วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2550

โปรแกรม 30+ ตัวที่จะฆ่า Microsoft

จากการที่ Google เข้าซื้อกิจการโปรแกรมที่คล้ายกับ PowerPoint เพื่อเสริมเข้าไปในชุดออฟฟิศบนเว็บ และยังมีบริษัทเกิดใหม่นับร้อยรายที่มีบริการทุกอย่างตั้งแต่ word processor บนเว็บ ไปจนถึงระบบปฏิบัติการสมบูรณ์แบบ ทำให้ Microsoft ต้องตกอยู่ท่ามกลางเปลวเพลิง แน่นอนว่าบริษัทยังคงระรื่นอยู่ได้ในตอนนี้ แต่อีก 5 ปีหลังจากนี้ Microsoft จะต้องดิ้นรนอย่างหนักถ้าไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองสู่โลกแห่งเว็บยุคใหม่ที่รายได้ของซอฟท์แวร์มาจากค่าโฆษณา ในสัปดาห์นี้ เราได้ทดสอบบริการบางตัวที่คอยตอดเล็กตอดน้อยยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft โดยที่ Google เป็นผู้นำทีมตอด

เป้าหมาย: Microsoft Word

Microsoft Word Killer

Google Docs - โปรแกรม word processor ของ Google ที่ติดมากับ Google Account ของคุณ และถูกผนวกเข้ากับบริการอื่นๆ ใน Google Apps

Buzzword - โปรแกรม word processor แบบเรียบง่ายที่สร้างจาก Adobe Flex ขณะนี้ยังเป็นเบต้าอยู่

Writeboard - โดย 37signals ถูกออกแบบให้ใช้งานได้หลายคนพร้อมกัน สามารถแชร์ข้อมูลและร่วมกันแก้ไขข้อมูลได้

ThinkFree - มันคือ Microsoft Word แบบออนไลน์

เป้าหมาย: Microsoft Excel

Microsoft Excel Killer

Google Spreadsheet - อาจจะไม่หรูเท่า Excel แต่ก็มีความสามารถพื้นฐานที่ spreadsheet ควรมี เช่นเดียวกัน โปรแกรมนี้ถูกผนวกเข้ากับ Google Apps

Zoho Sheet - คล้ายๆ Excel แต่มีฟีเจอร์น้อยกว่า

EditGrid - ไม่ใช่ตัวแทน Excel แต่ก็มีกราฟ และเน้นฟีเจอร์ให้ผู้ใช้สามารถทำงานร่วมกันได้

ThinkFree Calc - มันคือ Excel แบบออนไลน์

เป้าหมาย: PowerPoint

PowerPoint Killer

Empressr - ให้คุณใส่ไฟล์ได้หลากหลายประเภท รวมถึงไฟล์ flash ด้วย... น่าประทับใจมาก

Zoho Show - เรียบง่ายมาก หน้าตาดูธรรมดา แต่เหมาะสำหรับการทำ presentation อย่างเร็วและดี

Google Presentations - ยังไม่เปิดให้บริการ แต่ Google จะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ (ฤดูร้อนนี้)

Spresent - โปรแกรมที่ทำจาก flash และสามารถสร้าง presentation ที่เป็น flash ดูพอใช้ได้และสามารถผนวกเข้ากับ Flickr ได้ด้วย

เป้าหมาย: Outlook

Outlook Killer

Gmail - โปรแกรม mail ของ Google ที่ให้พื้นที่เกือบ 3 GB สามารถสร้าง e-mail address ให้อยู่ภายใต้ชื่อ domain ของคุณได้ฟรีถึง 25 ชื่อ

Yahoo Mail - โปรแกรม mail ของ Yahoo ที่ไม่จำกัดพื้นที่เก็บ โปรแกรมสามารถทำงานได้เร็วมาก

Zoho Mail - ฟรีสำหรับการใช้งานส่วนบุคคล คิดเงินสำหรับการใช้งานเป็นกลุ่ม มีฟีเจอร์สำหรับการใช้งานร่วมกันได้

Zimbra - โปรแกรม mail บนเว็บที่ ISP สามารถใช้เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้ มีโปรแกรมปฏิทินและพื้นที่เก็บไฟล์เอกสาร และสามารถใช้ VoIP ได้ด้วย

เป้าหมาย: Outlook Calendar

Google Calendar - โปรแกรมปฏิทินแบบพื้นฐานที่ผนวกเข้ากับ Gmail

Yahoo! Calendar - โปรแกรมปฏิทินแบพื้นฐานที่ผนวกเข้ากับ Yahoo Mail

Kiko - โปรแกรมปฏิทินที่ถูกสร้างโดย Justin.tv แล้วถูกขายต่อให้ eBay จนปัจจุบันเป็นเจ้าของโดย Tucows มีฟีเจอร์เจ๋งๆ มากมาย อย่างเช่น RSS import และ contact management

30boxes - โปรแกรมปฏิทินที่เรียบง่ายอย่างน่าอัศจรรย์ เคยเป็นโปรแกรมที่ร้อนแรงที่สุดในโลกจนกระทั่ง Google Calendar เปิดตัว

เป้าหมาย: Windows Live Messenger

Windows Live Messenger Killer

Meebo - โปรแกรมแชทบนเว็บที่รองรับ Google Talk, Yahoo Messenger, MSN Messenger, AIM, ICQ และ Jabber มีการเพิ่มห้องแชทเมื่อไม่นานมานี้

eBuddy - รองรับ MSN, Yahoo และ AIM มีบริการผ่านโทรศัพท์มือถือ

Google Talk - มีโปรแกรม Gtalk อยู่ใน Gmail ซึ่งมีฟีเจอร์ทุกอย่างของ Google Talk ที่ทำงานบน desktop และยังมีเวอร์ชั่นสำหรับใช้งานบนโฮมเพจส่วนบุคคลด้วย

Campfire - คล้ายกับ IRC แต่มีหน้าตาดีกว่า มีบริการแชร์ไฟล์ และถูกผนวกเข้ากับโปรแกรมของ 37signals ตัวอื่นๆ

เป้าหมาย: Movie Maker (และอื่นๆ)

Movie Maker Killer

Movie Maker เป็นโปรแกรมฟรี Microsoft จึงไม่สูญเสียรายได้อะไร แต่ผู้ใช้จะใช้เวลากับโปรแกรมบน desktop น้อยลงเมื่อการแก้ไขวิดีโอมีความสะดวกมากขึ้น (เราคิดว่ามันยังไม่น่าพอใจในตอนนี้) คนที่ใช้โปรแกรมบน desktop ที่น้อยลงย่อมหมายถึงแรงจูงใจที่ลดลงสำหรับนักพัฒนาโปรแกรมบน Windows

JumpCut - iMovie ในบราวเซอร์ของคุณ ช่วยให้คุณแก้ไขวิดีโอของคนอื่นได้ด้วย

MotionBox - ไม่อนุญาตให้คุณแก้ไขวิดีโอของคนอื่น แต่ก็มีฟีเจอร์ในการแก้ไขปรับแต่งที่ครบครัน

YouTube Remixer - พัฒนาโดย Adobe แต่ยังเป็นเบต้าอยู่ การใช้งานยังไม่ค่อยน่าพอใจ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น

Eyespot - ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นโปรแกรมแก้ไข แต่เอาไว้ remix และเป็น mashup maker มากกว่า มีการตกลงกับ Starwars ที่จะให้แฟนๆ เข้ามาสร้าง mashup ได้

เป้าหมาย: Windows??

