนวคิดนี้ไปปรึกษากับนักธุรกิจหลายท่าน ผลตอบรับก็คือมันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำแบบนั้น

อาจจะคล้ายๆ กับที่ Dr. Yunus ไปคุยกับผู้จัดการธนาคารว่าอยากให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับคนจน แต่ธนาคารปฏิเสธว่าเป็นไปไม่ได้เพราะไม่คุ้มที่จะทำ และคนจนก็ไม่มีหลักประกัน แต่สุดท้ายก็เกิดธนาคาร Grameen และแนวคิด Micro Credit ขึ้นจนได้

ทุกวันนี้แนวคิดของการให้คนเล่นเว็บเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารเว็บ ค่อนข้างชัดเจนขึ้นในบางเว็บไซต์ อย่างเช่นเว็บ ThaiVI.com ซึ่งเป็นชุมชนของนักลงทุนเน้นคุณค่า ผู้บริหารชุดเก่าได้ประกาศวางมือ และเปิดรับผู้บริหารชุดใหม่ที่จะเข้าไปทำหน้าที่แทนโดยสมบูรณ์

ส่วนการแบ่งรายได้ให้แก่คนเล่นเว็บเองก็เริ่มมีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่สูงขึ้น การเกิดขึ้นของ AdSense ที่ช่วยให้คนทำเว็บไม่ต้องไปวิ่งขายโฆษณาเอง ก็สามารถมีรายได้จากการทำเว็บได้ และการประกาศของ YouTube ที่จะแบ่งรายได้โฆษณาให้แก่ผู้ที่โพสต์วิดีโอบนเว็บไซต์

ถ้า YouTube ทำสำเร็จ คงจะกลายเป็นต้นแบบให้เว็บบล็อกและเว็บบอร์ดหลายแห่งทำตาม อีกหน่อยคนเขียนบล็อกใน Exteen หรือเขียนกระทู้ใน Pantip อาจจะมีรายได้จากค่าโฆษณาโดยที่ตัวเองไม่ต้องจดโดเมนทำเว็บเอง และไม่ต้องวิ่งหาลูกค้าเองก็ได้ครับ

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2550

Scarcity Marketing การตลาดแบบสินค้าขาดแคลน เมื่อของดีมีน้อยจัง

ช่วงนี้มีร้านอาหารอินเทรนด์เปิดใหม่ขึ้นมาอีกร้านแล้ว ชื่อร้าน MOS Burger ซึ่งเป็นร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ชื่อดังจากญี่ปุ่น เป็นที่ร่ำลือกันว่าอร่อยกว่า Mc Donalds ซึ่งผมเองก็ยังไม่มีโอกาสได้ทดลอง เพราะเท่าที่อ่านตามกระทู้ ทำให้ทราบว่าต้องรอคิวนานมาก บางคนครึ่งชั่วโมง บางคน 45 นาที

MOS Burger Teriyaki Chicken เบอร์เกอร์ไก่เทอริยากิ

นึกถึงสมัยที่ Rotiboy มาเปิดใหม่ๆ นะครับ คนไปต่อคิวกันเป็นชั่วโมง ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย อุตส่าห์ไปต่อคิวตั้งแต่ร้านเปิดตอนเจ็ดโมงครึ่ง แต่มีเรียนตอนเก้าโมงเช้า กว่าจะได้ขนมปังมา 4 ก้อนก็ตอนเก้าโมงครึ่ง ทุกวันนี้คงไม่มีใครไปต่อคิวซื้อขนมปังเม็กซิกันรสกาแฟแล้ว

MOS Cheese Burger มอสชีสเบอร์เกอร์

แต่ผมเชื่อว่า MOS Burger คงไม่ใช่อาหารแฟชั่นที่มาไวไปไวแบบ Rotiboy อย่างน้อยทุกวันนี้เราก็ยังเห็นคนเข้า Mc Donalds หรือ Burger King กันอยู่

Rice Burger Seafood ไรซ์เบอร์เกอร์ซีฟู้ด

การที่ลูกค้าต้องยืนเข้าคิวเพื่อรอซื้อแฮมเบอร์เกอร์ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความโด่งดังของชื่อ MOS Burger ที่ถูกพูดถึงกันแบบปากต่อปาก (Viral Marketing) พอมาเปิดในเมืองไทย คนไทยก็อยากลิ้มลองรสชาติดู อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะกระบวนการผลิตที่เป็นแบบ made to order คือทำเมื่อมีการสั่ง ไม่ใช่แบบ made to stock แบบของ Mc Donalds ที่ทำเตรียมไว้ก่อน ลูกค้าสั่งปุ๊บได้ปั๊บ (ไม่รู้ว่า Mc Donalds เปลี่ยนวิธีหรือยัง สังเกตว่าระยะหลังสั่งแล้วต้องรอพนักงานยกมาเสิร์ฟที่โต๊ะทีหลัง)

