วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Marketing 101

อาจารย์กำลังอธิบายหลักการตลาดให้นักศึกษาฟัง

1. คุณพบสาวสวยสุดเซ็กซี่ในงานปาร์ตี้ คุณเข้าไปหาเธอและพูดว่า "ผมรวย แต่งงานกับผมเถอะ!" - นี่คือ Direct Marketing

2. คุณอยู่ที่งานปาร์ตี้กับพรรคพวกของคุณและพบสาวสวยสุดเซ็กซี่คนหนึ่ง เพื่อนของคุณคนหนึ่งเดินเข้าไปหาเธอ ชี้มาที่คุณแล้วพูดว่า "เขารวยมาก แต่งงานกับเขาเถอะ!" - นี่คือการโฆษณา

3. คุณพบสาวสวยสุดเซ็กซี่ในงานปาร์ตี้ คุณเข้าไปหาเธอและขอเบอร์โทร วันรุ่งขึ้นคุณจึงโทรไปหาและพูดว่า "สวัสดีครับ ผมรวยมาก แต่งงานกันผมเถอะ" - นี่คือ Telemarketing

4. คุณอยู่ที่งานปาร์ตี้และพบสาวสวยสุดเซ็กซี่คนหนึ่ง คุณยืนขึ้น จัดเนคไทให้เรียบร้อย เดินเข้าไปหาเธอ เลี้ยงเครื่องดื่มเธอ คุณเปิดประตู (รถยนต์) ให้เธอ ถือกระเป๋าให้เธอจนเธอนั่งเรียบร้อย ช่วยขับรถให้เธอ แล้วพูดว่า "ผมรวย คุณจะแต่งงานกับผมไหม?" - นี่คือพีอาร์

5. คุณอยู่ที่งานปาร์ตี้และพบสาวสวยสุดเซ็กซี่คนหนึ่ง เธอเดินเข้ามาหาคุณและพูดว่า "คุณรวยมาก! แต่งงานกับฉันไหม?" - นี่คือ Brand Recognition

6. คุณพบสาวสวยสุดเซ็กซี่ในงานปาร์ตี้ คุณเข้าไปหาเธอและพูดว่า "ผมรวย แต่งงานกับผมเถอะ!" เธอตบหน้าคุณอย่างแรง - นี่คือ Customer Feedback

7. คุณพบสาวสวยสุดเซ็กซี่ในงานปาร์ตี้ คุณเข้าไปหาเธอและพูดว่า "ผมรวยมาก แต่งงานกับผมเถอะ!" แล้วเธอก็แนะนำให้คุณรู้จักกับสามีของเธอ - นี่คือช่องว่างระหว่าง demand และ supply

8. คุณพบสาวสวยสุดเซ็กซี่ในงานปาร์ตี้ คุณเข้าไปหาเธอและก่อนที่จะได้พูดอะไร ก็มีผู้ชายอีกคนเดินเข้ามาและพูดกับเธอว่า "ผมรวย คุณจะแต่งงานกับผมไหม?" แล้วเธอก็ไปกับผู้ชายคนนั้น - นี่คือการแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด

9. คุณพบสาวสวยสุดเซ็กซี่ในงานปาร์ตี้ คุณเข้าไปหาเธอและก่อนที่จะได้พูดว่า "ผมรวย แต่งงานกับผมเถอะ!" ภรรยาของคุณก็มาถึง - นี่คือข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดใหม่

ที่มา: แปลมาจาก forward mail

เมื่อ eBay Go Thailand ใครได้ ใครเสีย?

หลังจากที่มีการแถลงข่าวระหว่างเว็บไซต์ Sanook.com และ eBay.com เพื่อมีการร่วมมือในการพัฒนาตลาดประมูลออนไลน์ในประเทศไทย มีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วมันจะไปรอดเหรอ?

เราลองมาวิเคราะห์กันดูครับ

ก่อนอื่นต้องขอเท้าความไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ในยุคเริ่มแรกของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย ธุรกิจนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากหลักการของ Classifieds ที่ปกติจะลงประกาศซื้อขายสินค้ากันในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร เว็บแรกที่พัฒนา Online Classifieds ขึ้นมาก็คือ Pantip.com โดยเป็นบริการหนึ่งภายใต้เว็บไซต์นี้ (ภายหลังถึงได้แยกเว็บออกมาเป็น PantipMarket.com) บริการ Classifieds นี้เกิดก่อนที่ Pantip.com จะมีเว็บบอร์ดอีกนะครับ

หลักการของ Online Classifieds นั้นก็เรียบง่ายครับ คนมีสินค้ามาลงประกาศขายไว้ คนซื้อสินค้าเข้าไปดู ถ้าสนใจก็ติดต่อถึงกันเอง เว็บไซต์ไม่รับรู้อะไรด้วย ทำหน้าที่เป็นเพียง "พื้นที่" ให้คนเข้ามาใช้บริการ

เมื่อ Pantip.com เริ่มต้นด้วยโมเดลแบบนี้ เว็บที่มาทีหลังก็ต้องทำตาม ThaiSecondHand.com ตามเข้ามาด้วยรูปแบบ Online Classifieds เช่นกัน

Online Classifieds ของทั้ง Pantip.com และ ThaiSecondHand.com นั้นไม่เก็บเงินทั้งจากผู้ซื้อและผู้ขาย ใครใคร่ขายขาย ใครใคร่ซื้อซื้อ เมื่อคนขายรู้ว่าเว็บเหล่านี้มีพื้นที่ให้ลงประกาศขายสินค้าได้ฟรี แถมยังมีผู้ซื้อเยอะอีกต่างหาก คนขายก็แห่มาลงประกาศสินค้ากัน พอคนขายเยอะขึ้น ก็ต้องมีคนขายที่อยากให้ประกาศของตัวเองโดดเด่นกว่าของคู่แข่ง เว็บก็เริ่มมีรายได้จากทางนี้ครับ ด้วยการขายตำแหน่งโฆษณาพิเศษ

โมเดล Online Classifieds นั้นมีข้อเสียก็คือสินค้าของเราจะปะปนไปกับสินค้าของคู่แข่ง ซึ่งเป็นเรื่องลำบากสำหรับลูกค้าที่ต้องการดูเฉพาะสินค้าของเรา จึงได้เกิดโมเดลร้านค้าออนไลน์ขึ้นมา คนขายสินค้าเป็นอาชีพสามารถเข้าไปเปิดร้านของตัวเอง นำสินค้าของตัวเองไปใส่ไว้ในร้าน จากนั้นค่อยไปประกาศลง Online Classifieds เพื่อโปรโมทร้านของตัวเอง เว็บไซต์ที่กินส่วนแบ่งตลาดรายใหญ่ในธุรกิจผู้ให้บริการร้านค้าออนไลน์ก็คือ Tarad.com และ MarketAtHome.com

ส่วนในต่างประเทศนั้น โมเดลประมูลออนไลน์แบบ eBay.com ดังระเบิดระเบ้อ โมเดลนี้มีข้อดีตรงที่ทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะคนตั้งราคาไม่ใช่คนขาย แต่คนซื้อต่างหากที่เป็นผู้ตั้งราคา ถ้าสินค้าชนิดไหนที่เป็นที่ต้องการสูงมาก แต่มีคนขายไม่กี่คน สินค้าชิ้นนั้นก็จะขายได้ราคาสูง นอกจากนี้ eBay ยังรู้ด้วยว่าผู้ขายแต่ละคนสามารถขายสินค้าได้ที่กี่ชิ้น ราคาเท่าไร ทำให้ eBay สามารถเรียกเก็บค่าต๋งจากผู้ขายสินค้าได้ ต่างกับโมเดลแบบ Online Classifieds ที่เว็บไซต์ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้ขายสามารถขายสินค้าได้กี่ชิ้น เว็บไซต์ที่บุกเบิกตลาดประมูลออนไลน์ในไทยก็คือ Pramool.com ซึ่งดูเหมือนว่าปัจจุบันนี้จะเน้นไปทำเว็บบอร์ดมากกว่า

ด้วยความร้อนแรงของ eBay ทำให้เว็บไซต์ไทยหลายแห่งเริ่มพัฒนาบริการประมูลออนไลน์ขึ้นมา ทั้ง Tarad.com ที่คลอด TaradEbid.com ออกมา หรือ Sanook.com ที่เพิ่มบริการประมูลออนไลน์เข้าไปในร่มใบใหญ่ของตัวเอง

แต่ถามว่ามัน work จริงหรือเปล่า? ผมลองเช็คตัวเลขจำนวนสินค้าที่กำลังถูกประมูลอยู่ในเว็บต่างๆ ดู TaradEbid.com มีปัญหาด้านการแสดงผลตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง แต่จากที่ลองคลิกๆ ดู ผมคาดว่ามีสินค้าอยู่แค่หลักพันเศษๆ Sanook Auction อยู่ที่ราวๆ เจ็ดพันรายการ ต้นตำรับอย่าง Pramool.com มีเกือบสองหมื่นรายการ

แต่สินค้าไทยที่ถูกประกาศขายใน eBay.com ที่อเมริกา มีมากกว่าหนึ่งแสนรายการต่อสัปดาห์นะครับ

แปลว่าคนไทยชอบเอาสินค้าไปประมูลในเมืองนอกมากกว่าที่จะประมูลในไทย

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะโมเดลแบบ Online Classifieds ในไทยนั่นแหละครับ มันง่ายกว่า ไม่ต้องคิดว่าจะประมูลกี่วันดี จะตั้งราคาเริ่มต้นเท่าไหร่ดี ถ้าตั้งราคาต่ำๆ แล้วขาดทุนล่ะ แล้วถ้าตั้งราคาสูงไว้ก่อนแต่ไม่มีคนซื้ออีกล่ะ และที่สำคัญที่สุดก็คือประมูลออนไลน์จะต้องรอให้จบประมูลก่อนถึงจะได้สินค้า แต่ Online Classifieds นั้น ถ้าผู้ซื้ออยากได้สินค้าเมื่อไหร่ก็แค่โทรศัพท์หรือส่ง e-mail หาผู้ขายได้เลย

แต่ใช่ว่าการเข้ามาของ eBay จะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จเอาซะเลยนะครับ อย่างน้อยผมก็มองเห็นช่องว่างตลาดที่ eBay สามารถเข้ามาได้ นั่นก็คือตลาดผู้ขายที่อยู่ต่างประเทศ ส่งสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาไทยที่ไปเรียนต่อต่างประเทศนี่แหละครับ อาจจะหาสินค้าในต่างประเทศที่ยังไม่มีขายในไทย หรือมีราคาขายถูกกว่าในไทยมาก แล้วส่งมาขายผ่าน Sanook eBay

จะดีไหมครับถ้าคนไทยสามารถซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อดังในราคาถูก หรือซื้อ Apple iPhone ที่ยังไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย ด้วยการซื้อผ่าน Sanook eBay

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เอา Google Map มาทำ Application อะไรได้บ้าง?

ถ้าเราพูดถึงการนำ Google Map มาใช้งานจริง คนส่วนใหญ่จะคิดว่ามันเหมาะที่จะเอามาใช้แสดงที่ตั้งของห้างร้านหรือบริษัทของเรา เพื่อให้คนที่ใช้บริการเว็บไซต์เรารู้ว่าจะมาหาร้านหรือบริษัทของเราได้อย่างไร

แต่ Google Map ทำอะไรได้มากกว่านั้นครับ...