Microsoft Windows Killer

เอาล่ะ ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครเลิกใช้ระบบปฏิบัติการเลยก็ตาม แต่ระบบปฏิบัติการและ desktop ที่อยู่บนเว็บ จะทำให้ผู้คนใช้เวลากับ desktop จริงของพวกเขาน้อยลง และจะใช้เวลามากขึ้นกับการเคลื่อนย้ายไฟล์บนอินเทอร์เน็ต

DesktopOnDemand - ให้พื้นที่ 1 GB มีโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ โปรแกรมอ่าน mail โปรแกรม word processor โปรแกรม spreadsheet โปรแกรมแชท โปรแกรมเล่นเพลงและหนัง และโปรแกรมอื่นๆ

Nivio - ให้พื้นที่ 5 GB ดูเหมือนเป็น Windows ในบราวเซอร์ของคุณ

AjaxWindows - ระบบปฏิบัติการบนเว็บที่สร้างโดย Ajax มีโปรแกรมจำนวนมาก พื้นที่ประมาณ 1 GB มีรหัสผ่านป้องกันเวลาเขียนไฟล์

EyeOS - ระบบปฏิบัติการบนเว็บที่เป็น open source ให้ทุกคนเข้าไปร่วมพัฒนาได้

และผมเชื่อว่ายังมีโปรแกรมแบบนี้อีกเป็นร้อยตัว ลองแชร์กันหน่อยสิว่าคุณเคยใช้ตัวไหนอีกบ้าง

แปลจาก Mashable

Web Design For Blind Man การออกแบบเว็บเพื่อให้คนตาบอดใช้งานได้

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีโปรแกรม JAWS ที่ใช้อ่านข้อความที่ปรากฎบนหน้าจอคอมพิวเตอร์และสังเคราะห์ออกมาเป็นเสียงภาษาอังกฤษ และมีโปรแกรม PPA Tatip ที่สามารถสังเคราะห์เสียงภาษาไทยได้ ซึ่งช่วยให้คนตาบอดมีโอกาสที่จะใช้งานคอมพิวเตอร์ได้เหมือนคนตาดี แต่เราก็ยังต้องตระหนักถึงการออกแบบโปรแกรมซอฟท์แวร์ต่างๆ ที่จะต้องเป็นมิตรกับคนตาบอดด้วย และยิ่งไปกว่านั้นก็คือการออกแบบเว็บไซต์และเนื้อหาภายในเว็บไซต์ที่จะช่วยให้คนตาบอดใช้งานเว็บนั้นๆ ได้สะดวก

W3C ได้กำหนดมาตรฐานการสร้างเนื้อหาภายในเว็บไซต์ที่ช่วยให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงเว็บได้ง่าย เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในเว็บ โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุง Web Content Accessibility Guidelines 2.0 ไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2007 มีเนื้อหาใจความโดยสรุปดังนี้

กฎข้อที่ 1: รับรู้ได้ - เนื้อหาและองค์ประกอบ user interface จะต้องทำให้ผู้ใช้รับรู้ได้ทั้งหมด

หมายถึงเนื้อหาต่างๆ ภายในเว็บที่ไม่ใช่ตัวอักษร เช่น รูปภาพ กราฟ แผนผังต่างๆ จะต้องมี text alternative ที่ให้ข้อมูลว่าเนื้อหานั้นๆ คืออะไร เพื่อที่ text alternative เหล่านี้จะถูกแปลงเป็นเสียงอ่านที่คนตาบอดรับรู้ได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อความกำกับรูปภาพทุกรูป พวกรูปที่ใช้เพื่อการจัดรูปแบบหรือตกแต่งเว็บก็ไม่ต้องใส่

กฎข้อที่ 2: จัดการได้ - องค์ประกอบ user interface จะต้องทำให้ผู้ใช้จัดการได้

หมายถึงผู้ใช้จะต้องใช้คีย์บอร์ดในการเข้าถึงส่วนต่างๆ ของเว็บได้ทั้งหมด ถ้าเป็นพวก Rich Application ก็ควรจะมี shortcut key ให้กดได้ นอกจากนี้ยังต้องให้เวลาผู้ใช้ให้เพียงพอที่จะอ่านและใช้องค์ประกอบต่างๆ ได้

กฎข้อที่ 3: เข้าใจได้ - ข้อมูลและการจัดการ user interface จะต้องทำให้ผู้ใช้เข้าใจได้

หมายถึงต้องมีการระบุว่าเว็บแต่ละหน้าเป็นภาษาอะไร พวกตัวย่อต่างๆ ที่ใช้ในเว็บก็ต้องมีคำอธิบายว่ามันคืออะไร (อาจจะลิงค์ไปที่หน้ารวมความหมายของตัวย่อ) หรือพวกการเปิดหน้าต่างใหม่หรือ popup ก็ควรเกิดจากการที่ผู้ใช้คลิก spacebar แล้วถึงจะเปิด ไม่ใช่ว่าเปิดขึ้นมาเฉยๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งง

กฎข้อที่ 4: ถูกต้องแน่นอน - เนื้อหาจะต้องมีรูปแบบที่ถูกต้อง บราวเซอร์ทุกประเภทจะต้องอ่านได้

หมายถึงแท็กต่างๆ จะต้องเขียนให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ถ้ามีแท็กเปิดก็ต้องมีแท็กปิด เนื่องจากคนตาบอดอาจจะใช้บราวเซอร์พิเศษที่แตกต่างจากคนตาดี ซึ่งบราวเซอร์นั้นอาจจะมีปัญหาถ้าไปเจอแท็กที่เขียนผิด

รายละเอียดของการเขียนเว็บให้เป็นมิตรกับคนตาบอดมีค่อนข้างเยอะครับ ให้ลองศึกษาจากเว็บของ W3C ดู หรือถ้าขี้เกียจอ่าน เวลาที่ออกแบบเว็บเสร็จแล้ว ก็ลองหลับตาเล่นเว็บตัวเองดู โดยใช้โปรแกรม JAWS ประกอบไปด้วย ดูว่าจะสามารถเข้าถึงทุกฟีเจอร์ของเว็บได้เหมือนเวลาลืมตาไหม

Blind Man Can Do! เมื่อผมต้องสอนนักศึกษาตาบอดให้เขียนเว็บเป็น

ดร.สาลินี อันตรเสน อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอาจารย์ประจำวิชา Creative Writing ได้เชิญผมไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการเขียนเว็บให้กับนักศึกษา มันคงจะไม่ยากอะไรถ้าเป็นนักศึกษาปกติ แต่นักศึกษาที่มาเรียนกับผมคือนักศึกษาพิเศษ บางคนนั่งวีลแชร์ บางคนมองเห็นผมพูดแต่จะไม่ได้ยินเสียงผม และบางคนได้ยินเสียงผม แต่มองไม่เห็นผม รวมถึงมองไม่เห็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วย

สอนคนธรรมดาให้เขียนเว็บเป็นก็ว่ายากแล้วนะครับ การสอนคนที่มองไม่เห็นเว็บให้เขียนเว็บเป็นจะยากขนาดไหน???

ในตอนแรกผมขอต่อรองว่าสอนนักศึกษาให้เล่นเว็บเป็นก่อนดีไหม เพราะหลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยจับคอมพิวเตอร์มาก่อนเลย แต่ก็มีปัญหาว่าไม่สามารถหาคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเทอร์เน็ตให้นักศึกษาใช้ในวันเรียนได้ เลยต้องยอมสอนเขียนเว็บบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ offline อยู่

ผมต่อรองอีกครั้งว่าให้ใช้โปรแกรมอย่าง Microsoft Word ทำเว็บดีไหม เพราะแค่พิมพ์ข้อความที่ต้องการลงไป จากนั้นก็ Save As ให้เป็น HTML ก็จะได้เว็บเพจออกมาหนึ่งหน้าแล้ว แต่อาจารย์บอกว่านักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นหลายคนที่เคยใช้ Microsoft Word ก็บอกว่าใช้งานยาก ผมมานั่งนึกดูก็พบว่าจริง ลองพิสูจน์ได้ง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง ให้หลับตา เปิดโปรแกรม Microsoft Word ขึ้นมา พิมพ์ข้อความลงไป จากนั้นให้จัดข้อความให้อยู่กลางหน้าดูครับ คุณจะพบว่าเมื่อคุณหลับตาก็จะใช้เมาส์ไม่ได้เลย การจะคลิกให้โดนปุ่มจัดกลางหน้าจอจึงเป็นไปไม่ได้

แปลว่าผมจะต้องสอนให้นักศึกษาพิเศษใช้โปรแกรม Notepad ในการเขียนเว็บ โดยจะต้องสอนภาษา HTML ให้พวกเขาเข้าใจและเห็นภาพอยู่ในใจให้ได้ครับ

ผมไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะสอนให้นักศึกษาทำเว็บออกมาได้จริงๆ หรือเปล่า แต่อาจารย์เล่าให้ฟังว่าเคยมีนักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสามารถเรียนเขียนโปรแกรมจนจบการศึกษาได้ เพียงแต่จะต้องใช้เวลาเรียนมากกว่าปกติ ผมเลยคิดว่าถ้ามีคนที่สามารถเขียนโปรแกรมได้ การเขียนเว็บก็น่าจะง่ายกว่าการเขียนโปรแกรม

ผมมีเวลาเตรียมเนื้อหาที่จะสอนเพียงคืนเดียวก่อนจะถึงวันสอน ผมทำสไลด์ไปด้วยเพื่อให้นักศึกษาที่ไม่มีปัญหาด้านการมองเห็นได้ดู โดยที่สไลด์ของผมใช้พื้นหลังสีดำ ตัวอักษรสีขาว เผื่อว่านักศึกษาที่ตาพร่ามัวอาจจะพอมองเห็นได้