MOS Hot Dog ฮอตดอก

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่การที่ลูกค้าต้องยืนเข้าคิวนานๆ มันก็ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Scarcity Marketing หรือการตลาดแบบสินค้าขาดแคลนขึ้นมาทันที

นอกจาก MOS Burger และ Rotiboy แล้ว มีสินค้าอะไรอีกที่ใช้กลยุทธ์ Scarcity Marketing?

ใครเป็นคอเกม คงจะนึกภาพที่ผู้คนต่อคิวกันข้ามคืนเพื่อรอซื้อ PlayStation 3 เมื่อปีที่แล้วออก

ใครชอบสินค้าแบรนด์เนม จะรู้ว่ากระเป๋า Louis Vuitton บางรุ่นที่ออกใหม่ ลูกค้าจะต้องไปลงชื่อที่ร้าน จ่ายเงิน และรอหนึ่งเดือนเพื่อรับสินค้า

DVD ของภาพยนตร์เรื่อง Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย Limited Edition ที่มีเพียง 5,999 ชุด แต่ละชุดมีหมายเลขกำกับไม่ซ้ำกัน ทำให้คนไปควานหาซื้อชุดที่มีเลขสวย

ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสินค้าที่จับต้องได้เท่านั้นที่สามารถทำ Scarcity Marketing ได้ แม้แต่ธุรกิจดอทคอมก็ทำได้เช่นกัน อย่างเช่นบริการ Gmail ของ Google ที่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการ invite จากเพื่อน ทำให้ช่วงแรกๆ ของการเปิดใช้บริการ มีการประกาศขาย invite ของ Gmail บน eBay ในราคาที่ดีมาก

เว็บไซต์ไทยก็มีครับ DiaryIS ใช้วิธีคล้ายๆ กับ Gmail คือต้องได้รับการ invite ก่อนถึงจะเข้าใช้บริการได้ พอช่วงหลังที่มีการปิดระบบ invite ชั่วคราว ซึ่งผมเดาว่าอาจจะเป็นปัญหาเรื่อง capacity ของเซิร์ฟเวอร์ (อารมณ์ประมาณ capacity ในการทำแฮมเบอร์เกอร์มีจำกัด ขณะที่คนอยากกินมีมากกว่า) ทำให้ผมได้เห็นคนตั้งกระทู้ขอ invite อยู่บ่อยครั้ง และสุดท้าย DiaryIS ก็ใช้วิธีเก็บค่าบริการสำหรับผู้ที่ต้องการเขียนไดอารี่แต่ไม่อยากรอการ invite

ผลดีของการทำ Scarcity Marketing แบบที่เห็นได้ชัดก็คือ ความขาดแคลนของมันทำให้คนรู้สึกว่าของสิ่งนั้นเป็นของดี คนจำนวนมากถึงยอมเสียเวลาและเสียเงินเพื่อที่จะซื้อมันมา ตัวเองก็อยากจะอินเทรนด์แบบคนอื่นบ้าง อยากลองใช้สินค้าแบบที่คนจำนวนมากพยายามใฝ่หามาอยู่บ้าง เพื่อจะได้คุยกับคนอื่นได้ว่า ฉันก็ซื้อมาแล้วนะ

ข้อดีอย่างที่สองคือ ถ้าลูกค้ากลุ่มที่เป็น Early Adopter หรือลูกค้าที่ยอมต่อคิวนั่นแหละ เกิดติดใจในสินค้าของเรา เขาจะกลายเป็นคนที่ช่วยโฆษณาสินค้าให้เราไปโดยปริยาย เขาจะเที่ยวบอกต่อคนอื่นว่าเขาได้ทดลองแล้วว่าสินค้าของเราดียังไง แน่นอนว่าคนที่ได้ฟังก็ย่อมรู้สึกอยากลองบ้าง แต่อาจจะรอให้กระแสความนิยมลดลงก่อน จะได้ไม่ต้องไปต่อคิวนานๆ เพื่อซื้อสินค้า