ส่วนตัวผมเองพัวพันอยู่กับผู้ขายสินค้าบน eBay ก็ได้รู้ว่าผู้ขายหลายๆ คนมักจะใช้ Google Map เพื่อตรวจสอบที่อยู่ของลูกค้าก่อนที่จะส่งสินค้า เพื่อดูว่าเป็นที่อยู่ที่มีตัวตนจริงหรือเปล่า ไม่ใช่ส่งสินค้าไปแล้วกลับไม่มีผู้รับ

มีการใช้ตรวจสอบตึกที่มีการติดตั้ง cell site โทรศัพท์มือถือ เพื่อจะได้รู้ว่าถ้าอยากคุยโทรศัพท์ให้เสียงชัดๆ ต้องไปคุยที่ไหน และมีการใช้หาตำแหน่ง Wi-fi Hotspot ว่ามีจุดไหนของเมืองที่สามารถไปใช้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายได้บ้าง

ในอเมริกามีการใช้ Google Map เพื่อหาเส้นทางการเดินทางที่ดีที่สุด จะได้วางแผนก่อนที่จะเดินทางได้

มีการใช้เก็บสถิติเหตุอาชญากรรม ไฟไหม้ และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ แล้วแสดงออกมาเป็นแผนที่ให้เห็น ผมว่า สสส. น่าจะนำไปใช้รณรงค์ช่วงสงกรานต์ได้เลย ทำแผนที่โชว์เลยว่าตอนนี้มีใครตายใครเจ็บที่ถนนเส้นไหนบ้าง

ส่วนในไทยก็มีแผนที่โรงพยาบาล แผนที่ร้านอาหารอร่อยๆ ในเยาวราช และแผนที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ

หรืออาจจะเอามาใช้เล่นสนุกๆ ก็ได้ อย่างเว็บกระปุกที่มีบริการกระปุกเจี๊ยวจ๊าว ให้คนเข้ามาแชทคุยกัน โดยมีแผนที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่กำลังแชทอยู่ ออนไลน์จากที่ไหนในประเทศ

ในอนาคตคงจะมี Application แปลกๆ ให้เห็นอีกมากมาย แต่แค่การใช้งานแบบพื้นฐานก็เยี่ยมมากแล้ว

วันนี้แม่ผมถามว่าโรงแรม InterContinental อยู่ตรงไหนของชิดลม ตอนแรกผมเองก็นึกไม่ออกเหมือนกัน รู้จักแต่ชื่อ แต่จำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน แม่ก็ไปเปิดสมุดหน้าเหลืองเพื่อจะหาเบอร์โทรของโรงแรม จะได้โทรไปถาม ส่วนผมเปิด Google Map เพียงอึดใจเดียวก็เรียกแม่มาดูภาพหลังคาตึกโรงแรม

งานสัมมนา Next E-Business Model 2.0

โครงการสัมมนา ม.รังสิต และ บริษัท ไทยเวนเจอร์ดอท คอม จำกัด
เรื่อง Next E-Business Model 2.0
วัน/เวลา เสาร์ 9 มิถุนายน 2550 13.00 -16.30 น.
สถานที่ ณ ศูนย์ศึกษาสาธรธานี ม.รังสิต อาคารสาธรธานี ชั้น 7 ห้อง 701
จัดโดย มหาวิทยาลัยรังสิต และ บริษัทไทยเวนเจอร์ ดอท คอม จำกัด

หลักการและเหตุผล

มหาวิทยาลัยรังสิต และ บริษัทไทยเวนเจอร์ ดอทคอมจำกัด มีความประสงค์ให้บริการความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต โดยหัวข้อนี้เน้นไปที่เรื่องของ โมเดลธุรกิจของอินเทอร์เน็ต

ความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจบนโลกอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนไปเริ่มมีศัพท์ใหม่ว่า Web 2.0 ทำให้โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไป คนยุคเก่าบนโลกอินเทอร์เน็ต 1.0 ปรับเปลี่ยนตัวเองไม่ทัน และปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่สร้างธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตด้วยความรู้ทางเทคโนโลยี ด้วยการสร้างโมเดลธุรกิจจาก Web 2.0 , ตัวแทนการขายสินค้า (affiliate program) , การนำโฆษณามาติดที่เว็บไซค์ (google adsense) มีคนไทยที่ประสบความสำเร็จจากรูปแบบดังกล่าวและให้ความรู้ในวงกว้างมาแล้ว

การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความรู้ได้รับการยอมรับว่าเก่งที่สุดและอยู่แนวหน้าในระดับประเทศ และมีความสามารถทัดเทียมกับชาวต่างประเทศเพราะสามารถแข่งขันธุรกิจนี้กับชาวต่างประเทศ โดยแต่ละท่านจะมาแบ่งปันประสบการณ์ในการปรับเปลี่ยน Business Model , เทคนิคการแสวงหาความรู้บนโลกอินเทอร์เน็ต , รูปแบบธุรกิจแห่งอนาคต , รายได้จากสินค้าที่เป็น digital มีอะไรบ้าง , การสร้างชุมชนออนไลน์ , การสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ในธุรกิจ , การเบียดแย่งชิงพื้นที่จากรายเก่า , กลยุทธ์การสู้กับฝรั่ง , ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้โมเดลเปลี่ยน , โอกาสของตลาดใหม่ , การบริหารทีมงานในต่างประเทศ

เชื่อว่าการสัมมนาครั้งนี้เป็นสุดยอดการรวมของผู้ประสบความสำเร็จที่เป็นแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย และการสัมมนาครั้งนี้จะทำให้คนไทยได้รับความรู้บนโลกอินเทอร์เน็ตเท่าทันและสามารถแข่งขันกับชาวต่างประเทศได้

จุดประสงค์

  1. บริการวิชาการให้กับผู้สนใจ ซึ่งเนื้อหาของการบรรยายหาฟังได้ยาก
  2. เพื่อให้รู้จักแนวคิดของโมเดลทางธุรกิจบนโลกอินเทอร์เน็ต
  3. เชื่อมโยงสร้างองค์ความรู้อินเทอร์เน็ตให้กับสังคมไทย
  4. เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผู้ประกอบการใหม่
  5. เป็นการส่งเสริมผู้ที่ประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ได้รู้จักและนำวิธีการทำงานความสำเร็จไปประยุกต์ใช้กับชีวิตส่วนตัวและธุรกิจ
  6. องค์ความรู้ในการสัมมนาเป็นการป้องกันความเสี่ยงสำหรับการเริ่มธุรกิจบนโลกอินเทอร์เน็ต

กลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนา

  • กลุ่มผู้สนใจที่ธุรกิจบนโลกอินเทอร์เน็ต
  • ภาคเอกชนที่ต้องการฟังโมเดลใหม่ ๆ บนธุรกิจอินเทอร์เน็ต

วิทยากร

  • ปรเมศวร์ มินสิริ กรรมการผู้จัดการ บัณฑิตเซ็นเตอร์ จำกัด และ ผู้บริหาร Kapook.com
  • อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจออนไลน์ ทีมงานรุ่นบุกเบิกผู้วางระบบให้ Pantip.com
  • ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ (โซวบักท้ง) ผู้ก่อตั้ง ThaiSEOBoard.com เจ้าพ่อ google adsense หมายเลขหนึ่งของประเทศไทย
  • ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้แต่งหนังสือ Google Make Me Rich

กำหนดการ

12.30 – 13.00 ลงทะเบียน

13.10 – 13.15 ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายการตลาด มหาวิทยารังสิต และ ไทยเวนเจอร์ดอทคอม จำกัด กล่าวต้อนรับและวัตถุประสงค์ของการจัดงานสัมมนา

13.15 – 13.40 วิเคราะห์เจาะลึก e-Business Model ที่อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ชื่อดังของไทยและของโลก ด้วยทฤษฎีจากหลักสูตร MBA โดย อภิศิลป์ ตรุงกานนท์

13.40 – 14.30 Web 2.0 Next Internet Business Model เก็บตกประสบการณ์จากงาน Web 2.0 Expo ที่สหรัฐอเมริกา โดย ปรเมศวร์ มินสิริ

14.30 – 14.50 พักรับประทานอาหารว่าง

14.50 – 15.30 โมเดลธุรกิจออนไลน์ ตัวแทนการขายสินค้าบนโลกอินเทอร์เน็ต Affiliate โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้แต่งหนังสือ Google Make Me Rich

15.30 – 16.10 โมเดลธุรกิจออนไลน์ การหารายได้จากโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต (Google adsense) โดย โซวปักท้ง ผู้ก่อตั้งเว็บไซค์ Thaiseoboard.com และ เจ้าพ่อ Google Adsense หมายเลขหนึ่งของไทย

16.10 – 16.30 ตอบคำถาม และร่วมสนุกแจกของรางวัล

งานนี้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ใครสนใจร่วมงาน ลงทะเบียนที่ http://www.thaiventure.com/seminars_detail.php?No=79 ได้เลยครับ

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Notifier2 เช็ค mail มาใหม่ทั้ง Hotmail, Yahoo!, Gmail แถมเช็คคลิกใน AdSense ได้อีกต่างหาก

ผมเชื่อว่าหลายๆ คนมี free e-mail เยอะมาก ส่วนตัวผมเองมี 1 Hotmail 2 Yahoo! Mail และ Gmail อีกเท่าไหร่ไม่รู้ ขี้เกียจนับ

mail ที่ผมเช็คบ่อยที่สุดก็คือ Hotmail เนื่องจากผมใช้ Windows Live Messenger ด้วย ซึ่งโปรแกรมจะช่วยเตือนทันทีที่มี e-mail ใหม่เข้ามา ทำให้ผมสามารถ take action ได้ทันที

ทีนี้ผมก็ใช้ Yahoo! Mail ด้วย ซึ่งเป็น mail ที่ผมใช้ก่อนจะย้ายมาใช้ Hotmail แทน ผมคงจะไม่ใช้ Yahoo! Mail ถ้าเพื่อนสมัยเรียนมัธยมกับปริญญาตรีไม่ใช้ Yahoo! Group กัน ตอนนี้นานๆ ผมถึงจะเข้าไปเช็ค Yahoo! Mail ที เพื่อดูว่าเพื่อนๆ คุยอะไรกันบ้าง

ส่วน Gmail นี่ใช้เยอะมาก มีทั้งที่ใช้ส่วนตัว เอาไว้รับไฟล์ใหญ่ๆ จากเพื่อนโดยเฉพาะ มีที่ใช้เป็นบัญชี PayPal เอาไว้รับจ่ายเงิน แถมมีที่ไปทำ Google Apps ไว้อีก ซึ่งปกติแล้วก็ไม่ค่อยได้เข้าไปเช็คหรอกครับ

แต่วันนี้ผม setup เว็บไซต์ตัวหนึ่งขึ้นมา เป็นเว็บไซต์ที่ตั้งใจจะเอามาใช้ทำธุรกิจ ซึ่งผมเสียเงินจดโดเมนเพียงอย่างเดียว ส่วนระบบของเว็บไซต์ทั้งหมด ผมใช้ Google Apps (ไว้วันหลังจะเล่ารายละเอียดอีกที) รวมถึง e-mail ของเว็บไซต์นี้ด้วย

ปัญหาเกิดขึ้นเลยครับ ผมเซ็ต e-mail ตัวหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้รับออเดอร์จากลูกค้าโดยเฉพาะ และผมตั้งใจว่าจะตอบ e-mail ลูกค้าให้เร็วที่สุด แต่การใช้ Gmail โดยที่ไม่ได้ใช้ Google Talk ด้วย มันทำให้ผมไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามี e-mail ใหม่เข้ามาหรือเปล่า นอกจากจะเข้าเว็บ Gmail หรือไม่งั้นก็ต้อง forward mail มาที่ Hotmail แทน

ผมก็เลยหาโปรแกรมที่จะช่วยเตือนผมเวลามี e-mail ใหม่เข้ามา คล้ายๆ กับที่ Windows Live Messenger ช่วยเตือน ซึ่งก็ไปเจอ Gmail Notifier เข้า เป็นโปรแกรมของ Google ที่ช่วยแจ้งเตือนเวลามี e-mail ใหม่ ผมก็ดาวน์โหลดมา แต่ลองใช้ดูแล้วรู้สึกไม่ถูกใจ เพราะผมหาที่ตั้งค่า e-mail address ที่ผมต้องการให้เช็คไม่เจอครับ

ผมเลยนึกดูว่ามันน่าจะมีใครที่ทำซอฟท์แวร์คล้ายๆ แบบนี้ออกมา แต่สามารถเช็คได้ทั้ง Gmail, Hotmail และ Yahoo! Mail ก็เลยไปเจอเข้ากับ Notifier2 ที่มีฟีเจอร์ตามที่ผมต้องการ แถมยังใช้เช็คยอดคลิกและยอดเงิน AdSense ของคุณได้อีกต่างหาก

Notifier Screenหน้าตาของโปรแกรม ผมได้เพิ่ม e-mail เข้าไปสองรายการ และ AdSense อีกหนึ่งรายการ วันนี้ยังไม่มีคนคลิก AdSense ของผมเลยครับ ส่วน e-mail มี 1 ข้อความใหม่

Click Previewถ้าคลิกขวาที่ e-mail address แล้วคลิกที่ Preview

Subject Previewโปรแกรมก็จะแสดง subject ของ e-mail ให้ดู

Click GDriveถ้าใช้ Gmail ก็สามารถคลิกขวาแล้วเลือก GDrive ได้

GDrive Filesโปรแกรมจะแสดง attachment ที่อยู่ใน Gmail ให้ดู ซึ่งสามารถ double click ที่ชื่อไฟล์เพื่อเปิดดูไฟล์ได้เลย

คุณสามารถดาวน์โหลดโปรแกรม Notifier2 ได้ฟรีที่ http://www.notifier2.com/download.htm นอกจากนี้ยังมีเวอร์ชั่นเสียเงิน $9.99 ซึ่งมีความสามารถที่สูงกว่าครับ

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เวียดนามน่ากลัวแค่ไหน ลองดู Asia Internet Usage Stats สิ

ในเว็บไซต์ Asia Internet Usage Stats and Population Statistics ได้ทำการสำรวจจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชีย ผลออกมาว่าคนฮ่องกงมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศสูงถึง 68.2% รองมาคือญี่ปุ่น 67.1% เกาหลีใต้ 66.5% สิงคโปร์ 66.3% และไต้หวัน 63.0%

แต่ที่น่าสนใจก็คือเวียดนามมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 17.5% ของประชากรทั้งประเทศ โดยในปี 2000 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 200,000 คน แต่ในปี 2007 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 14,913,652 คน หรือเติบโต 7,356.8%

ขณะที่ไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 12.5% โดยในปี 2000 มีจำนวนผู้ใช้ 2,300,000 คน และในปี 2007 มีผู้ใช้ 8,420,000 เติบโต 266.1%

เกิดอะไรขึ้นครับ? ทำไมจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของเวียดนามถึงได้แซงหน้าประเทศไทยไปได้ขนาดนี้?