เนื้อหาที่ผมเตรียมไว้ก็มีตั้งแต่คำนิยามพื้นฐานของคำว่าเว็บไซต์ เว็บเพจ โฮมเพจ URL โครงสร้างของภาษา HTML ไปจนถึงแท็กต่างๆ ในภาษา HTML ได้แก่ h1 - h6, p, br, hr, b, i, big, small, del, a href, img, ul, ol, และ li ผมตัดเรื่อง table ออกไป เพราะรู้สึกว่ามันซับซ้อนมาก ขนาดคนมองเห็นเป็นปกติยังเข้าใจยากเลย คนมองไม่เห็นคงจะลำบากกว่าเยอะ นอกจากนี้ผมก็ยังตัดแท็กที่เกี่ยวกับภาพและสีออกไป เช่น ภาพพื้นหลัง สีตัวอักษร แต่ผมจะต้องสอนแท็ก img เนื่องจากเป็นแท็กสำคัญ ถึงแม้ว่านักศึกษาจะมองไม่เห็นภาพ แต่ก็น่าจะหาคนตาดีมาช่วยบอกว่าภาพนี้คือภาพอะไร แล้วจึงนำภาพไปใส่ในเว็บเพจด้วยแท็ก img ได้

พอถึงวันที่จะต้องสอนจริง ผมไปเตรียมตัวที่มหาวิทยาลัยตั้งแต่เช้า นักศึกษาทยอยกันมา มีนักศึกษามาเรียนทั้งหมด 13 คน เป็นคนที่นั่งวีลแชร์ 2 คน มีปัญหาด้านการฟัง 1 คน และมีปัญหาด้านการมองเห็น 10 คน นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นบางคนดูเหมือนคนปกติมากๆ ดวงตาดูเป็นปกติ ไม่ได้มีร่องรอยหรือรูปลักษณ์ที่ผิดปกติ มีแววตาเหมือนคนทั่วไป จนตอนแรกผมเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนักศึกษาที่มีปัญหาด้านการฟังเสียอีก ไปโบกไม้โบกมือส่งภาษาใบ้ตั้งนาน ที่แท้ก็มองไม่เห็นผมนี่เอง

ในช่วงเช้า อาจารย์ได้ให้นักศึกษาทำแบบทดสอบที่เกี่ยวกับการมองเห็น มีการถามนักศึกษาว่าถ้าพูดถึงสีต่างๆ แล้ว นักศึกษาจะนึกถึงอะไร เช่น ถ้าถามสีแดง นักศึกษาก็จะตอบว่านึกถึงไฟจราจรให้รถหยุด นึกถึงเลือด ถ้าถามสีเขียว นักศึกษาจะตอบว่านึกถึงต้นไม้ สนามหญ้า นี่เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกผิดคาดมากๆ ไม่เคยคิดเลยว่าพวกเขาจะจับคู่สีกับสิ่งของต่างๆ รอบตัวได้อย่างถูกต้อง ผมเลยกะว่าจะลองเสี่ยงด้วยการเพิ่มสไลด์สอนเรื่อง font color เข้าไปอีกหนึ่งสไลด์

เมื่อถึงเวลาเริ่มสอน ผมก็ต้องเตรียมใจก่อน คือต้องไม่ให้ใจร้อน ต้องสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป พูดช้าๆ ไปเรื่อยๆ ให้นักศึกษาค่อยๆ สร้างมโนภาพขึ้นมาได้ นอกจากนี้ก็ต้องเตรียมร่างกายด้วยการมีน้ำดื่มไว้ใกล้มือ เพราะต้องพูดติดต่อกันถึงสองชั่วโมง และเป็นการพูดช้าๆ พูดซ้ำๆ ซึ่งจะผิดแปลกไปจากสไตล์การพูดปกติของผมที่เป็นคนพูดเร็ว การเปลี่ยนสไตล์การพูดจะทำให้รู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น

ภาพขณะบรรยายเรื่องการเขียน HTML ให้นักศึกษาพิเศษฟังภาพขณะบรรยายเรื่องการเขียน HTML ให้นักศึกษาพิเศษฟัง

ผมเริ่มการสอนด้วยการอธิบายว่า HTML ก็เป็นภาษาหนึ่ง คล้ายๆ กับภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ที่เราจะต้องเรียนรู้ทั้งไวยากรณ์และคำศัพท์ ไวยากรณ์ของภาษา HTML นั้นแบ่งเป็นสองรูปแบบ คือแบบที่มีการกำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ซึ่งระบุด้วยการเขียนแท็กเปิดและปิด เช่น <p> ... </p> ส่วนอีกรูปแบบคือแท็กเดี่ยวที่ไม่ต้องเปิดปิด เช่น <br />

ส่วนคำศัพท์ในภาษา HTML ก็มีเพียงไม่กี่สิบคำ คำศัพท์ที่เราต้องท่องจำก็คือแท็กและ attribute เช่น <p align="center"> เราจะต้องรู้ว่า p ซึ่งเป็นแท็กหมายถึงอะไร และ align="center" ที่เป็น attribute มีความหมายว่าอะไร

ในการสอนแท็กแต่ละประเภท ผมจะอธิบายว่าแท็กนั้นๆ มีหน้าที่อะไร ใช้แล้วจะทำให้เว็บมีหน้าตาออกมาอย่างไร เวลาใช้งานจะต้องพิมพ์คำสั่งอย่างไร และต้องยกตัวอย่างการใช้งานให้เห็นภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอธิบายออกมาเป็นคำพูดที่ฟังแล้วสามารถจินตนาการได้ว่ามันเป็นอย่างไร เช่น ถ้าอธิบายแท็ก <p align="center"> ก็ต้องอธิบายว่ามันเป็นย่อหน้าที่ถูกแสดงผลให้อยู่ตรงกลางหน้าจอ ส่วนการยกตัวอย่างก็ต้องพูดช้าๆ ซ้ำๆ หลายๆ รอบ ต้องอ่านไปทีละตัวอักษรให้นักศึกษาคิดตาม ยิ่งแท็กที่โครงสร้างมีความซับซ้อนสูงอย่าง ul, ol, li ก็ต้องพูดซ้ำมากขึ้น

ขอเล่าถึงการพูดช้าๆ หน่อย การพูดช้าไม่ใช่เพียงเพื่อให้นักศึกษานึกภาพตามได้เท่านั้น แต่ยังเพื่อให้นักศึกษาจดเลคเชอร์ทันด้วย นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นก็สามารถจดเล็คเชอร์ได้ไม่ต่างอะไรกับคนปกติครับ ทุกคนจะมีแผ่นพลาสติกที่มีความกว้างเท่ากับกระดาษ A4 แผ่นพลาสติกนี้มีลักษณะเหมือนบานพับที่ใช้หนีบกระดาษเอาไว้ บนบานพับมีช่องสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถว หนึ่งช่องเท่ากับตัวอักษรหนึ่งตัว นักศึกษาจะมีหมุดขนาดใหญ่ที่มือจับสะดวก ปลายหมุดเป็นโลหะเรียวเล็ก ใช้สำหรับเจาะกระดาษให้เป็นรูตามรหัสอักษรเบรลล์ การจดเลคเชอร์ของนักศึกษาพิเศษจะช้ากว่านักศึกษาที่มองเห็นเป็นปกติ เพราะจะต้องจิ้มหมุดแล้วดึงออก แล้วจิ้มรูใหม่อีก ซึ่งอาจจะต้องจิ้มถึง 5 - 6 รู เพื่อให้ได้ตัวอักษรหนึ่งตัว

ภาพอุปกรณ์ที่นักศึกษาใช้จดเลคเชอร์อุปกรณ์ที่นักศึกษาใช้จดเลคเชอร์

ในตอนแรกผมไม่รู้ว่านักศึกษาจะจดเลคเชอร์ได้ ก็เลยพูดด้วยความเร็วในระดับที่ฟังแล้วนึกภาพตามได้ แต่กลับกลายเป็นว่ายังพูดเร็วเกินไป เพราะนักศึกษาจดเลคเชอร์ตามไม่ทัน จากที่สังเกตดู ถ้าพูดตัวอักษรหนึ่งตัว ควรจะเว้นระยะเวลาให้นักศึกษาจดตัวอักษรตัวนั้นประมาณ 2 - 3 วินาที

ภาพนักศึกษาจดเลคเชอร์กันมือหงิกนักศึกษาจดเลคเชอร์กันมือหงิก

ส่วนการสอนแท็ก font color เพื่อใช้กำหนดสีตัวอักษร ผมอธิบายว่าให้ใส่ชื่อสีเป็นภาษาอังกฤษลงไปเลย เช่น ถ้าต้องการให้ตัวอักษรมีสีแดง ก็ให้ใช้แท็ก <font color="red"> ปรากฎว่าผมเจอคำถามที่เกินความคาดหมาย คือมีนักศึกษาคนหนึ่งถามผมว่า แล้วถ้าเราจะผสมสีล่ะ มันทำได้ไหม?