ถึงแม้ว่าถ้าลูกค้าไม่ชอบสินค้า แต่อย่างน้อยเขาก็ยังรู้สึกดีที่ได้เป็นคนหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้ใช้สินค้า เขาจะรู้สึกว่าคนอื่นอาจจะชอบ เพียงแต่เขาไม่ชอบก็เท่านั้น แต่เขาก็ได้มีโอกาสทดลองแล้ว และถึงแม้ว่าลูกค้าจะไปบอกต่อกับคนอื่นว่าไม่ประทับใจสินค้า ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะไม่อยากลอง มันอาจจะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้คนที่ได้ฟัง รู้สึกอยากทดลองด้วยตัวเองดูบ้างว่าจะประทับใจหรือไม่ Scarcity Marketing ยังมีข้อดีอื่นๆ อีก อย่างเช่นเรื่องการบริหารจัดการการผลิตสินค้า ซึ่งขอไม่อธิบายนะครับ มันค่อนข้างซับซ้อน

บางคนอาจจะเริ่มสนใจอยากทำ Scarcity Marketing บ้างแล้ว แต่ต้องขอบอกว่าไม่ใช่ทุกสินค้าที่จะทำแบบนี้ได้นะครับ การจะทำได้ต้องอาศัยปัจจัยสองข้อ

ข้อแรกคือสินค้าชนิดนั้นต้องมีอุปทาน (Supply) ที่จำกัด ลูกค้าจะไปหาซื้อสินค้าแบบเดียวกับเราที่อื่นไม่ได้ เช่น หาซื้อ PlayStation 3 ที่ไหนไม่ได้แล้วนอกจากของ Sony หรือหาซื้อกระเป๋า Louis Vuitton รุ่นใหม่ที่ไหนไม่ได้นอกจากปารีส ถ้าลูกค้ามีทางเลือกอื่น กลยุทธ์นี้จะใช้การไม่ได้ครับ เช่น Windows Vista อยากทำให้คนมาต่อคิวซื้อกันเยอะๆ เลยปั๊มซีดีออกมาน้อยๆ ที่ไหนได้ล่ะ คนไปซื้อแบบแผ่นละ 100 บาทกันหมด แต่บางทีลูกค้าอาจจะหาสินค้าประเภทเดียวกับเราได้ เช่น อยากเขียน DiaryIS แต่ไม่ได้ invite ก็เลยเปลี่ยนไปเขียน Exteen แทน ถ้าเป็นลูกค้าที่ติดในแบรนด์ของ DiaryIS มากๆ ชอบบรรยากาศของเว็บไซต์ ลูกค้าคนนั้นก็จะยอมจ่ายเงินเช่าพื้นที่เว็บ แต่ถ้าแบรนด์ของเว็บไม่แกร่งพอ ลูกค้าก็อาจจะเลือกไปใช้ Exteen ได้ทันที ตรงนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกแล้วครับ (Emotion)

ข้อที่สองคือสินค้าชนิดนั้นต้องมีอุปสงค์ (Demand) มากกว่าอุปทาน อย่าง MOS Burger หรือ Rotiboy ที่เห็นได้ชัดว่าทางร้านก็พยายามเร่งกำลังการผลิตอย่างเต็มที่ แต่ความต้องการของลูกค้าก็สูงมากด้วย อัตราความต้องการแฮมเบอร์เกอร์ของลูกค้า (Customer Throughput) สูงกว่าอัตราการผลิตแฮมเบอร์เกอร์ของร้าน (Processing Throughput) ผลที่ออกมาก็คือคิวที่ยาวขึ้น และกลายเป็นคำบอกเล่าต่อๆ กันไปว่าร้านนี้กำลังเป็นที่นิยม

ถ้าคุณมั่นใจว่าสามารถสร้างปัจจัยทั้งสองข้อให้เกิดขึ้นได้ คุณก็ทำ Scarcity Marketing ได้ไม่ยากครับ แต่ถ้าลองสังเกตดู สินค้าที่จะทำได้มักจะเป็นสินค้าที่ใช้กลยุทธ์ Differentiate Strategy เพื่อสร้างความแตกต่างของสินค้าตัวเองให้โดดเด่นเหนือสินค้าของคู่แข่ง ลูกค้าจึงไม่มีทางเลือกอื่น ต้องก้มหน้าก้มตาต่อคิวซื้อสินค้าที่ขาดแคลนกันต่อไป

ว่าแล้วก็อยากลองกิน MOS Burger ที่แสนจะขาดแคลนบ้างครับ ตอนแรกกะว่าจะไปต่อคิวซื้อกินก่อนจะเขียนบทความนี้ แต่เกรงว่าเนื้อหาบทความจะกลายเป็นรีวิวแฮมเบอร์เกอร์ไปซะก่อน

เห็นรูปแล้วน้ำลายไหลครับ