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Google Thailand Celebrity เมื่อ Google ตัดคำภาษาไทยได้ เรามาลองเล่นอะไรสนุกๆ กันดีกว่า

ก่อนหน้านี้ที่ Google ยังตัดคำภาษาไทยไม่ได้ ถ้าเราค้นคำว่า "รถยนต์" เราจะไม่พบเว็บที่มีประโยคว่า "รถยนต์สีดำ" แต่จะพบเว็บที่มีประโยคว่า "รถยนต์ สีดำ" สองเว็บนี้ต่างกันนิดเดียวคือเว็บแรกเขียนติดกัน แต่เว็บที่สองเขียนโดยมีเว้นวรรคระหว่างคำว่ารถยนต์กับสีดำ ซึ่ง Google เคยมองว่าเว็บแรกไม่มีรถยนต์ แต่เว็บหลังมีรถยนต์

เหตุการณ์ในตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะค้นคำว่า "รถยนต์" หรือ "รถยนต์ สีดำ" คุณจะเจอทั้ง "รถยนต์สีดำ" และ "รถยนต์ สีดำ"

ผมเป็นคนที่ชอบใช้ Google ค้นหาชื่อนามสกุลของเพื่อนผมมาก (นิสัยไม่ดีครับ ชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องคนอื่น) ซึ่งสมัยก่อนมักจะค้นไม่ค่อยพบเท่าไรนัก ก็เพราะเว็บส่วนใหญ่จะเขียนคำนำหน้าชื่อติดกับชื่อเลย เช่น "นางสาวสมหญิง" "นางสมหญิง" "คุณสมหญิง" ซึ่งถ้าผมค้นแค่ "สมหญิง" เฉยๆ ผมจะไม่เจอเว็บเหล่านี้

แต่พอ Google ตัดคำภาษาไทยได้ ผมก็เริ่มสนุกกับการใช้งาน Google มากขึ้นครับ

ก็เลยลองเล่นอะไรสนุกๆ ดู ด้วยการนำชื่อนามสกุลของบุคคลที่มีชื่อเสียงของไทยจากแวดวงต่างๆ มาค้นใน Google เพื่อดูว่ามีเว็บไซต์ที่มีชื่อของบุคคลเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน เรียกว่าวัดกันไปเลยว่าใครคือ Google Thailand Celebrity บ้าง

วิธีที่ผมค้นหา ผมจะระบุคำค้นในรูปแบบ "ชื่อ นามสกุล" โดยมีเครื่องหมายคำพูดเปิดและปิดด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นชื่อและนามสกุลของคนคนเดียวกัน ไม่งั้น Google อาจจะไปเอาชื่อของคนนึงมากับนามสกุลของอีกคนมา และผมจะไม่ระบุคำนำหน้าชื่อ ยศ หรือตำแหน่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็น นาย พลตำรวจเอก คุณหญิง หรือหม่อมหลวง ทั้งนี้เพื่อให้ค้นเจอผลลัพธ์ที่แท้จริงครับ

ช่วงเวลาที่ผมเก็บข้อมูลเหล่านี้ คือวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 2550 เวลา 06.00 น. ครับ

แวดวงการเมือง

  1. ทักษิณ ชินวัตร 842,000 ผลลัพธ์
  2. สุรยุทธ์ จุลานนท์ 285,000 ผลลัพธ์
  3. สนธิ ลิ้มทองกุล 201,000 ผลลัพธ์
  4. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 179,000 ผลลัพธ์
  5. สนธิ บุญยรัตกลิน 157,000 ผลลัพธ์
  6. จาตุรนต์ ฉายแสง 151,000 ผลลัพธ์
  7. อภิรักษ์ โกษะโยธิน 146,000 ผลลัพธ์
  8. ชวน หลีกภัย 121,000 ผลลัพธ์
  9. วิษณุ เครืองาม 96,200 ผลลัพธ์
  10. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 87,800 ผลลัพธ์
  11. กรณ์ จาติกวณิช 78,700 ผลลัพธ์
  12. สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 67,100 ผลลัพธ์
  13. บรรหาร ศิลปอาชา 65,900 ผลลัพธ์
  14. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย 63,100 ผลลัพธ์
  15. สมศักดิ์ เทพสุทิน 57,100 ผลลัพธ์
  16. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 53,600 ผลลัพธ์
  17. สุวัจน์ ลิปตพัลลภ 53,800 ผลลัพธ์
  18. จำลอง ศรีเมือง 48,700 ผลลัพธ์
  19. เนวิน ชิดชอบ 44,800 ผลลัพธ์
  20. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 42,100 ผลลัพธ์
  21. สมัคร สุนทรเวช 37,800 ผลลัพธ์
  22. โภคิน พลกุล 37,200 ผลลัพธ์
  23. เสนาะ เทียนทอง 35,500 ผลลัพธ์
  24. ยงยุทธ ติยะไพรัช 34,900 ผลลัพธ์
  25. สุริยะใส กตะศิลา 33,400 ผลลัพธ์
  26. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ 33,300 ผลลัพธ์
  27. แก้วสรร อติโพธิ 31,200 ผลลัพธ์
  28. สุเทพ เทือกสุบรรณ 31,100 ผลลัพธ์
  29. จารุวรรณ เมณฑกา 29,600 ผลลัพธ์
  30. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 28,600 ผลลัพธ์
  31. องอาจ คล้ามไพบูลย์ 27,700 ผลลัพธ์
  32. สุรนันทน์ เวชชาชีวะ 27,200 ผลลัพธ์
  33. ปวีณา หงสกุล 23,800 ผลลัพธ์
  34. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ 22,300 ผลลัพธ์
  35. อลงกรณ์ พลบุตร 22,300 ผลลัพธ์
  36. สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล 22,100 ผลลัพธ์
  37. จักรภพ เพ็ญแข 22,000 ผลลัพธ์
  38. สนั่น ขจรประศาสน์ 21,900 ผลลัพธ์
  39. วันมูหะมัดนอร์ มะทา 21,300 ผลลัพธ์
  40. วีระ มุสิกพงศ์ 20,400 ผลลัพธ์
  41. บัญญัติ บรรทัดฐาน 16,700 ผลลัพธ์
  42. ศิธา ทิวารี 16,500 ผลลัพธ์
  43. จตุพร พรหมพันธุ์ 15,200 ผลลัพธ์
  44. เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ 11,300 ผลลัพธ์
  45. อรรคพล สรสุชาติ 10,700 ผลลัพธ์
  46. เฉลิม อยู่บำรุง 10,300 ผลลัพธ์
  47. ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ 730 ผลลัพธ์

หมายเหตุ อันดับไม่ได้บ่งบอกถึงความนิยมที่ประชาชนมีต่อบุคคลนั้นๆ แต่เป็นเพียงจำนวนเว็บเพจที่มีชื่อและนามสกุลของบุคคลนั้นๆ อยู่ และถูกทำดัชนีโดย Google

แวดวงธุรกิจ

  1. สุวรรณ วลัยเสถียร 96,000 ผลลัพธ์
  2. บุญคลี ปลั่งศิริ 87,000 ผลลัพธ์
  3. มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ 85,100 ผลลัพธ์
  4. เจริญ สิริวัฒนภักดี 85,000 ผลลัพธ์
  5. ปัญญา นิรันดร์กุล 82,600 ผลลัพธ์
  6. โอฬาร ไชยประวัติ 82,500 ผลลัพธ์
  7. ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม 82,300 ผลลัพธ์
  8. ศุภชัย เจียรวนนท์ 81,800 ผลลัพธ์
  9. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย 81,300 ผลลัพธ์
  10. ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ 81,300 ผลลัพธ์
  11. อนันต์ อัศวโภคิน 81,200 ผลลัพธ์
  12. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 80,700 ผลลัพธ์
  13. ก้องเกียรติ โอภาสวงการ 79,600 ผลลัพธ์
  14. ธนินท์ เจียรวนนท์ 79,600 ผลลัพธ์
  15. วิโรจน์ นวลแข 79,000 ผลลัพธ์
  16. บัณฑูร ล่ำซำ 78,600 ผลลัพธ์
  17. ชฎา วัฒนศิริธรรม 78,500 ผลลัพธ์
  18. สุรางค์ เปรมปรีดิ์ 78,300 ผลลัพธ์
  19. ตัน ภาสกรนที 77,900 ผลลัพธ์
  20. กนก อภิรดี 77,500 ผลลัพธ์
  21. ชาลอต โทณวณิก 77,500 ผลลัพธ์
  22. บุญชัย เบญจรงคกุล 77,300 ผลลัพธ์
  23. ประวิทย์ มาลีนนท์ 76,800 ผลลัพธ์
  24. ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ 75,800 ผลลัพธ์
  25. พาที สารสิน 73,700 ผลลัพธ์
  26. ศุภลักษณ์ อัมพุช 73,100 ผลลัพธ์
  27. โชค บูลกุล 72,900 ผลลัพธ์
  28. สมชาย ชีวสุทธานนท์ 72,900 ผลลัพธ์
  29. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 72,400 ผลลัพธ์
  30. สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล 72,000 ผลลัพธ์
  31. เสริมสิน สมะลาภา 71,700 ผลลัพธ์
  32. สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ 71,400 ผลลัพธ์
  33. ชฎาทิพ จูตระกูล 70,900 ผลลัพธ์
  34. เดช บุลสุข 70,900 ผลลัพธ์
  35. เฉลิม อยู่วิทยา 68,600 ผลลัพธ์

แวดวงสื่อสารมวลชน

  1. สุทธิชัย หยุ่น 159,000 ผลลัพธ์
  2. สรยุทธ สุทัศนะจินดา 87,100 ผลลัพธ์
  3. เทพชัย หย่อง 21,400 ผลลัพธ์
  4. สโรชา พรอุดมศักดิ์ 20,800 ผลลัพธ์
  5. พัชรศรี เบญจมาศ 14,300 ผลลัพธ์
  6. มีสุข แจ้งมีสุข 10,200 ผลลัพธ์
  7. ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช 6,390 ผลลัพธ์
  8. กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์ 2,380 ผลลัพธ์
  9. พิษณุ นิลกลัด 2,200 ผลลัพธ์
  10. กฤษณะ ไชยรัตน์ 1,740 ผลลัพธ์
  11. มัลลิกา บุญมีตระกูล 1,080 ผลลัพธ์
  12. กนก รัตน์วงศ์สกุล 865 ผลลัพธ์
  13. ธีระ ธัญไพบูลย์ 858 ผลลัพธ์
  14. วันชัย สอนศิริ 825 ผลลัพธ์
  15. กิตติ สิงหาปัด 716 ผลลัพธ์
  16. สายสวรรค์ ขยันยิ่ง 709 ผลลัพธ์
  17. นารากร ติยายน 699 ผลลัพธ์
  18. อรปรียา หุ่นศาสตร์ 651 ผลลัพธ์
  19. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล 641 ผลลัพธ์
  20. กฤติกา ศักดิ์มณี 616 ผลลัพธ์
  21. พิมลวรรณ ศุภยางค์ 570 ผลลัพธ์
  22. เอกราช เก่งทุกทาง 561 ผลลัพธ์
  23. ประวีณมัย บ่ายคล้อย 510 ผลลัพธ์
  24. ศศินา วิมุตตานนท์ 461 ผลลัพธ์
  25. วีณารัตน์ เลาหภคกุล 344 ผลลัพธ์