เป็นคำถามที่ทำให้ผมชะงักอยู่พักหนึ่ง เนื่องจากไม่นึกมาก่อนว่านักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็น จะเข้าใจหลักการผสมสีแบบที่คนตาดีเข้าใจด้วย ผมใช้เวลารวบรวมความคิดว่าจะอธิบายการใช้รหัสสีแทนชื่อสีอย่างไรดี แล้วก็ตอบนักศึกษาไปว่า

หลักการผสมสีจะต้องเข้าใจแม่สี RGB ก่อน R คือ Red หรือสีแดง G คือ Green หรือสีเขียว ส่วน B คือ Blue หรือสีน้ำเงิน แม่สีแต่ละสีจะถูกแทนด้วยเลขฐานสิบหกสองหลัก คือ 00 ถึง FF

แต่จะต้องทำความเข้าใจเลขฐานสิบหกกันก่อน เลขที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันคือเลขฐานสิบ มีตัวเลขสิบตัวคือ 0 1 2 3 4 5 6 7 8 และ 9 ถ้าจะนับมากกว่านี้ก็ต้องเป็นเลขสองหลัก คือ 10 11 12 ไปเรื่อยๆ ส่วนเลขที่ใช้ในรหัสสีเป็นเลขฐานสิบหก มีตัวเลขสิบหกตัวคือ 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9 A B C D E และ F ถ้าจะนับมากกว่านี้ก็ต้องเป็นสองหลัก คือ 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 1A 1B 1C 1D 1E และ 1F

รหัสสี RGB ถูกแทนด้วยเลขฐานสิบหก 6 หลัก R แทนด้วย 2 หลัก G แทนด้วย 2 หลัก และ B แทนด้วย 2 หลัก ดังนั้น RGB จะมีค่าตั้งแต่ 000000 ถึง FFFFFF ถ้า R ถูกแทนด้วย 00 หมายถึงไม่มีสีแดง แต่ถ้าเป็น FF หมายถึงมีสีแดงมากที่สุด ส่วน G และ B ก็เป็นเช่นเดียวกัน

ถ้ารหัสสี RGB เป็น FF0000 สีที่ออกมาก็คือสีแดง ถ้าเป็น 00FF00 ก็เป็นสีเขียว และถ้าเป็น 0000FF ก็เป็นสีน้ำเงิน ถ้าเราเอาสีแดงผสมสีน้ำเงินให้เป็นสีม่วง รหัสสีม่วงก็คือ FF00FF แต่ถ้าใส่รหัสสีเป็น 000000 จะได้สีดำ ส่วนรหัสสี FFFFFF จะได้สีขาว

แล้วนักศึกษาก็ถามผมว่าถ้าอยากได้สีเทาจะทำอย่างไร

เป็นอีกคำถามที่ผมไม่นึกว่านักศึกษาจะถามลงลึกขนาดนี้ แต่ก็เป็นคำถามที่ดีมาก ผมเลยตอบไปว่าเมื่อ 000000 คือสีดำ และ FFFFFF คือสีขาว ถ้าเราใช้ RGB มีค่าเท่ากัน เช่น R = G = B = AA ออกมาเป็น AAAAAA เราก็จะได้สีเทา ถ้าเราให้ R = G = B = F0 ออกมาเป็น F0F0F0 เราจะได้สีเทาที่อ่อนมากจนใกล้จะเป็นสีขาว แต่ถ้าให้ R = G = B = 10 ออกมาเป็น 101010 จะได้สีเทาเข้มจนเกือบจะเป็นสีดำ

ผมมานั่งนึกหลังจากการสอนจบไปแล้วว่าผมยังอธิบายเรื่องการผสมสีบกพร่องอยู่บ้าง เนื่องจาก RGB คือแม่สีทางแสง แต่แม่สีที่นักศึกษาเคยรู้กันมาเป็นแม่สีวัตถุธาตุที่ประกอบด้วย แดง เหลือง และน้ำเงิน วิธีการผสมสีจึงต่างไป ถ้ามีโอกาสอีกคงต้องอธิบายความแตกต่างของแม่สีทั้งสองแบบให้ชัดเจนขึ้น

เมื่อผมสอน HTML เบื้องต้นจนจบแล้ว ก็ใช้ Notepad เพื่อเขียนตัวอย่างให้นักศึกษาดูโดยการใช้โปรแกรม Notepad ในตอนแรกผมไม่รู้ว่าจะอธิบายวิธีการเปิด Notepad ขึ้นมาให้นักศึกษาเข้าใจได้อย่างไร ก็มีนักศึกษาบอกว่าให้กดปุ่ม Start + R เพื่อเรียกหน้าต่าง Run ขึ้นมา จากนั้นก็พิมพ์คำว่า notepad ลงไป ทำให้ผมเข้าใจวิธีการใช้คอมพิวเตอร์ของผู้ที่มีปัญหาด้านการมองเห็นมากขึ้น

หลังจากที่ยกตัวอย่างจบแล้ว ก็ถึงเวลาพักเบรค จากนั้นจึงให้นักศึกษาจับกลุ่มกันเพื่อเขียนเว็บขึ้นมาจริงๆ เห็นผลงานของนักศึกษาแล้วชื่นใจครับ สามารถเขียนออกมาเป็นเว็บได้จริงๆ มีอยู่หนึ่งกลุ่มที่ทำเว็บนำเสนอเนื้อหาเรื่องการนวดแผนไทยออกมาอย่างดีเลย กลุ่มอื่นๆ ก็ผลงานดีไม่แพ้กัน อาจจะมีข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ บ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการพิมพ์ผิดโดยที่เจ้าตัวไม่รู้เพราะมองไม่เห็น

ภาพบรรยากาศการทำ workshop เขียนเว็บภาพบรรยากาศการทำ workshop เขียนเว็บ

ภาพขณะช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดให้นักศึกษาช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดให้นักศึกษา

ในช่วงที่เบรค อาจารย์มาเปรยกับผมว่า สังคมมักจะมองเห็นว่าผู้ที่มีปัญหาด้านการมองเห็นเหล่านี้คงจะประกอบอาชีพอะไรได้ไม่มากนัก พวกเขามักจะถูกส่งไปเรียนหมอนวด ทั้งที่หลายคนไม่ชอบ ทั้งที่หลายคนมีความสามารถที่จะทำอะไรได้มากกว่านั้น นี่เป็นสิ่งที่ผมฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจ

ผมเชื่อว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการความสงสารเห็นอกเห็นใจจากใคร สิ่งที่พวกเขาต้องการคือโอกาสที่จะได้เรียนรู้ โอกาสที่จะได้ทำงานที่ใช้มันสมอง และโอกาสที่คนตาดีจะเข้าใจว่าพวกเขามีศักยภาพที่จะทำอะไรได้มากกว่าที่คิด

สามารถอ่านบทความของ ดร.สาลินี ที่เขียนถึงบรรยากาศการเรียนการสอนครั้งนี้ได้ที่เว็บ http://www.innovativewriting.org/news

บทความตอนนี้ผมเขียนเรื่องสอนคนตาบอดเขียนเว็บให้คนตาดี ส่วนตอนต่อไปคือเรื่องคนตาดีจะทำเว็บอย่างไรให้คนตาบอดใช้งานได้สะดวก ตามอ่านต่อได้เลยครับ Web Design For Blind Man การออกแบบเว็บเพื่อให้คนตาบอดใช้งานได้

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2550

กรณีศึกษา การใช้ Google Apps ทำเว็บไซต์กระบวนวิชา Creative Writing ของ ม.รามคำแหง เพื่อให้นักศึกษาตาบอดเข้ามาใช้บริการ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พูดคุยกับ ดร.สาลินี อันตรเสน ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นอาจารย์สอนวิชา Introduction to Creative Writing ที่มีนักศึกษาสนใจเรียนเป็นจำนวนมาก

อาจารย์ได้ปรึกษากับผมว่าอยากจะทำเว็บไซต์ประจำวิชานี้ ที่มีเนื้อหาการเรียนการสอนให้นักศึกษาเข้ามาดูได้ โดยเฉพาะนักศึกษาพิเศษที่ไม่สะดวกมาเรียนพร้อมกับนักศึกษาปกติได้ เช่น นักศึกษาที่นั่งวีลแชร์ นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการฟัง และนักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็น

ในเทอมที่ผ่านมา อาจารย์ได้ทำเว็บไซต์ไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของมหาวิทยาลัย มีการใส่วิดีโอคลิปที่บันทึกจากการสอนจริงๆ ไว้ เพื่อให้นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสามารถโหลดเพื่อฟังการบรรยายของอาจารย์ได้ ปรากฎว่าเซิร์ฟเวอร์ล่ม เนื่องจากมีนักศึกษาปกติที่ไม่ได้เข้าเรียนมาโหลดดูเป็นจำนวนมาก โดยที่นักศึกษาพิเศษเข้ามาใช้เว็บไม่ได้เลย อาจารย์ก็เลยปรึกษาผมว่ามี solution อะไรบ้างที่จะช่วยให้นักศึกษาพิเศษเหล่านี้เข้ามาใช้เว็บได้โดยไม่มีปัญหาเซิร์ฟเวอร์ล่ม

ถ้าเป็นสมัยก่อน ผมคงจะแนะนำให้ไปเช่า web hosting ที่มีเสถียรภาพสูง แต่ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนค่อนข้างมากถ้าเว็บไซต์ต้องใช้ bandwidth ในปริมาณสูง โดยเฉพาะไฟล์คลิปวิดีโอที่เป็นไฟล์ขนาดใหญ่

แต่ในยุคที่ Google เป็นใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ตและมีบริการฟรีให้เราเลือกใช้ได้มากมาย บริการตัวหนึ่งที่ฟรีและดีมากๆ ก็คือ Google Apps ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยให้ใครที่อยากมีเว็บไซต์และ e-mail address ภายใต้ชื่อ domain name ของตัวเอง สามารถสมัครใช้บริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะเสียเงินก็เพียงค่าจด domain name ปีละ 400 บาทเท่านั้นเอง

Google Apps ประกอบด้วยบริการหลายชนิดที่สามารถนำมาประกอบรวมกันภายใต้ domain name เดียวกันได้ ได้แก่

  • บริการ Gmail ที่ให้คุณมี e-mail address ในชื่อ domain name ของคุณ
  • บริการ Google Page Creator ที่ช่วยให้คุณสร้างเว็บไซต์อย่างง่ายได้
  • บริการ Google Calendar ที่ช่วยให้คุณสร้างปฏิทินนัดหมายและแชร์ให้สมาชิกของเว็บได้
  • บริการ Google Docs and Spreadsheets ที่ช่วยให้คุณและสมาชิกของเว็บเข้ามาสร้างและปรับปรุงแก้ไขไฟล์เอกสารร่วมกันได้
  • บริการ Google Talk ที่ช่วยให้สมาชิกของเว็บสามารถพูดคุยผ่านโปรแกรมสนทนาแบบ Instant Messenger ได้
  • บริการ Google Start Page ที่เป็น Personalized Page ให้ผู้ที่ใช้เว็บของคุณสามารถรับข้อมูลที่คุณต้องการนำเสนอ และเลือกรับข้อมูลน่าสนใจอื่นๆ จาก Google ได้

ในกรณีของ ดร.สาลินี ที่ต้องการสร้างเว็บไซต์ประจำวิชาเพื่อให้นักศึกษาเข้ามาดู ก็คงจะใช้แค่บริการ Google Page Creator เพียงอย่างเดียว แต่ก็อาจจะใช้บริการ Gmail เพื่อให้นักศึกษาส่ง e-mail มาสอบถามเนื้อหาวิชาได้ หรือใช้บริการ Google Calendar เพื่อแสดงตารางเวลาการสอน วันเวลาสอบ และวันเวลาที่นักศึกษาสามารถเข้ามาพูดคุยกับอาจารย์ได้

เมื่อนัดวันกับ ดร.สาลินี ได้แล้ว ผมก็ช่วย setup เว็บไซต์และสอนการบริหารจัดการเว็บไซต์โดยใช้ Google Apps ซึ่งเริ่มต้นจากการจด domain name สำหรับเว็บไซต์ อาจารย์ได้เลือกชื่อ innovativewriting.org เป็นชื่อเว็บ จากนั้นก็ทำการเชื่อมโยง domain name เข้ากับระบบของ Google Apps ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคบ้าง แต่ก็ไม่ยากเกินไปเพราะ Google มีข้อความอธิบายได้ละเอียดดี

หลังจากที่ setup เรียบร้อยแล้ว ผมก็เริ่มสอนให้อาจารย์ใช้ Google Page Creator เพื่อสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา ซึ่งโปรแกรมก็ใช้งานได้ง่ายมาก เพราะเป็น WYSIWYG (What You See Is What You Get) ที่สามารถพิมพ์ข้อความลงไป แล้วเลือกตกแต่งหน้าตาของเว็บไซต์ได้โดยการคลิกปุ่มต่างๆ มี template ให้เลือกใช้งานได้หลากหลาย และสามารถอัพโหลดไฟล์อะไรขึ้นไปเก็บไว้บนเว็บก็ได้

หลังจากที่ผมอธิบายวิธีการใช้ Google Page Creator เพื่อสร้างเว็บไซต์แบบง่ายๆ ให้อาจารย์เข้าใจแล้ว ทางอาจารย์มีความต้องการฟีเจอร์อีกสองอย่างสำหรับเว็บไซต์นี้ ฟีเจอร์แรกก็คือต้องการใส่คลิปวิดีโอบันทึกการเรียนการสอนของอาจารย์ลงในเว็บไซต์ เพื่อให้นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นเข้ามาฟังเสียงจากคลิปได้ นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการฟังก็จะได้อ่านปากอาจารย์ได้ ส่วนนักศึกษาวีลแชร์ที่ไม่สะดวกมาเรียน ก็จะได้เรียนทางอินเทอร์เน็ตได้ ผมจึงแนะนำให้ใช้ Google Video เพื่อเก็บคลิปการเรียนการสอน ซึ่งมั่นใจได้ว่าเว็บของ Google คงไม่ล่มง่ายๆ จากนั้นจึงค่อยนำคลิปวิดีโอไป embed ในเว็บอีกที

แต่อาจารย์บอกว่าอยากให้มีคลิปเสียงด้วย เพราะบางทีอาจจะไม่มีคนมาถ่ายวิดีโอตอนสอนให้ ก็เลยเกิดปัญหาขึ้นว่า Google Video ใช้เก็บไฟล์วิดีโอได้ แต่เก็บไฟล์เสียงไม่ได้ ผมเลยแนะนำให้อาจารย์เปลี่ยนมาใช้ imeem แทน ซึ่งสามารถเก็บได้ทั้งไฟล์วิดีโอและไฟล์เสียง และยังสามารถทำ playlist ให้กับไฟล์เสียงได้ด้วย เพราะชั่วโมงการสอนของอาจารย์ยาวถึงสองชั่วโมง จึงต้องแบ่งไฟล์ความยาวสองชั่วโมงให้สั้นลงแล้วจึงอัพโหลดขึ้นไปทีละไฟล์ จากนั้นจึงจะรวมทุกไฟล์ให้เป็น playlist เดียวกัน

ฟีเจอร์ที่สองที่อาจารย์ต้องการคือเว็บบอร์ด ซึ่งผมก็แนะนำให้ใช้ Google Groups ที่ใครก็สามารถเปิดเว็บบอร์ดของตัวเองได้ง่ายๆ มีขั้นตอนการใช้งานที่ไม่ยุ่งยากมากนัก ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสามารถเข้ามาเขียนกระทู้เพื่อพูดคุยกับอาจารย์หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้

ท้ายที่สุดแล้วเว็บไซต์นี้ก็เสร็จสมบูรณ์ที่นักศึกษาพิเศษสามารถเข้าไปใช้งานได้ที่ http://www.innovativewriting.org/

รูปภาพโฮมเพจของเว็บไซต์ www.innovativewriting.org

หน้าตาของเว็บไซต์อาจจะดูธรรมดา ออกเชยๆ เสียด้วยซ้ำ แต่นี่คือความตั้งใจที่จะทำให้นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสามารถใช้เว็บไซต์นี้ได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ดีไซน์แบบคอลัมน์เดียว และหลีกเลี่ยงการใส่รูปภาพลงในเว็บ

คนตาดีหลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าคนตาบอดจะเล่นเว็บได้อย่างไร ต้องขอบคุณเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ ด้วยโปรแกรม JAWS ที่สามารถอ่านข้อความต่างๆ ที่อยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วแปลงข้อความเหล่านั้นให้เป็นเสียงพูดในภาษาอังกฤษเพื่อให้คนตาบอดเข้าใจได้ บวกกับโปรแกรม PPA Tatip ที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถพูดเป็นภาษาไทย ทำให้คนตาบอดเข้าใจเนื้อหาในเว็บไซต์ภาษาไทยได้

สำหรับโปรแกรม PPA Tatip นี้ ต้องให้เครดิตแก่คุณพุฒิพันธุ์ พลยานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีพีเอ อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งได้รับพระราชทานทุนวิจัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาพัฒนาโปรแกรมนี้จนสำเร็จ และเป็นประโยชน์แก่คนตาบอดไทยเป็นอย่างมาก คุณพุฒิพันธุ์เป็นเพื่อนกับผมตั้งแต่สมัยเข้าค่ายอบรมนักเรียนโอลิมปิกคอมพิวเตอร์ จนถึงตอนที่เรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ ม.เกษตร คุณพุฒิพันธุ์เป็นนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถมาก สามารถพัฒนาโปรแกรมยากๆ ออกมาได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งคอมพิวเตอร์โอลิมปิกถึงสองปีซ้อน คว้าเหรียญทองแดงและเหรียญเงินกลับมาให้ประเทศไทย

ด้วยโปรแกรม JAWS และ PPA Tatip ช่วยให้คนตาบอดรู้ว่าคอมพิวเตอร์กำลังทำงานที่โปรแกรมอะไร ช่วยให้พวกเขารู้ว่ากำลังกดปุ่มอะไรบนคีย์บอร์ด และช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าแต่ละเว็บไซต์มีเนื้อหาอะไร หลายท่านคงเคยเห็นโฆษณา AIS ที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของคุณเอกลักษณ์ พรมชาติ ซึ่งเป็นคนตาบอดที่ทำงานเป็นพนักงาน call center ของ AIS เชื่อหรือไม่ว่าคุณเอกลักษณ์สามารถตอบกระทู้ในพันทิปได้ และเชื่อหรือไม่ว่าคุณเอกลักษณ์มีบล็อกเป็นของตัวเองอยู่ที่ http://akenetwork.exteen.com/

มีหลายๆ เรื่องที่คนตาปกติคิดว่าคนตาบอดคงทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย อ่านเรื่องราวความสามารถอันน่ามหัศจรรย์ของคนที่อยู่ในโลกที่มืดมิดที่คนในโลกแห่งแสงสว่างคิดไม่ถึงในบทความเรื่อง Blind Man Can Do! เมื่อผมต้องสอนนักศึกษาตาบอดให้เขียนเว็บเป็น ต่อได้เลยครับ

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ประกันออมทรัพย์ ผลตอบแทน 221% มีจริงหรือ?

ขอเขียนนอกเรื่องธุรกิจออนไลน์เสียหน่อย เป็นเรื่องที่ผมอยากให้ทุกคนได้รู้เวลาที่มีตัวแทนประกันมาขายประกันแบบออมทรัพย์ให้คุณ

ผมทำประกันครั้งแรกตอนปี 2545 มีตัวแทนประกันจากบริษัทแห่งหนึ่งโทรเข้ามาที่ออฟฟิศ แล้วเพื่อนที่ออฟฟิศเป็นคนรับสาย ปลายสายบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคารแห่งหนึ่ง (ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประกันแห่งนี้) แจ้งว่าจะขอเข้ามาแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์เงินเดือนให้แก่พนักงานในบริษัท เพื่อนผมก็รับปากให้เข้ามา พอมาถึงออฟฟิศก็มีเพื่อนหลายคนเข้าฟังในห้องประชุมด้วยกัน ซึ่งรวมถึงผมด้วย ตัวแทนเปิดการขายด้วยการแนะนำแพ็กเกจออมเงินสุดคุ้มค่าที่ผู้ออมจะได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย มีการพูดถึงตัวเลขเยอะแยะมากมาย ผมฟังแล้วก็มึนไปหมดเพราะตอนนั้นยังไม่มีความรู้ด้านการเงิน แต่สุดท้ายก็ลองทำดูเพราะยังไม่เคยทำประกันมาก่อน อีกใจหนึ่งก็อยากเอาเบี้ยประกันไปช่วยลดหย่อนภาษีด้วย ผมจ่ายเบี้ยไปประมาณหนึ่งปี ตัวแทนที่ดูแลผมก็ลาออกจากการเป็นตัวแทน แม่ทีมของตัวแทนคนนั้นมาเป็นคนดูแล (เฉพาะตอนเรียกเก็บเบี้ย) ผมต่อ

จนในปี 2549 ก็มีตัวแทนประกันอีกคนจากบริษัทเดิมโทรมา ผมปฏิเสธไปว่ามีกรมธรรม์อยู่แล้ว แต่ตัวแทนก็ไม่ลดละความพยายาม เกลี้ยกล่อมผมว่าน่าจะลองมีอีกสักฉบับดู เพราะกรมธรรม์นี้ให้ผลตอบแทนสูงถึง 221% ผมเลยขอให้ช่วยส่งเอกสารรายละเอียดมาให้ผมดูหน่อย มาคราวนี้ผมมีความรู้ด้านการเงินแล้ว ก็เลยลงมือคำนวณดูว่าผลตอบแทน 221% จริงหรือเปล่า

เอกสารที่ตัวแทนส่งมาให้ แจ้งว่าทุนประกันมีมูลค่า 150,000 บาท ชำระเบี้ยเดือนละ 3,181.20 บาท หรือตกวันละร้อยบาทนิดๆ เท่านั้น ชำระเพียง 7 ปี แต่อายุกรมธรรม์ยาวนานถึง 15 ปี มีการจ่ายเงินคืนให้ทุก 2 ปี จนกว่าจะหมดอายุกรมธรรม์

Insurance Payoff

นี่คือตารางที่ผมทำสรุปออกมาจากเอกสารที่ตัวแทนส่งมาให้ ช่อง Cash Out ก็คือเงินที่ไหลออกจากกระเป๋าผม ผมต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเดือนละ 3,181.20 บาท หรือปีละ 38,174.40 บาท เป็นเวลา 7 ปี โดยที่ผมจะได้รับเงินคืนทุก 2 ปี โดยในปีที่ 2, 4, 6 จะได้รับคืน 6% ของทุนประกัน (150,000 x 6% = 9,000 บาท) ปีที่ 8, 10, 12 ได้รับคืน 7% (10,500 บาท) ปีที่ 14 ได้รับคืน 12% (18,000 บาท) และเมื่อหมดอายุกรมธรรม์ จะได้รับคืน 170% (255,000 บาท)

ในเอกสารแจ้งว่า ทุนประกันของผมเพียง 150,000 บาท แต่ผมจะได้รับเงินคืนรวมกันแล้วสูงถึง 331,500 บาท คิดเป็นผลตอบแทนสูงถึง 221% (331,500 / 150,000 x 100%)

ไม่น่าเชื่อว่าเอกสารจะโกหกผมโต้งๆ แบบนี้เลย รู้หรือยังครับว่าโกหกอย่างไร? ลองใช้เวลานั่งคิดดูสักหน่อยแล้วค่อยอ่านต่อครับ

หลังจากผมได้รับเอกสารแล้ว ตัวแทนก็โทรกลับมาพูดคุย ผมบอกไปว่าเอกสารที่ส่งมามันไม่ถูกต้องนะ ตัวเลขมันผิดความจริงไปเยอะมาก ผมอธิบายให้ฟัง แต่ดูเหมือนตัวแทนจะไม่ค่อยเข้าใจ เป็นไปได้ว่าตัวแทนคงไม่ได้ทำเอกสารนี้เอง อาจจะเป็นเอกสารของแม่ทีม หรืออาจจะเป็นของบริษัทเลย แล้วตัวแทนก็ฟังแม่ทีมหรือบริษัทมาอีกทีโดยที่มองไม่เห็นจุดผิดพลาด

วิธีการคิดผลตอบแทนที่เอาทุนประกัน 150,000 บาทมาเป็นตัวฐานนั้นไม่ถูกต้องครับ เพราะผมไม่ได้จ่ายเงินออกไปแค่ 150,000 บาท แต่ผมต้องจ่ายถึง 267,220.80 บาท (38,174.40 x 7 ปี) ถ้าจะคิดผลตอบแทนด้วยวิธีนี้ จะต้องใช้ตัวเลข 267,220.80 บาทเป็นตัวฐาน คิดออกมาได้ 124% (331,500 / 267,220.80 x 100%) แต่นี่เรายังไม่ได้หักเงินต้นคืนนะครับ ถ้าหักเงินต้นออกมาแล้วก็จะเหลือกำไรเพียง 24% เท่านั้น และเป็น 24% ที่จะได้รับครบถ้วนก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปแล้วถึง 15 ปี อยากบอกว่าผมถือหุ้นเพียงปีเดียวก็ได้ผลตอบแทนเกือบ 100% แล้ว