แวดวงไอที

  1. วันฉัตร ผดุงรัตน์ 71,700 ผลลัพธ์
  2. ยืน ภู่วรวรรณ 16,100 ผลลัพธ์
  3. ชีพธรรม คำวิเศษณ์ 11,800 ผลลัพธ์
  4. ปรเมศวร์ มินศิริ 9,860 ผลลัพธ์
  5. ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ 2,800 ผลลัพธ์
  6. พงษ์สุข หิรัญพฤกษ์ 935 ผลลัพธ์
  7. พงษ์ระพี เตชพาหพงษ์ 861 ผลลัพธ์
  8. ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ 791 ผลลัพธ์
  9. ต่อบุญ พ่วงมหา 386 ผลลัพธ์
  10. อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ 289 ผลลัพธ์

ชื่อสุดท้ายนี่สะเหร่อจริงๆ

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

อยากรู้จังว่าใครทำลิงค์ถึงเว็บไซต์เราบ้าง ใช้ Yahoo! Site Explorer สิ

บางคนบอกว่าทำไมต้องไปใช้ของ Yahoo! ด้วยล่ะ ในเมื่อเราสามารถใช้คำสั่ง link:mywebsite.com ใน Google เพื่อเช็คดูว่ามีเว็บไหนที่ทำลิงค์ถึงเว็บเราบ้าง

ผมลองใช้ Google หาคำว่า link:blog.macroart.net ปรากฎว่า Google บอกว่า "ผลการค้นหา - link:blog.macroart.net - ไม่ตรงกับเอกสารใดๆ"

เอาใหม่ครับ คราวนี้ลองหาคำว่า blog.macroart.net เฉยๆ ปรากฎว่า Google หาพบถึง 131 รายการ ซึ่งกระจายอยู่ตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่ผมไปโปรโมทบล็อกของตัวเองเอาไว้

นั่นแสดงว่า link popularity database ของ Google ไม่ค่อยจะอัพเดทสักเท่าไหร่

หรือบางคนอาจจะบอกว่าเว็บไซต์ตัวเองติด Statistics Tool ที่สามารถเช็คได้ว่ามี traffic วิ่งมาจากเว็บไหนบ้าง แล้วสมมุติว่าคุณอยากรู้ว่าเว็บอื่นที่คล้ายๆ กับเว็บคุณเขาได้ traffic มาจากที่ไหนบ้างล่ะ แต่คุณก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปดูสถิติของเว็บนั้น

Yahoo! มีเครื่องมือตัวหนึ่งชื่อ Yahoo! Site Explorer ที่ช่วยให้คุณทราบได้ว่ามีใครลิงค์มาถึงคุณบ้าง ด้วยวิธีง่ายๆ เพียงคุณระบุ URL ของเว็บไซต์คุณลงไป จากนั้นคลิกปุ่ม Explorer URL เมื่อได้ผลลัพธ์ออกมาแล้วก็ให้คลิกที่ Inlinks อีกที แค่นี้คุณก็จะทราบแล้วว่ามีคนนิยมเว็บของคุณมากแค่ไหน

นอกจากใช้ดูว่ามีใครลิงค์ถึงเว็บเราบ้าง ผมยังชอบใช้ดูว่าเว็บที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กับเว็บของผม เขาถูกลิงค์มาจากที่ไหนบ้าง ซึ่งบางที่ก็เป็นพวก Web Directory ที่เราสามารถ submit เว็บของตัวเองลงไปได้ ผมก็มักจะตามไป submit เว็บของผมบ้างครับ

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Clinic Clear For Men สอนจีบสาว

ได้เห็นโฆษณาในโต๊ะศุภชลาศัย เว็บพันทิป เป็นข้อความจีบหญิงแบบน้ำเน่าๆ เห็นแล้วก็สงสัยว่าเขาขายสินค้าอะไรกันแน่ หนังสือสอนจีบสาวเหรอ? พอคลิกเข้าไปดูถึงได้ร้องอ๋อว่ามันคือโฆษณาแชมพู Clinic Clear For Men แต่ก็ยังสงสัยอยู่ดีนั่นแหละว่าแชมพูมาเกี่ยวอะไรกับจีบสาว แล้วทำไมถึงมาโฆษณาแชมพูในโต๊ะศุภชลาศัยซึ่งคนเล่นส่วนใหญ่เป็นคนชอบกีฬา

Clinic Clear Ads in Pantip.comอู่ย... เน่าเชียว

เมื่อปีที่แล้วหลายคนคงเคยเห็น (และอาจจะเคยเล่น) แคมเปญ ClickSpray ของ Axe ซึ่งเป็นเกมบนเว็บที่คุณรับบทหนุ่มเจ้าเสน่ห์ที่สาวๆ ต่างเหลียวมองจนคุณต้องใช้ Clicker เพื่อนับว่ามีสาวมาหลงเสน่ห์คุณกี่คน

มาปีนี้ เรามีเกมแนวนี้มาให้เล่นกันอีกแล้ว คุณต้องสวมบทบาทหนุ่มมาดเข้มที่ไปปิ๊งสาวหมวยขาวชื่อมิมิเข้า และคุณจะต้องหาทางจีบเจ้าหล่อนให้ติดให้ได้ โดยที่คุณจะมีซือเจ๊เสื้อดำที่คอยให้คำแนะนำด้านความดูดีในแบบผู้ชาย

Clinic Centerน้องมิมิกำลังคุยโทรศัพท์กับคุณอย่างสวีทหวานแหวว

ก่อนที่คุณจะไปหาเธอ คุณก็จะต้องวางแผน Date Planning ก่อนว่าจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เช่น ต้องเตรียมเสื้อผ้าที่คิดว่าเหมาะสม เตรียมเรื่องตลกๆ ไปพูดคุยกับเธอ หรือเตรียมหาซื้อของขวัญน่ารักๆ ให้เธอ

ในการวางแผนนั้น คุณจะต้องมีเครดิตที่ใช้เพื่อซื้อของต่างๆ ซึ่งในเกมก็จะมี Credits Room ให้คุณเข้าไปเล่นเกมสะสมแต้มเอาไว้ซื้อของ

นอกจากการวางแผนจีบแล้ว ก็จะต้องเตรียมร่างกายให้ดูดีโดยเข้าไปในห้อง Grooving Room เพื่ออาบน้ำให้สะอาด เลือกใส่เสื้อผ้าและถุงเท้าใหม่ๆ ที่สำคัญก็คืออย่าลืมใช้แชมพูสระผม Clinic Clear

ส่วนห้อง Special Items เอาไว้สำหรับใช้เครดิตเพื่อซื้อสินค้าของน้องมิมิ อย่างเช่นวอลเปเปอร์สุดน่ารัก หรืออัลบั้มภาพเบื้องหลังการถ่ายทำน้องมิมิ

Credits Room

ในการสะสมเครดิต คุณจะต้องเล่นเกมซึ่งมีให้เลือกสองเกม คือ Slot Machine ที่เน้นใช้ดวงเป็นหลักเพื่อโยก Slot ให้มีรูปตรงกันสามรูป กับเกม Dressup ที่ให้คุณแต่งตัวให้เหมาะสมกับกาละเทศะเวลาที่ต้องไปออกเดทกับน้องมิมิ

Clinic Check Point

พอคุณจะไปออกเดทกับน้องมิมิ ซือเจ๊เสื้อดำก็จะตรวจเช็คบุคลิกภาพของคุณ ถ้าคุณเตรียมตัวมาสมบูรณ์แบบ ก็จะได้รับคะแนนไป 500 คะแนนเต็ม

Take action with Mimi

เวลาที่คุณเดทกับน้องมิมิ คุณจะได้เจอสถานการณ์ต่างๆ ที่จะต้องตัดสินใจ โดยเกมจะมีตัวเลือกให้คุณ 3 ทาง ถ้าคุณเลือกวิธีที่ถูกต้อง ก็จะได้รับคะแนนจากสถานการณ์นั้นๆ และคุณก็จะได้เข้าใจด้วยว่าถ้าได้เจอสถานการณ์จริงแบบนี้ คุณควรปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไร

จากแคมเปญนี้ จะสังเกตได้ว่า Clinic Clear พยายามทำ STP หรือ Segmentation, Targeting, Positioning ให้กับสินค้าของตัวเองให้ชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่ลูกค้ารับรู้อย่างกว้างๆ ว่า Clinic Clear คือแชมพูขจัดรังแค แต่ในครั้งนี้ Clinic Clear กำลังบอกว่าลูกค้าของพวกเขาคือผู้ชาย อยู่ในวัยที่ยังมีความกระชุ่มกระชวยในการจีบหญิง ช่วงอายุก็คงอยู่ราวๆ 15 - 40 ปี ใส่ใจกับความดูดีของตัวเอง ต้องการพัฒนาบุคลิกภาพของตัวเองให้ดีขึ้น ชอบความทันสมัย ชอบออกกำลังกาย และเป็นคนมีเหงื่อค่อนข้างเยอะ

เมื่อระบุออกมาแล้วว่าลูกค้าเป้าหมายมีลักษณะแบบนี้ แคมเปญเกมบนเว็บก็เลยเป็นเกมจีบสาว โดยแฝงการรับรู้ตราสินค้าของ Clinic Clear ลงไป และสอนให้ลูกค้ารับรู้ว่า Clinic Clear นอกจากจะช่วยขจัดรังแคแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสะอาด สดชื่น ลดการขาดร่วงของเส้นผม ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าได้

และนั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมโฆษณาของ Clinic Clear ถึงไปโผล่อยู่ในโต๊ะศุภชลาศัยได้

จะเห็นได้ว่าการทำ STP นอกจากจะช่วยให้รู้ว่าใครคือลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้บริษัทสามารถวางกรอบการใช้งบโฆษณาให้เฉพาะเจาะจงได้ด้วย โดยที่ไม่ต้องโฆษณาแบบหว่านแหให้เปลืองงบไปเปล่าๆ

สนใจเล่นเกมนี้ได้ที่ http://www.clinicclearformen.com/

วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

The Retail World Is Flat ใครว่าโลกค้าปลีกกลม

ใครที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือ The World Is Flat ใครว่าโลกกลม มาแล้ว คงจะทราบดีว่า Thomas L. Friedman ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถึงกำแพงที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการแข่งขันระหว่างประเทศได้ลดต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องมาจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต จึงส่งผลให้งานด้านบริการจากประเทศฝั่งตะวันตกที่มีค่าครองชีพสูง ไหลไปอยู่ที่ประเทศอินเดียที่มีค่าครองชีพต่ำกว่า งานไหนที่สามารถแปลงให้เป็นดิจิตอลได้ งานนั้นจะถูก Outsource ไปที่อินเดียทันที

แต่นอกจากการ Outsource ภาคการผลิตไปที่จีน และการ Outsource ภาคบริการไปที่อินเดียวแล้ว ผมมองว่ายังมีอุตสาหกรรมที่สำคัญอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงมากนัก แต่มันก็เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังแบนราบลง นั่นก็คืออุตสาหกรรมค้าปลีก

ธุรกิจค้าปลีกเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เนื่องจากประชาชนมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในชีวิตประจำวัน คงไม่น่าพิสมัยนักถ้าเราต้องเดินทางไปฟาร์มเลี้ยงวัวเพื่อซื้อนม จากนั้นไปฟาร์มเลี้ยงไก่เพื่อซื้อไข่ แล้วจึงไปโรงงานเพื่อซื้อสบู่ก้อน ถึงแม้ว่าเราจะซื้อสินค้าได้ในราคาโรงงาน (P1) แต่ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเข้าถึงแหล่งสินค้า เช่น ค่าค้นหาผู้ผลิตสินค้าที่ต้องการ ค่าเดินทาง หรือที่เราเรียกต้นทุนเหล่านี้ว่า Transaction cost (T1) จะสูงมาก

ร้านค้าปลีกจึงเกิดขึ้นเพื่อรวบรวมสิ่งของที่เราจำเป็นต้องซื้อหามาไว้ในที่เดียวกัน ในที่ที่อยู่ใกล้กับบ้านของเรา ทั้งนี้ก็เพื่อลด Transaction cost (T2) ให้น้อยลง ถึงแม้ว่าราคาสินค้าที่ร้านค้าปลีกจะสูงกว่าราคาสินค้าจากโรงงานอยู่บ้าง (P2 = P1+T3) เนื่องจากร้านค้าปลีกก็ต้องมีต้นทุน Transaction cost เหมือนกัน รวมถึงต้องมีกำไรจากการทำธุรกิจด้วย แต่ท้ายที่สุดแล้ว การที่เราเลือกใช้บริการร้านค้าปลีก แทนที่จะไปซื้อสินค้าจากโรงงานโดยตรง ก็เพราะต้นทุนรวมที่ซื้อจากร้านค้าปลีกต่ำกว่าต้นทุนรวมของการซื้อจากโรงงานนั่นเอง (T2+P2 < T1+P1)

ธุรกิจค้าปลีกอยู่ได้ก็เพราะมันช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าให้เรานั่นเอง สินค้าที่ธุรกิจค้าปลีกขายจึงไม่ใช่เพียงเครื่องอุปโภคบริโภค แต่พวกเขากำลังขาย "ความสะดวก"

แต่ถ้าความสะดวกนี้ถูกคุกคามด้วยความสะดวกในรูปแบบใหม่ล่ะ?

ความสะดวกรูปแบบใหม่นี้ก็คือการที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน เพียงแต่นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ค้นหาสินค้าที่ต้องการบนอินเทอร์เน็ต ทำการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ และนั่งรอให้สินค้ามาส่งถึงหน้าบ้าน ทำให้ Transaction cost T4 ของเราต่ำมากเมื่อเทียบกับ Transaction cost T2 ที่เกิดขึ้นจากการออกไปซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีก

ส่วนต้นทุนของการเปิดร้านบนอินเทอร์เน็ตก็ต่ำกว่าต้นทุนของการเปิดร้านค้าปลีกเช่นกัน ทำให้ราคาขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ต (P3) ต่ำกว่าราคาขายที่ร้านค้าปลีก (P2)

คำนวณออกมาเบ็ดเสร็จแล้ว เงินที่ต้องจ่ายไปเพื่อซื้อสินค้าบนอินเทอร์เน็ต กลับถูกกว่าเงินที่จ่ายเพื่อซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ต้องรวมค่าเดินทางไปกลับด้วย (T4+P3 < T2+P2) ธุรกิจ E-commerce ก็เลยเกิดขึ้น และเริ่มเข้ามาทดแทนร้านค้าปลีกในบางส่วนแล้ว

กำแพงการแข่งขันเริ่มลดต่ำลง ถ้าคุณอยากเป็นเจ้าของร้านค้าปลีก คุณต้องมีเงินทุนก้อนหนึ่งสำหรับเช่าร้าน ตกแต่งร้าน ซื้ออุปกรณ์ภายในร้าน และอาจจะต้องจ้างพนักงานเฝ้าร้าน แต่ถ้าคุณอยากเปิดร้านบนอินเทอร์เน็ต เงินที่จะต้องใช้เปิดร้านจะต่ำมาก เพียงเดือนละไม่กี่ร้อยบาทก็ทำได้แล้ว คุณจะมีเงินเหลือไปใช้สำหรับการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ของคุณให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งมีทั้งวิธีที่ต้องใช้เงินและวิธีที่ไม่ต้องใช้เงิน

เมื่อใครๆ ก็สามารถเปิดร้านค้าบนอินเทอร์เน็ตได้ ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก แถมลูกค้ายังมาจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ใช่ลูกค้าที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงเพียงอย่างเดียว นั่นจึงทำให้ใครต่อใครแห่เข้ามาสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกัน โลกค้าปลีกที่เคยกลมและมีอุปสรรคขัดขวางการแข่งขันก็เริ่มแบนราบลง คุณไม่ได้แข่งขันกับร้านค้าปลีกในละแวกใกล้เคียงอีกแล้ว แต่คุณกำลังแข่งขันกับคนอเมริกา คนยุโรป คนฮ่องกง คนสิงคโปร์ ฯลฯ

ปัจจัยที่ทำให้โลกค้าปลีกแบนราบลงมีทั้งหมด 4 ปัจจัย

  1. การแผ่ขยายของอาณาจักรอินเทอร์เน็ต ความนิยมในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งโลก ทำให้มีผู้ที่มีกำลังซื้อ เมื่อมีผู้ซื้อ ก็นำมาซึ่งผู้ขาย ต้นทุนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ Transaction cost ของการซื้อของบนอินเทอร์เน็ตลดต่ำลง ห่างจาก Transaction cost ของการซื้อผ่านร้านค้าปลีกไปเรื่อยๆ
  2. ระบบการชำระเงินที่เชื่อถือได้มากขึ้น อีคอมเมิร์ซคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากวิธีการเก็บเงินจากผู้ซื้อมามอบให้ผู้ขาย บัตรเครดิต ธนาคารบนอินเทอร์เน็ต การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ PayPal สิ่งเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนโลกค้าปลีกออนไลน์
  3. ต้นทุน Logistics ที่ถูกลง การบริหารระบบ Logistics ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ค่าส่งสินค้าไปให้ลูกค้ามีราคาต่ำ และสามารถแข่งขันกับต้นทุนของลูกค้าที่จะต้องออกเดินทางมาหาซื้อสินค้าเองได้
  4. ช่องทางการโฆษณาออนไลน์ สิ่งที่ร้านค้าปลีกมีเหนือกว่าอีคอมเมิร์ซก็คือ ถ้าร้านค้าปลีกตั้งอยู่ในย่านชุมชนที่ผู้คนพลุกพล่าน ก็ไม่จำเป็นต้องมีงบโฆษณาให้คนรู้จักร้านก็ได้ แต่ร้านบนอินเทอร์เน็ตนั้นต่างออกไป ลูกค้าจะไม่มีทางรู้จักร้านของคุณเลยถ้าคุณเปิดเว็บไซต์โดดๆ โดยที่ไม่มีการโฆษณา การนำสินค้าไปขายบน eBay หรือการทำให้เว็บไซต์ของคุณปรากฎอยู่บน Google จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ถึงแม้ว่าโลกค้าปลีกเริ่มที่จะแบนราบลง แต่มันก็ยังไม่ครอบคลุมกับสินค้าทุกประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นพวกอาหารของสด สินค้าที่ค่าส่งแพงเมื่อเทียบกับราคาสินค้า สินค้าที่แตกเสียหายง่ายและไม่คุ้มที่จะทำ packaging อย่างดีเพื่อป้องกันสินค้า และสินค้าที่ต้องการการดมกลิ่น การลิ้มรส หรือการสัมผัส

ส่วนสินค้าที่ขายดีบนอินเทอร์เน็ตคือสินค้าที่ลูกค้ารู้จักดีอยู่แล้ว ไม่ต้องการการสัมผัสที่อินเทอร์เน็ตทำไม่ได้ เช่น หนังสือ ดีวีดี ซอฟท์แวร์ หรือสินค้าที่อาจจะต้องการการสัมผัส แต่สามารถใช้ข้อความและรูปภาพเพื่ออธิบายทดแทนการสัมผัสได้ เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ หรือสินค้ามียี่ห้อที่ลูกค้าคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น เครื่องสำอาง นาฬิกา กระเป๋า เป็นต้น

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Wii = Game Console + Abdominizer เมื่อเครื่องเล่นเกมทำหน้าที่เป็นเครื่องออกกำลังกาย

คุณเคยประสบปัญหาซื้อเครื่องออกกำลังกายมาใช้แค่ 3 วันก็เบื่อหรือเปล่า?

หรือคุณกำลังเซ็งกับเครื่องเล่นเกมเดิมๆ ที่คุณได้แต่นั่งจ้องหน้าจอแล้วกดจอยสติ๊กไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่?

ปัญหาของคุณได้รับการแก้ไขแล้ว MacroArt Direct ขอเสนอ Wii-dominizer เครื่องเล่นเกมที่ใช้เวลาเพียง 10 นาทีต่อวันก็จะช่วยให้หน้าท้องของคุณแบนราบ กล้ามแขนขึ้นเป็นมัดๆ รูปร่างของคุณจะดูดีเป็นที่สุด...

Nintendo Wii Controller - Wii-mote(รูป Wii-mote จากเว็บ gwn.com)

Nintendo Wii Controller - Wii-mote(รูป Wii-mote จากเว็บ gwn.com)

วันนี้มีโอกาสได้ลองเล่น Wii เป็นครั้งแรกครับ หลังจากที่เคยเห็นคลิปวิดีโอที่โชว์ความสามารถของเจ้าเครื่องเกมตัวนี้เมื่อปีกว่าที่ผ่านมาแล้ว ตอนที่ได้เห็นคลิปวิดีโอ ผมถามตัวเองว่า "นี่ใช่เครื่องเล่นเกมจริงๆ เหรอ?" ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นเครื่องออกกำลังกาย หรือเครื่องดนตรี หรือเครื่องหัดขับรถ หรือเครื่องหัดยิงปืน หรือเครื่องหัดฟันดาบ หรือเครื่องอะไรกันแน่???


วิดีโอคลิปตัวนี้ทำให้ผมอยากกลับมาเล่นเกมอีกครั้ง

เราเริ่มคุ้นชินกับการ Convergence ระหว่างโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล และ PDA แล้ว แต่นี่เรากำลังได้เห็นการ Convergence ของ Game Console กับเครื่องออกกำลังกาย

ผมถามตัวเองในใจ "Nintendo คิดได้ไงวะ?"

และผมกล้าฟันธงเลยนะว่าถ้าเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรม Game Console อย่าง Sony PlayStation ไม่รีบสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แบบนี้ออกมา Nintendo Wii จะกลายเป็นเบอร์หนึ่งในเร็วๆ นี้ ส่วน Microsoft Xbox นั้นไม่ต้องพูดถึงเลย

จากที่ได้เกริ่นไปว่าวันนี้ผมไปลองเล่น Wii มา เกมที่ผมเล่นเป็นเกมกีฬาที่มีทั้งหมด 5 เกม คือเกม ชกมวย เทนนิส เบสบอล โบว์ลิ่ง และ กอล์ฟ

ผมเริ่มทดลองเกมแรกด้วยการชกมวย วิธีการเล่นก็คือให้ถือเจ้า Wii-mote ซึ่งมีสองอัน มีสายเคเบิ้ลโยงถึงกัน จากนั้นก็แค่ต่อยลมออกไปครับ ง่ายๆ แค่นี้เลย เครื่องเกมจะรู้ว่ามือเราขยับไปทางไหน ตัวเราในเกมก็จะขยับตามไปด้วย จะฮุคหัว ฮุคท้อง ตั้งการ์ด มันทำเหมือนตัวเราจริงๆ เป๊ะ เกมชกมวยที่ผมเล่นมีทั้งหมด 3 ยก เรามีหน้าที่ชกคู่ต่อสู้ให้ล้มจนโดนนับ 3 รอบ ก็จะ TKO ขณะเดียวกันเราก็ต้องระวังไม่ให้คู่ต่อสู้มาน็อคเราด้วย เกม 3 ยกใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีครับ เล่นจบแล้วตัวผมเปียกโชกไปด้วยเหงื่อ ทั้งที่สถานที่ที่ผมเล่นคือ Central World ซึ่งแอร์เย็นเฉียบ เหลือเชื่อจริงๆ ว่าผมเล่นเกมแค่ไม่กี่นาทีแล้วรู้สึกเหนื่อยและปวดเมื่อยตามร่างกาย มันดีกว่าเจ้าเครื่องบริหารหน้าท้องที่บ้านผมอีกนะ

ส่วนเกมกีฬาตัวอื่นก็มีวิธีเล่นที่ไม่ยากเลย จับ Wii-mote เหมือนจับอุปกรณ์กีฬาชนิดนั้นๆ แล้วก็เคลื่อนไหวร่างกายไปตามที่ควรจะเป็นก็พอ