วิธีคิดผลตอบแทนแบบนี้ก็ยังไม่ค่อยละเอียดมาก เพราะตัวเลขที่ผมอยากรู้ก็คือผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับการลงทุนแบบอื่นได้ เช่น การฝากธนาคาร หรือการซื้อพันธบัตร ที่ระบุตัวเลขผลตอบแทนต่อปีให้ประชาชนทราบ

ผมทำตัวเลขเพิ่มเติมจากเอกสารที่ตัวแทนส่งมาให้ โดยหาตัวเลขเงินรับ(หรือจ่าย)สุทธิในแต่ละปี ด้วยการเอาเงินรับในแต่ละปีลบออกด้วยเงินจ่ายในปีนั้นๆ สูตรง่ายๆ ครับ คิดเหมือนกับการคำนวณหากำไรด้วยการเอารายรับลบออกด้วยรายจ่าย

Insurance Internal Rate of Return

เมื่อได้ตัวเลขเงินรับ(หรือจ่าย)สุทธิในแต่ละปีแล้ว เราก็ใช้ Excel ใส่สูตร =IRR(เงินสุทธิปีที่ 1...เงินสุทธิปีที่ 15) ซึ่งสูตรนี้เรียกว่า Internal Rate of Return ใช้สำหรับหาผลตอบแทนเฉลี่ยต่อช่วงเวลาหนึ่ง ในที่นี้จะเห็นได้ว่าคำนวณออกมาได้เพียง 2.30% ต่อปี

ในช่วงนั้น ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งต่างแข่งขันกันให้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะสั้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารหนึ่งให้ 5% อีกไม่กี่วันต่อมาธนาคารอีกแห่งจะให้ 5.25% เรียกได้ว่าผู้เกษียณอายุที่มีเงินก้อนที่ไม่รู้จะนำไปลงทุนอะไร ต่างก็แห่ไปเปิดบัญชีแล้วย้ายเงินข้ามธนาคารกันให้วุ่น

แล้วทำไมผมจะต้องเอาเงินไปจมไว้กับประกันออมทรัพย์ด้วยล่ะ? ผลตอบแทนเพียง 2.30% ยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในหลายๆ ปีที่ผ่านมาเลย เอาเงินไปฝากประจำยังดีกว่าอีก ตัวแทนตอบผมว่าประกันออมทรัพย์มีความคุ้มครองให้ด้วย กรณีที่เสียชีวิต ผู้ที่อยู่ข้างหลังก็จะได้รับเงินชดเชย

จริงๆ แล้วเราสามารถคำนวณได้ด้วยว่าเราควรจะมีโอกาสเสียชีวิตในช่วง 15 ปีของอายุกรมธรรม์มากน้อยแค่ไหนถึงจะคุ้มที่จะทำประกัน ผมคำนวณออกมาแล้วปรากฎว่าผมต้องมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากกว่า 50% ถึงจะคุ้ม แปลว่าถ้าผมออกนอกบ้าน 2 วัน จะต้องมีอย่างน้อย 1 วันที่ผมมีโอกาสถูกรถชนตาย ซึ่งมันเป็นไปได้ยากมาก

แต่สุดท้ายแล้วผมก็ทำประกันกับตัวแทนคนนี้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ผมนำตัวเลขผลตอบแทนไปเปรียบเทียบกับกรมธรรม์ฉบับเก่า ปรากฎว่าฉบับเก่าให้ผลตอบแทนไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ ผมเลยยกเลิกฉบับเก่าเพื่อ cut loss ค่าเสียโอกาส แล้วเปลี่ยนมาทำฉบับใหม่แทน อีกเหตุผลก็คือเงินเดือนผมสูงขึ้น ผมต้องการจ่ายเบี้ยสูงขึ้นเพื่อจะได้ลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น และเหตุผลสุดท้ายก็คือผมรู้สึกว่าควรจะมีประกันแบบนี้ไว้ใช้เป็นยันต์กันผี เวลามีตัวแทนคนอื่นมาเสนอขายจะได้บอกว่า "ผมมีประกันอยู่แล้วครับ"

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2550

Technology Convergence การบรรจบกันของเทคโนโลยี ทำให้เกิดธุรกิจใหม่เสมอ

หลายคนมักจะคิดว่าการคิดค้นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในยุคที่ธุรกิจต่างๆ ถูกจับจองไปหมดแล้ว ความคิดนี้อาจจะถูกเพียงครึ่งเดียว ถึงแม้ว่าธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ จะมีคู่แข่งขันอยู่เต็มไปหมด แต่ก็ยังมีโอกาสธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งเกิดขึ้นมาได้เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น

ย้อนกลับไปในปี 2000 ยุคที่โปรแกรมแชร์ไฟล์เพลง Napster กำลังโด่งดัง ในยุคนั้น โลกของธุรกิจเพลงถูกครอบงำโดยค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เพียง 5 ค่าย ซึ่งกินส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่า 80% และมีธุรกิจที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การผลิตเพลงจนถึงการจัดจำหน่าย เป็นเรื่องยากมากที่คู่แข่งจะแทรกตัวเข้าไปได้

แต่เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมดาๆ คนหนึ่งได้พัฒนาโปรแกรม Napster ขึ้น ยักษ์ใหญ่ก็ถูกเขย่าบัลลังก์ นักศึกษาคนนี้คงจะไปทำร้ายค่ายเพลงไม่ได้ถ้าโลกนี้ปราศจากเทคโนโลยี MP3, CD Ripper และ P2P

เทคโนโลยีการบีบอัดไฟล์เพลง MP3 ถูกพัฒนาขึ้นโดย MPEG องค์กรภายใต้ ISO ผู้กำหนดมาตรฐานสินค้าหลายๆ อย่างบนโลกนี้ MP3 ช่วยให้ไฟล์เพลงความยาว 5 นาที ที่มีขนาดมากกว่า 50 MB หดเล็กลงเหลือเพียง 5 MB ง่ายที่จะ copy ให้คนอื่น รวมถึงการส่งต่อให้เพื่อนทางอินเทอร์เน็ต

CD Ripper คือโปรแกรมที่แปลงเพลงในแผ่นซีดีให้เป็นไฟล์เพลง MP3 ซอฟท์แวร์ CD Ripper มีให้เลือกดาวน์โหลดได้ฟรีจากเว็บไซต์ต่างๆ ใครๆ ก็สามารถแปลงซีดีให้เป็นไฟล์ MP3 และส่งต่อให้ใครก็ได้โดยที่ไม่ต้องเอาแผ่นซีดีให้

ส่วน P2P คือเทคโนโลยีการแบ่งไฟล์ขนาดใหญ่ให้เป็นข้อมูลเล็กๆ แล้วส่งต่อให้คนอื่นที่ต้องการ โดยที่ไม่ต้องมีเซิร์ฟเวอร์กลาง เนื่องจากทุกคนเป็นเซิร์ฟเวอร์ เทคโนโลยีนี้ทำให้คนที่ไม่รู้จักกันสองคน สามารถแบ่งปันไฟล์เพลงกันได้

ลองนึกภาพว่าคนทั้งโลกนี้ มีคนซื้อซีดีเพลงอัลบั้มใหม่เพียงคนเดียว จากนั้นเขาใช้ CD Ripper เพื่อแปลงเพลงในแผ่นซีดีให้เป็นไฟล์ MP3 แล้วแชร์ไฟล์เพลงนั้นผ่านเครือข่าย P2P แบบนี้ค่ายเพลงก็จะขายซีดีได้เพียงแผ่นเดียว ขณะที่ต้นทุนการผลิตอัลบั้มนั้นสูงมาก

จะเห็นได้ว่าทั้งสามเทคโนโลยีที่มาบรรจบกัน ช่วยสร้างโมเดลธุรกิจใหม่อย่าง Napster ขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว Napster จะถูกศาลตัดสินให้ระงับการให้บริการ แต่ Napster ก็สามารถเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปเป็นการขายเพลงแบบสมาชิกรายเดือนได้ กลายเป็นคู่แข่งของแผงเทปไป