มาลองวิเคราะห์ในแง่ธุรกิจกันบ้าง ผมมองว่าสิ่งที่ Nintendo กำลังทำก็คือกลยุทธ์ Blue Ocean ซึ่งก็คือการหลบหลีกการแข่งขันใน Red Ocean ที่มีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Sony และมีผู้เล่นเงินหนาอย่าง Microsoft หนีเข้าอยู่ใน Blue Ocean ที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นท้องทะเลที่กว้างใหญ่ มีทรัพยากรมากมาย และยังไม่มีเรือลำอื่นเลย

Nintendo กำลังขยายจากตลาดนักเล่นเกมเข้าไปสู่ตลาดครอบครัวครับ

ผมไม่ใช่นักเล่นเกม คนอื่นฮิต PlayStation กันขนาดไหน ผมไม่เคยสนใจเลย เครื่องเล่นเกมล่าสุดที่ผมมีก็คือ Famicom เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ผมรู้สึกขี้เกียจเกินไปที่จะมานั่งศึกษาวิธีเล่นเกมสมัยใหม่ที่ดูซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ขี้เกียจมานั่งเรียนรู้ว่าต้องกดปุ่มบนจอยสติ๊กเพื่อบังคับทิศทางอย่างไร และผมไม่อยากมานั่งจ้องหน้าจอโทรทัศน์ทั้งวันเพียงเพื่อการบริหารนิ้วโป้ง

แต่ Wii มันทำให้ผมอยากเป็นเจ้าของมัน อยากเล่นเกมบนเครื่องนี้ และอยากชวนพ่อแม่มาเล่นด้วย เพราะมันง่ายเหลือเกินที่จะเรียนรู้เพื่อเล่นมัน

ท่ามกลางกระแสสังคมที่ผู้ปกครองรู้สึกว่าเกมทำให้เด็กเสียคน วันๆ เอาแต่นั่งจ้องหน้าจอ ไม่ยอมกินข้าวกินปลา แต่ Wii กำลังทำในสิ่งที่ต่างออกไป มันทำให้เด็กลุกขึ้นยืน ขยับร่างกาย และใช้พลังงานของวัยรุ่นออกไป

ซอฟท์แวร์เกมของ Wii จะขยายขอบเขตไปได้ไกลมาก อิริยาบถต่างๆ ของมนุษย์จะถูกทำเป็นเกมได้ อนาคตอาจจะมีเกมแบบ Street Fighter ที่คุณไม่ต้องมานั่งจำว่าต้องกดปุ่มเดินหน้าแล้วกดปุ่มถอยหลังวนมาปุ่มล่างและปุ่มเดินหน้า เพื่อจะปล่อยท่าโชริวเคน แต่คุณเพียงถือ Wii-mote ไว้ ชูขึ้นฟ้า แล้วหมุนร่างกายตัวเอง คุณก็จะปล่อยโชริวเคนใส่คู่ต่อสู้ได้ หรืออนาคตอาจจะมีเกมฝึกทำกับข้าว ที่ Wii-mote ในมือซ้ายคือกระทะ Wii-mote ในมือขาวคือตะหลิว และคุณมีหน้าที่ผัดผักบุ้งไฟแดง

คุณคิดว่า Wii สามารถทำเกมอะไรได้อีก?

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ขายสินค้าอะไรดี? Jason Lee แห่ง eBay Singapore มีคำตอบ

Lunch with Jason Lee from eBay Singapore

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทางไป สิงคโปร์ พร้อมกับคณะจาก ThaiVenture และได้พบกับคุณ Jason Lee ซึ่งเป็น Head of Expansion ของ eBay Singapore ที่ดูแลงานใน South East Asia ทั้งหมด คุณ Jason เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเที่ยง และมีโอกาสได้พูดคุยเรื่อง eBay ในประเทศไทยกันครับ

มีหัวข้อหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมากๆ คุณ Jason ได้บอกว่าทาง eBay ทำ research เรื่องสินค้าที่คนอเมริกันชอบซื้อกัน สามารถสรุปออกมาได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ

กลุ่มแรกคือสินค้าประเภท Consumer Electronics อย่างเช่นพวกเครื่องเล่น MP3 อย่าง iPod หรือเครื่องเล่นเกมอย่าง PlayStation, Xbox, Wii สินค้าพวกนี้คนอเมริกันคลั่งไคล้กันมาก คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังเราคงได้เห็น iPhone ขายดิบขายดีบน eBay แต่สินค้ากลุ่มนี้ไม่น่าสนใจสำหรับคนไทยอย่างเราครับ เพราะประเทศเราไม่มีจุดแข็งด้านนี้เลย ต้องมาดูสินค้าอีกสองกลุ่มซึ่งน่าสนใจมาก

กลุ่มที่สองคือ สินค้าที่ช่วยให้ตัวเองดูดี ลองดูที่ตัวคุณเป็นหลักเลยครับ ตั้งแต่หัวจรดเท้า เสื้อผ้า หมวก ถุงเท้า ผ้าพันคอ เนคไท รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับต่างๆ รวมไปถึงพวกเครื่องสำอาง น้ำหอม สิ่งบำรุงผิวต่างๆ คนอเมริกันค่อนข้างแคร์เรื่องภาพลักษณ์ของตัวเองครับ อยากให้ตัวเองดูดีในสายตาคนอื่น พวกเขามีเงินที่พร้อมจะจ่ายให้กับสิ่งที่ตกแต่งให้ตัวเขาดูดีได้

คุณ Jason บอกว่ามีสินค้าในกลุ่มนี้ชนิดหนึ่งที่ในอเมริกาขายดีมาก ประเทศไทยเองก็มีความสามารถในการผลิตที่ยอดเยี่ยม แต่น่าแปลกที่กลับไม่ค่อยมีนักขายชาวไทยที่เอาสินค้านี้ไปขาย สินค้าประเภทนี้ก็คือ Women Dress ครับ หมายถึงเสื้อผ้าสตรีที่ดูเป็นทางการหน่อย ไม่ใช่พวกเสื้อยืดใส่เล่น และไม่ต้องเป็นของมีแบรนด์เนมอะไรด้วยครับ เอาแค่ดีไซน์สวยๆ ก็พอ คนฮ่องกงเอาเสื้อผ้าประเภทนี้ไปขายบน eBay กันเยอะมาก โดยใช้วิธีจ้างให้จีนผลิตให้ ได้กำไรกัน 5 เท่าเลยครับ ถ้าเราพูดถึงการออกแบบเสื้อผ้า ประเทศไทยเราเหนือจีนอยู่ครับ เรามีดีไซน์เนอร์เก่งๆ เยอะ ใครที่ทำธุรกิจเสื้อผ้า หรือรู้จักกับธุรกิจเสื้อผ้า ลองมองหาช่องทางดูครับ คุณ Jason บอกว่า ให้ลองไปดูว่าคนฮ่องกงขายเสื้อผ้าบน eBay อย่างไร

สินค้ากลุ่มที่สามคือ สินค้าที่ทำให้บ้านของตัวเองดูดี ก็คือพวกของตกแต่งบ้านทั้งหลายนั่นเอง คนอเมริกันนอกจากจะอยากให้ตัวเองดูดีแล้ว ก็อยากให้บ้านตัวเองดูดีด้วย ลองดูในบ้านของคุณสิครับว่ามีของใช้อะไรบ้าง ไล่ไปทีละห้องเลยตั้งแต่ ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องทานข้าว ห้องน้ำ ห้องนอน ในแต่ละห้องมีของอะไรอยู่บ้าง ลองหาของเหล่านั้นมาขายบน eBay ดูครับ สินค้าพวกนี้ประเทศไทยผลิตได้ทั้งนั้น ต้นทุนค่อนข้างถูกด้วย ผมเคยไปเดินงาน trade fair เจอตะกร้าหวายสำหรับวางขวดไวน์ ราคาแค่ 60 บาทเอง สวยด้วย ลองไป search ใน eBay ดู ขายกันในราคาหลักร้อยขึ้นครับ

หวังว่าคงพอจะช่วยเป็นไอเดียเพิ่มได้นะครับว่าควรหาสินค้าอะไรมาขายดี ช่วงหลังๆ นี่มีคนชอบถามผมเหลือเกินว่าจะขายอะไรดี รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นนักเล่นหุ้นชั้นเซียนที่มีแต่คนมาขอหุ้นเลยนะครับ หรือถ้าเปรียบเป็นระดับล่างก็คงจะเป็นอาจารย์ใบ้ห้วยที่มีลูกศิษย์ลูกหาชอบมาขอเลขเด็ด ต่อไปนี้ถ้าใครอยากรู้ว่าจะขายอะไรดี ผมจะบอกให้มาอ่านบทความนี้นะครับ

บทความจากเว็บไซต์ Thai eBay Bible - เดชคัมภีร์ อีเบย์

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Triangle of Brand Benefit เว็บไซต์ของคุณมีแบรนด์แบบไหน?

นักการตลาดมีวิธีการแบ่งประเภทแบรนด์หลายวิธี วิธีการหนึ่งที่ใช้กันก็คือ Triangle of Brand Benefit ซึ่งจะแบ่งกลุ่มแบรนด์สินค้าออกตาม benefit ที่ลูกค้าของแบรนด์เหล่านี้ได้รับออกเป็น 3 กลุ่ม

Triangle of Brand Benefit

กลุ่มแรกคือแบรนด์ประเภท Economical ที่ลูกค้ามักจะตระหนักว่าแบรนด์นี้มีจุดเด่นด้านความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา สินค้าที่มีแบรนด์แบบนี้มักจะมีราคาถูกเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันที่ใช้แบรนด์อื่นๆ

กลุ่มที่สองคือแบรนด์ประเภท Functional ซึ่งเป็นที่รู้จักของลูกค้าว่าสินค้าที่ใช้แบรนด์นี้มีความสามารถพิเศษที่แตกต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันที่ใช้แบรนด์อื่น เป็นสินค้าที่เหมาะแก่การใช้งานเฉพาะด้าน

กลุ่มที่สามคือแบรนด์ประเภท Emotional ที่อาจจะไม่ได้มีราคาถูก ไม่ได้มีความสามารถเฉพาะทาง แต่เน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า เป็นความพึงพอใจทางนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้

สินค้าที่มีการแบ่งประเภทแบรนด์ตาม Triangle of Brand Benefit ที่เห็นได้ชัดมากก็คือ Consumer Shampoo ที่วางขายอยู่บน shelf ใน supermarket หรือ discount store ไม่ใช่แชมพูระดับหรูที่ขายตาม shop เครื่องสำอาง หรือแชมพูที่ขายผ่านช่องทาง direct sale หรือ network marketing นะครับ

Shampoo Brand

สมมุติว่าเราดูแชมพูของค่าย Unilever ละกัน ค่ายนี้มีแชมพู 3 แบรนด์ แบรนด์แรกคือ Sunsilk ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เน้นด้านราคาเป็นหลัก ลองไปเดินดูตาม discount store ที่มีป้ายแสดงราคาต่อกรัมของแชมพูติดอยู่ที่ shelf ดูครับ จะพบว่า Sunsilk มีระดับราคาที่ 0.2x บาทต่อกรัม

แบรนด์ที่สองคือ Clinic Clear เป็นแบรนด์ที่มุ่งเน้นการใช้งานเฉพาะทางคือเพื่อการขจัดรังแค ถึงแม้ว่าจะมีแชมพูหลายสูตรหลากประเภท แต่ยี่ห้อนี้ก็สื่อถึงความสามารถในการขจัดรังแค

แบรนด์ที่สามคือ Dove เป็นแบรนด์ที่เล่นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้าล้วนๆ แพ็กเกจจะดูดีไฮโซกว่าแบรนด์อื่น เน้นการโฆษณาทางโทรทัศน์ให้ดูมีระดับ เพื่อสื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้ว่าแชมพูยี่ห้อนี้เหมาะกับคนมีคลาส

เมื่อแบรนด์เหล่านี้มีจุดเด่นในตัวมันเองอยู่ ก็ต้องพยายามรักษาจุดเด่นนั้นเอาไว้ ถ้า Sunsilk ขึ้นราคาแชมพูให้แพงขึ้น ลูกค้าก็อาจจะหนีไปใช้ Rejoice ของค่าย P&G ก็ได้ ถ้า Head & Shoulders ของค่าย P&G ใช้แล้วขจัดรังแคได้ยอดเยี่ยมจนผมร่วงหัวล้าน แบบนี้ลูกค้าก็คงจะหนีมาซื้อ Clinic แทน และถ้า Dove ทำโฆษณาออกมาได้โลว์ๆ เบๆ ลูกค้าก็อาจจะหนีไปใช้ Pantene ดีกว่า

ทีนี้ถ้าเราลองดูในธุรกิจออนไลน์บ้าง ซึ่งพอจะนำเรื่อง Triangle of Brand Benefit มาประยุกต์ใช้ได้บ้างเหมือนกัน โดยผมจะยกตัวอย่างของ e-mail ที่ผมใช้งานอยู่เป็นประจำ และเป็นการวิเคราะห์โดยใช้มุมมองส่วนตัวของผมที่มีต่อแต่ละแบรนด์นะครับ ซึ่งมุมมองผมอาจจะไม่เหมือนของคุณก็ได้

E-mail Brand ผมมี e-mail ส่วนตัวอยู่หลายๆ ที่ e-mail ที่ผมใช้งานบ่อยที่สุดคือ @hotmail.com เหตุผลที่ใช้งานบ่อยก็คือ Functional ของตัวมันเอง เนื่องจากผมใช้ Live Messenger ด้วย ซึ่งมันถูกผูกเข้ากับ Hotmail เวลาที่ใครส่ง e-mail มาถึงผมที่ Hotmail ผมก็จะรู้และเข้าไปเช็คได้ทันที

ขณะที่ @gmail.com ของค่าย Google ซึ่งผมมองว่าแบรนด์นี้เป็นผู้นำด้านราคา บริการที่คนอื่นคิดเงิน Google จะทำออกมาแข่งแบบไม่คิดเงิน ตอนนี้เวลาที่ผมนึกถึงของฟรี ผมจะนึกถึง Google เป็นที่แรกเลย Gmail ก็เช่นกัน เป็น e-mail ที่ให้พื้นที่เยอะมากและเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีการคิดเงิน แปลว่าผมสามารถใช้รับและเก็บ e-mail ได้ตามที่ต้องการ ไม่ต้องมาคอยลบ e-mail ทิ้งเหมือน Hotmail ในสมัยก่อนที่ยังให้พื้นที่แค่นิดเดียว Gmail จึงเป็นแบรนด์ Economical สำหรับผม

ส่วน @macroart.net และ @trunganont.com เป็นแบรนด์ Emotional ของผมเอง สิ่งที่ Hotmail และ Gmail ให้ผมไม่ได้ก็คือ Uniqueness หรือความมีเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียว ในโลกนี้จะมีใครที่มี e-mail แบบนี้ได้อีก? ผมยอมเสียเงินจ่ายค่าเช่าโดเมนเนมปีละไม่กี่ร้อยบาทก็เพื่อเป็นเจ้าของความมีเอกลักษณ์นี้ อย่าง @trunganont.com ซึ่งเป็นนามสกุลของผมเอง ผมได้ผูกโดเมนเนมนี้เข้ากับระบบของ Google Apps และคิดว่าจะใช้เป็น e-mail สำหรับครอบครัวผม อีกหน่อยก็จะมี ชื่อพ่อผม@trunganont.com ชื่อแม่ผม@trunganont.com ชื่อน้องผม@trunganont.com เป็นต้น

ปิดท้ายบทความด้วยเรื่องของการ Globalization ของธุรกิจดอทคอมยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ซึ่งบางคนกลัวว่าการขยายตัวของเว็บไซต์อย่าง Google และ eBay เข้ามาในประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่อเว็บไซต์ของไทยหรือเปล่า อย่าง Google เองก็มีบริการที่ทั้งดีและฟรี ตัว Search Engine ก็เข้ามาแทนที่ SiamGuru ไปเรียบร้อย บางคนอาจจะกลัวว่าแล้ว Blogger จะเข้ามาแทนที่ Blog Service Provider อย่าง Exteen, BlogGang หรือ DiaryIS หรือเปล่า? และบางคนอาจจะกลัวว่าถ้า eBay เปิดตลาดซื้อขายสินค้าในไทย จะทำให้เว็บอย่าง PantipMarket, ThaiSecondHand, Tarad และ MarketAtHome ต้องถึงจุดจบหรือเปล่า?

ถึงแม้ว่า Blogger จะฟรีและดีมากๆ แต่เว็บไทยก็ยังสู้ได้ด้วยการมุ่งเน้น Emotional Brand ว่าเป็นเว็บที่มี Community ของคนไทย เล่นแล้วได้เพื่อนใหม่ๆ ได้ความรู้สึกอบอุ่นในแบบที่ Blogger ยังไม่มี หรือแม้ว่าถ้า eBay เข้ามาแข่งกับเว็บไทยด้วยการเปิดให้ขายสินค้าได้ฟรีเหมือนกับเว็บไซต์ท้องถิ่นของ eBay หลายๆ แห่งใน South East Asia ประกอบกับความสามารถด้าน E-commerce ของ eBay ที่ครบวงจร แต่สิ่งที่ eBay ยังขาดอยู่ก็คือ Community ของคนซื้อคนขายชาวไทยที่ยังนิยมใช้บริการของเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าของไทยอยู่

ถึงแม้ว่าเว็บไซต์ไทยยังได้เปรียบด้าน Emotional แต่ก็ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจได้นะครับ เพราะเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกมีเงินมากพอที่จะสร้าง Community ขึ้นมา และสามารถทำให้ความโดดเด่นด้าน Emotional ของเว็บไซต์ไทยหายไปได้ สิ่งที่เว็บไซต์ไทยพอจะทำได้ก็คือพยายามพัฒนาความสามารถของเว็บไซต์ (Functional) ให้พอที่จะแข่งขันได้ ส่วนด้านต้นทุน (Economical) เราคงต้องยอมรับว่าแข่งได้ยาก เพราะเว็บไซต์ระดับโลกที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ย่อมทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำมากจนเว็บไทยเล็กๆ เทียบไม่ติด

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเรื่องของ Emotional เว็บไซต์ไทยจะต้องเอาใจใส่กับความต้องการ อารมณ์ และความรู้สึกของผู้ใช้เว็บให้มาก พยายามฟังเสียงของผู้ใช้เว็บให้มากขึ้น ถ้าผู้ใช้รักเว็บนั้นแล้วก็ยากที่จะถอนตัวขึ้นครับ

Process of Successful Website Development 3 กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 3

สารบัญ

  1. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 1
  2. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 2
  3. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 3

มาถึงตอนสุดท้ายของบทความไตรภาคแล้วนะครับ จากตอนที่แล้วที่ผมทิ้งท้ายไว้โดยให้ทายว่าเฟสไหนของการพัฒนาเว็บไซต์ที่มีความสำคัญมากที่สุด? ระหว่าง Requirement Development หรือ Implement? ก่อนที่จะเฉลย เราลองมาดูภาพก้อนน้ำแข็งกันก่อนครับ

Website Iceberg

ก้อนน้ำแข็งในมหาสมุทร

เว็บไซต์ก็เหมือนก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในทะเล คุณมองเห็นเพียงหน้าตาเปลือกนอกของเว็บไซต์ เหมือนที่คุณมองเห็นเพียงส่วนยอดของก้อนน้ำแข็ง แต่ลึกลงไปยังมีอะไรที่มากกว่านั้นซุกซ่อนอยู่

สิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำคือ e-Business Model ที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจของเว็บไซต์ บางครั้งหน้าตาของเว็บไซต์อาจไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ต่างก็คือรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

และส่วนที่อยู่ลึกที่สุดก็คือ Vision หรือวิสัยทัศน์ของเว็บไซต์นั้นๆ หรืออาจจะเป็น Business Philosophy หรือปรัชญาในการทำเว็บไซต์ ซึ่งวิสัยทัศน์และปรัชญานี้แหละที่เป็นกรอบในการออกแบบโมเดลธุรกิจ

ลองนึกภาพคนสองคนที่อายุเท่ากัน ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน แต่ทั้งคู่มีปรัชญาการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน คนหนึ่งให้ความสำคัญกับการหาเงิน อีกคนหนึ่งให้ความสำคัญกับความสุขในชีวิต ทั้งสองคนนี้ย่อมมีวิถีทางการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราลองมาดูก้อนน้ำแข็งของ Google กัน

ก้อนน้ำแข็งของ Google

Google Iceberg

ธุรกิจของ Google นั้นเริ่มมาจากปรัชญาที่ว่า "To organize the world's information and make it universally accessible and useful" หรือแปลเป็นไทยว่า "เพื่อจัดการข้อมูลของโลกนี้ และทำให้ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์และเข้าถึงได้ทั้งสากลพิภพ"

ด้วยปรัชญานี้จึงทำให้เกิดโมเดลธุรกิจ Search Engine ขึ้นมา และเป็นโมเดลที่แตกต่างจาก Search Engine รายอื่นๆ ในเว็บ Google's Ten Things ได้ระบุถึงกฎ 10 ข้อที่ Google พบว่ามันเป็นความจริง และเป็นสิ่งที่ Google นำมาใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ เช่น

  • Google ให้ความเอาใจใส่ต่อผู้ใช้เว็บด้วยการออกแบบเว็บให้ดูโปร่งตา โหลดได้ในอึดใจเดียว เมื่อผู้ใช้รู้สึกสะดวกที่จะใช้งาน สิ่งอื่นๆ ก็จะตามมาเอง
  • Google เชื่อว่าถ้าจะทำอะไรก็ต้องทำให้ดีมากๆ บริการต่างๆ ที่ Google มีก็เพื่อทำให้ชีวิตเราดีขึ้น
  • Google เชื่อว่าเร็วดีกว่าช้า จึงได้ลงทุนสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้คอมพิวเตอร์เหล่านั้นสามารถค้นหาสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
  • Google เชื่อว่าสามารถทำเงินได้โดยที่ไม่ต้องทำชั่ว โฆษณาต่างๆ ที่อยู่บนเว็บไซต์จะถูกแบ่งแยกออกมาอย่างชัดเจนจากผลลัพธ์การค้นหา และไม่มีการรับเงินจากเว็บไหนเพื่อทำให้เว็บนั้นๆ ติดอยู่ในอันดับสูงๆ

สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างออกมาเป็นเว็บไซต์ Google แบบในทุกวันนี้ ที่เราสามารถโหลดได้เร็ว ดูโล่งสะอาดตา ค้นหาสิ่งที่ต้องการได้อย่างสะดวก ซึ่งแตกต่างกับ Search Engine อื่นๆ ในสมัยที่ Google ยังแบเบาะ เช่น Lycos, Altavista หรือ Infoseek

ก้อนน้ำแข็งของ Pantip.com

ลองดูธุรกิจของคนไทยบ้าง ที่คลาสสิคที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Pantip.com เว็บไซต์สัญชาติไทย 100% ที่ก่อตั้งโดยคนธรรมดา เวลาผ่านมา 10 ปีแล้ว คนธรรมดาคนนั้นก็ยังเป็นผู้ดูแลเว็บอยู่ ไม่ได้ขายเว็บหรือขายหุ้นให้ใคร

ปรัชญาของ Pantip.com คือการสร้างสังคมออนไลน์คุณภาพ สิ่งที่ Pantip.com อยากเห็นก็คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมีคุณภาพ สร้างสรรค์ หลากหลาย และมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

โมเดลธุรกิจที่ต่อยอดขึ้นมาจากปรัชญาก็คือการทำทุกอย่างให้ดีที่สุดตั้งแต่แรก แล้วที่เหลือจะตามมาเอง นอกจากนี้ Pantip.com ยังแบ่งลูกค้าออกเป็นสองกลุ่มคือลูกค้าที่ซื้อโฆษณาและลูกค้าที่เป็นคนเล่นเว็บ ถึงแม้ว่าคนเล่นเว็บจะไม่ได้จ่ายเงินให้กับเว็บ แต่คนเล่นเว็บก็ช่วยให้เว็บมีรายได้ และเว็บมองว่าตัวเองเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่ ส่วนคนที่จะตกแต่งพื้นที่นั้นให้เป็นอย่างไรก็คือคนเล่นเว็บนั่นเอง ภาพลักษณ์ของ Pantip.com ก็จะเป็นไปตามที่คนเล่นเว็บอยากให้เป็น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกต่อยอดขึ้นมาเป็นเว็บไซต์ Pantip.com ในปัจจุบัน กลายเป็นเวทีที่ใครอยากรู้กระแสอะไรก็จะเข้ามาที่นี่เป็นที่แรก

บทสรุป

จะเห็นได้ว่าปรัชญาและโมเดลธุรกิจคือสิ่งที่กำหนดว่าเว็บไซต์จะเป็นอย่างไร มีหน้าตาอย่างไร มีความสามารถอะไรบ้าง ถ้า Google เอาใจคนจ่ายเงินซื้อโฆษณามากกว่าเอาใจคนเล่นเว็บ เราอาจได้เห็นแบนเนอร์โฆษณาอยู่เต็มหน้าแรกของ Google ถ้า Pantip.com นั่งถึกทำ content เองทั้งหมด ความหลากหลายในการแสดงความคิดเห็นก็คงไม่เกิดขึ้น

นี่คงจะเป็นคำตอบของคำถามในตอนต้นได้แล้วว่าเฟสไหนคือเฟสที่สำคัญที่สุด ถ้าเราไปให้ความสำคัญกับเฟส Implement มากกว่าเฟสอื่น เราก็จะได้แค่เว็บไซต์ที่ถูกติดตั้งอย่างดีเยี่ยม ถ้าเราให้ความสำคัญกับเฟส Development มากกว่าเฟสอื่น เราอาจได้เว็บไซต์ที่มีเทคโนโลยีหรูเลิศแต่อาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรนัก สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ Business Requirement ที่เป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของเว็บไซต์นั้นๆ

ถึงแม้เว็บไซต์จะดูง่ายๆ โง่ๆ แต่ถ้ามันเกิดจากปรัชญาที่ดี และโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับปรัชญา เว็บนั้นก็ประสบความสำเร็จได้ครับ

Process of Successful Website Development 2 กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 2

สารบัญ

  1. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 1
  2. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 2
  3. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 3

จากตอนที่แล้วที่ผมเกริ่นเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเว็บไซต์ขนาดใหญ่เอาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากปัญหาของการเข้าใจไม่ตรงกัน รวมถึงการสื่อสารไม่ตรงกันระหว่างบริษัทผู้เป็นเจ้าของเว็บ และ Software House ที่ทำหน้าที่พัฒนาเว็บ บทความตอนนี้จะอธิบายถึงกระบวนการพัฒนาเว็บที่ควรจะเป็น เพื่อลดปัญหาการมองเห็นภาพที่ไม่ตรงกันของทั้งสองฝ่ายลง

กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ

กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ขนาดใหญ่ถูกแบ่งออกเป็น 3 เฟส

เฟสแรกคือ Requirement เป็นมุมมองความต้องการทางธุรกิจ เพื่อหาคำตอบว่าจะมีเว็บไซต์ไปเพื่ออะไร มีไปเพื่อใคร และอะไรคือสิ่งที่จะช่วยให้เว็บไซต์ประสบความสำเร็จได้ ถ้าเราเปรียบเทียบกับการสร้างบ้าน เฟสนี้ก็คือการมองหาความต้องการของเจ้าของบ้านนั่นเอง เจ้าของบ้านอาจจะต้องการบ้านสองชั้น สามห้องนอน สามห้องน้ำ ตัวบ้านเย็น อากาศถ่ายเทสะดวก ฯลฯ

เฟสที่สองคือ Development เป็นขั้นตอนการก่อสร้างเว็บไซต์อย่างมีระบบแบบแผนให้เป็นไปตามความต้องการทางธุรกิจ เปรียบเสมือนส่วนที่ผู้รับเหมา (Software House) และช่าง (Designer & Programmer) จะต้องทำงานให้แก่ลูกค้า

เฟสที่สามคือ Implement หรือการนำเว็บไซต์ที่พัฒนาเรียบร้อยแล้วไปใช้งานจริง

Requirement

Requirement ที่ดีจะต้องเริ่มต้นจาก Vision/Mission ของเว็บไซต์ก่อน ด้วยการตั้งคำถามว่า ทำเว็บไซต์นี้ขึ้นเพื่ออะไร อะไรคือธุรกิจหลักของเว็บไซต์ ใครคือกลุ่มผู้ชมเว็บเป้าหมาย รายได้ของเว็บไซต์มาจากทางไหน อยากเห็นเว็บไซต์นี้เป็นอย่างไรในอนาคต ฯลฯ

จากนั้นก็ควรจะตั้ง Goal/Objective ของเว็บไซต์ว่าเป้าหมายที่จะไปให้ถึงคืออะไร ซึ่งเป้าหมายในที่นี้มีทั้งเชิงปริมาณ (quantitative) และเชิงคุณภาพ (qualitative) เช่น ต้องการให้มีคนสมัครสมาชิกเว็บ 10,000 คน ภายในเวลา 6 เดือน หรือ ต้องการพัฒนาเนื้อหาบนเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดให้คนเข้าเว็บอย่างสม่ำเสมอ

แล้วก็ถึงขั้นของการวางกลยุทธ์ ทั้งด้านการดำเนินงานเว็บไซต์ และด้านการตลาดของเว็บไซต์ ในด้านการดำเนินงานเว็บไซต์ก็จะต้องมองถึงงานต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นมาจากการมีเว็บไซต์ เช่น ต้องมีการปรับปรุงข้อมูลบนเว็บไซต์ ถ้าเว็บไซต์มีการเปิดรับข้อความจากผู้ใช้เว็บ ก็ต้องมีคนทำหน้าที่สกรีนข้อความ ถ้าเว็บไซต์เป็นที่นิยมมากขึ้น ก็ต้องมีคนคอยตอบ e-mail ที่ผู้ใช้เว็บส่งเข้ามา ส่วนด้านการตลาดเป็นเรื่องของการทำให้เว็บไซต์เป็นที่รู้จัก ซึ่งมีทั้งช่องทาง online และ offline ที่ต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม

เมื่อได้ข้อสรุปของกลยุทธ์ออกมาแล้ว ก็จะต้องทำ Stakeholder Analysis หรือการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องดูว่าจะมีใครที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นี้บ้าง และเว็บไซต์จะตอบสนองกับความต้องการของคนเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องทำอย่างละเอียดครับ และเรามักจะพบว่าถ้าเราเอาใจคนหนึ่ง มันอาจจะทำให้อีกคนหนึ่งไม่พอใจได้ ก็ต้องหาจุดสมดุลให้ดี ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Pantip.com เป็นเว็บบอร์ดที่มีชื่อเสียง มีคนใช้บริการเยอะมาก ก็จะมีคนที่อยากโฆษณาขายสินค้าในกระทู้ของเว็บ แต่คนใช้เว็บคนอื่นก็อาจจะเบื่อหน่ายที่เว็บบอร์ดมีแต่โฆษณาขายสินค้าและเลิกเล่นเว็บในที่สุด ผู้ดูแลเว็บจึงต้องเลือกเอาใจคนใช้เว็บ และต้องขัดใจคนโฆษณาขายสินค้า

พอเรารู้แล้วว่ามีใครเกี่ยวข้องกับเว็บบ้าง ก็สามารถสรุปออกมาเป็น Business Requirement ว่าในเว็บไซต์จะมีบริการอะไรบ้าง แต่ละบริการมีรายละเอียดอะไรบ้าง เช่น ต้องมีระบบสมาชิกมั้ย ถ้ามี จะขอข้อมูลส่วนตัวอะไรจากสมาชิกบ้าง สมาชิกสามารถทำอะไรได้บ้าง ฯลฯ

ขั้นสุดท้ายก็คือการแปลงจาก Business Requirement ให้เป็น Technical Specification ก็คือการดูว่าความต้องการทางธุรกิจที่คิดกันขึ้นมา ในทางเทคนิคแล้วจะต้องใช้อะไรบ้าง เช่น จะใช้เว็บเซิร์ฟเวอร์ค่าย Linux หรือ Microsoft จะใช้มาตรฐานอะไรในการสร้างเว็บ HTML 4.01 หรือ XHTML 1.0 ถ้าจะทำให้เว็บไซต์ติดอันดับสูงๆ ใน Google ก็ต้องคิดเรื่อง SEO กันตั้งแต่ตอนนี้ เป็นต้น ขั้นตอนนี้จะต้องมีคนที่มีความรู้ด้านเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้องครับ

Development

Business Requirement และ Technical Specification ที่ได้จากเฟส Requirement จะถูกส่งต่อให้ทีมพัฒนาเว็บไซต์ ซึ่งอาจจะเป็นทีมภายในบริษัทเอง หรืออาจจะเป็น Software House ภายนอก คนแรกของทีมพัฒนาที่จะต้องดูก็คือ Information Architect ซึ่งจะเป็นคนแปลง Requirement ให้เป็นแผนผังของเว็บไซต์ นึกง่ายๆ ว่าถ้าคุณได้คำตอบแล้วว่าบ้านของคุณจะมีพื้นที่แค่ไหน มีกี่ห้อง คนที่เป็นสถาปนิกก็จะเป็นคนออกแบบแผนผังบ้านของคุณให้ตรงกับที่คุณต้องการ

Technical Specification และ Information Architect ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะถูกส่งต่อไปให้ System Analyst เพื่อแยกส่วนเว็บไซต์ออกเป็นชิ้นๆ ให้ง่ายต่อการพัฒนา ภาษาที่ System Analyst ใช้ก็คือ Unified Modeling Language หรือ UML ซึ่งเป็นภาษาที่ช่วยให้โปรแกรมเมอร์มองเห็นภาพร่างของส่วนประกอบต่างๆ ภายในเว็บไซต์นี้

ผลลัพธ์จาก Information Architect และ System Analysis จะถูกส่งต่อไปให้ Web Designer และ Web Programmer เพื่อทำการพัฒนาเว็บขึ้นมา ถ้าจะเปรียบเทียบ สองคนนี้ก็เหมือนช่างก่อสร้างครับ เป็นคนที่ทำหน้าที่ก่ออิฐฉาบปูนและทาสี

เนื่องจาก Web Designer และ Web Programmer อาจจะทำงานคู่ขนานกัน จึงต้องมีการรวมงานของทั้งสองเข้าด้วยกัน ซึ่งขั้นตอนนี้เรียกว่า System Integration

หลังจากพัฒนาเว็บไซต์เสร็จแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการทำ Quality Assurance ซึ่งก็คือการทดสอบเว็บไซต์ว่าตรงกับ Technical Specification หรือไม่ มีบั๊กหรือเปล่า และยังต้องดูด้วยว่าถ้าเว็บต้องรับโหลดเยอะๆ จะรับไหวมั้ย

Implement

เฟสนี้ก็คือการนำเว็บไซต์ไปใช้งานจริง ซึ่งจะต้องทำการติดตั้งและทดสอบว่าทำงานได้ตามที่ต้องการหรือไม่ จากนั้นก็ทำการเปิดตัวเว็บไซต์ออกสู่สาธารณชน

แต่ก่อนที่จะมีการเปิดตัว บางเว็บไซต์อาจจะต้องการขั้นตอนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การถ่ายโอนข้อมูลมาลงในเว็บไซต์ บริษัทอาจจะมีข้อมูลในฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้ว หรือบางทีอาจจะเป็นข้อมูลที่กระจัดกระจายเป็นไฟล์อยู่ ก็ต้องรวบรวมข้อมูลมาไว้ในฐานข้อมูลใหม่ของเว็บไซต์

เว็บไซต์ส่วนใหญ่จะต้องมีการเขียนข้อความที่ใช้สื่อสารกับผู้ใช้เว็บ ซึ่งก็ต้องดูว่าในแต่ละหน้าของเว็บไซต์ควรจะใช้ข้อความแบบไหน

บางเว็บไซต์ที่มีระบบงานหลังบ้านอยู่ ก็จะต้องจัดอบรมให้กับพนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลหลังบ้าน ต้องสอนวิธีการใช้งานเว็บไซต์อย่างถูกต้อง

ทั้ง 3 เฟสนี้ก็คือการแปลงมุมมองของคนทำธุรกิจ ไปสู่คนที่ทำงานด้านเทคนิค และสุดท้ายก็คือไปสู่ผู้ใช้เว็บ หรือผู้ที่จ่ายเงินให้เว็บนั่นเอง แต่ต้องจำไว้ว่าท้ายที่สุดแล้วเราทำเว็บก็เพื่อผู้ใช้เว็บนะครับ ไม่ได้ทำเพราะนักธุรกิจอยากทำเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง และไม่ได้ทำเพราะฝ่ายเทคนิคอยากโชว์พาว โชว์เทคโนโลยีการทำเว็บแบบเหนือชั้น

ทีนี้ลองทายสิครับว่าเฟสไหนใน 3 เฟสที่มีความสำคัญมากที่สุด? ดูเฉลยในตอนที่ 3 ได้เลยครับ