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ YouTube เว็บไซต์นี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเว็บถูกสร้างขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในยุคที่รูปแบบไฟล์วิดีโอมีทั้งค่าย Real, Windows Media, Quicktime และอื่นๆ อีกมาก โดยที่ Flash ยังไม่แพร่หลาย ในยุคที่กล้องถ่ายวิดีโอมีราคาแพง และยังไม่มีโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายวิดีโอได้ และในยุคที่ผู้คนยังใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำอยู่

ถ้าไม่มี Flash เราก็คงต้องติดตั้งโปรแกรม Movie Player ของทุกค่ายเพื่อจะได้ดูวิดีโอได้ทุกรูปแบบ

ถ้ากล้องวิดีโอมีราคาแพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะหาซื้อใช้ได้ หรือถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือความสามารถสูงที่สามารถถ่ายวิดีโอได้ ก็คงจะหาคลิปวิดีโอดีๆ ให้ดูได้ยาก

และถ้าคนส่วนใหญ่ยังใช้อินเทอร์เน็ต 56 k อยู่ คงไม่มีใครอยากเสียเวลาโหลดวิดีโอคลิปดู

แต่เมื่อเทคโนโลยีทุกอย่างพร้อม เว็บอย่าง YouTube ก็เกิดขึ้นมา และโด่งดังเป็นพลุแตก จนถูก Google ซื้อไปด้วยราคาสูงลิ่ว

ทั้งกรณีของ Napster และ YouTube ต่างก็มีจุดที่เหมือนกันสองจุด จุดแรกคือการเกิดขึ้นของมาตรฐานที่ผู้คนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย Napster ได้ประโยชน์จากมาตรฐาน MP3 ขณะที่ YouTube ได้ประโยชน์จาก Flash ที่กลายเป็นมาตรฐานด้านมัลติมีเดียบนเว็บ จุดที่สองคือการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยต่อการติดต่อเพื่อรับส่งข้อมูลกัน Napster มีเทคโนโลยี P2P ที่ช่วยให้ไฟล์เพลง Mp3 กระจายถึงกันได้โดยง่าย YouTube มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่กำจัดอุปสรรคได้การโหลดไฟล์ขนาดใหญ่

ถ้าหากเราจะลองพยากรณ์รูปแบบธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยพิจารณาจากเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นบ้างล่ะ?

ถ้าโทรศัพท์มือถือสามารถเปิดเว็บไซต์ได้อย่างง่ายดาย สามารถเปิดดูโปรแกรมแผนที่ได้ ธุรกิจอะไรจะเกิดขึ้น?

ถ้าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต Wi-fi ตามสถานที่ต่างๆ หันมาใช้ระบบเดียวกัน ผู้ใช้สามารถซื้อ access pass ครั้งเดียวแล้วใช้อินเทอร์เน็ตที่ไหนก็ได้ ธุรกิจอะไรจะเกิดขึ้น?

ถ้าเครื่อง E-book Reader ที่มีน้ำหนักเบา ม้วนได้ ได้รับความนิยมจากผู้ใช้ ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ธุรกิจอะไรจะเกิดขึ้น?

ถ้าความเร็วของอินเทอร์เน็ตก้าวกระโดดขึ้นไปอีกขั้น สามารถโหลดรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์เรื่องยาวมาดูได้แบบภาพคมชัด เสียงกระหึ่มเหมือนดูในโรง ธุรกิจอะไรจะเกิดขึ้น?

ใครที่ก้าวตามเทคโนโลยี และคอยปรับตัวตามอยู่เสมอ ย่อมคว้าโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ได้ก่อนคนอื่น และได้รับสิทธิ์ที่จะเป็นมหาเศรษฐีในยุคไฮเทคได้ก่อนคนอื่นด้วย

แต่ใครที่เป็นเจ้าของธุรกิจอยู่แล้ว ถ้าหากนิ่งเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ไม่ปรับตัวตามโลกที่พัฒนามากขึ้น ก็อาจจะได้รับความเสียหายและอาจจะล้มหายตายจากไปในที่สุดได้

อย่าเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ต่อต้านกระแสลมจนโค่นล้มลง อย่าเป็นต้นไผ่ที่ลู่ตามลมแต่แคระแกรน จงเป็นดอกหญ้าที่ถูกลมพัดปลิวไปตกในดินอุดมสมบูรณ์ แล้วงอกขึ้นเป็นทุ่งหญ้าเขียวขจีได้

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2550

Game Theory ของ eBay และ Google

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน บล็อก Google Checkout ได้เผยแพร่ข่าวงาน Google Checkout Freedom Party ซึ่งจะจัดขึ้นในเย็นวันที่ 14 มิถุนายน ที่ Old South Meeting House ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก Boston Convention & Exhibition Center มากนัก Google โฆษณาว่างานนี้มีทั้งอาหารฟรี เครื่องดื่มฟรี ไลฟ์มิวสิคฟรี แม้กระทั่งนวดฟรี

แต่มันจะบังเอิญเกินไปหรือเปล่า เพราะ eBay มีงานใหญ่ยักษ์ประจำปี ก็คืองาน eBay Live! 2007 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 16 มิถุนายน ที่ Boston Convention & Exhibition Center

งานนี้ Google หวังว่าคนเข้าสัมมนา eBay Live! ตอนกลางวันเสร็จแล้ว จะได้มาแจมกับ Google Party ตอนกลางคืนต่อได้เลย

Google Checkout เป็นบริการ Payment Gateway ที่ช่วยให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าสามารถรับจ่ายเงินกันได้สะดวก ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ PayPal ซึ่งเป็นบริการ Payment Gateway ของ eBay จึงอาจเรียกได้ว่า Google Checkout และ PayPal เป็นคู่แข่งทางตรงกันเลย

ยอดขายสินค้าบน eBay ในไตรมาสแรกปี 2007 สูงถึง 14,280 ล้านเหรียญ ถ้าคิดทั้งปีก็สูงกว่างบประมาณประเทศไทยเสียอีก ขณะที่มียอดชำระเงินผ่าน PayPal ถึง 11,360 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 6% ของมูลค่า E-commerce ทั้งโลก

Google ถึงได้อยากเข้ามามีส่วนร่วมเหลือเกิน

แต่หนทางนี้ก็ไม่ง่ายนัก เพราะเมื่อปีที่แล้วในเดือนมิถุนายน eBay ได้ประกาศแบน Google Checkout ด้วยการห้ามผู้ขายสินค้าบน eBay ใช้บริการ Google Checkout เพื่อรับชำระเงินจากลูกค้า ด้วยเหตุผลที่ฟังดูแปร่งๆ หน่อยคือ eBay ไม่รับรองบริการชำระเงินที่ไม่มีประวัติการให้บริการที่ยาวนานพอ

เมื่อเล่นกันบนดินไม่ได้ Google ก็เลยใช้เทคนิค Guerilla Marketing ด้วยการประกาศจัดงาน Google Checkout Freedom Party ขึ้นมา ชู concept ของงานว่าทุกคนมีอิสระเสรีภาพที่จะเลือกใช้ระบบ Payment Gateway ของรายใดก็ได้ ไม่ควรจะผูกขาดอยู่กับเพียงรายเดียว และตั้งใจจัดงานตรงกับงาน eBay Live! ในสถานที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผู้ขายสินค้าบน eBay เข้าร่วมงานของ Google ด้วย และ Google ก็จะได้โปรโมทบริการ Google Checkout ของตัวเองได้เต็มที่ ให้รู้กันไปเลยว่าดีกว่าบริการของ PayPal อย่างไร

แน่นอนว่า eBay คงไม่อยู่เฉยๆ ก็เลยตอบโต้กลับไปอย่างรุนแรงด้วยการถอดโฆษณาของ eBay ทั้งหมดออกจาก Google AdWords ในอเมริกา

จากรายงานประจำปีของ eBay ในปี 2006 eBay มีค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาทั้งในสื่อออนไลน์และออฟไลน์รวมทั้งสิ้น 871 ล้านเหรียญ ขณะที่รายได้จากโฆษณาของ Google ในปี 2006 รวมทั้งสิ้น 10,492 ล้านเหรียญ ถ้าเราลองประเมินดูว่าครึ่งหนึ่งของค่าโฆษณาของ eBay ถูกจ่ายให้ Google นั่นแปลว่า 4% ของรายได้ของ Google มาจาก eBay

ตัวเลขงบโฆษณาของ eBay ที่จ่ายให้ Google ที่แท้จริงจะเป็นเท่าไหร่ คงต้องไปหางบการเงินแบบละเอียดของ eBay มาดู แต่เราก็พอจะเดากันได้จากสิ่งที่ Google ทำต่อมาก็คือการประกาศยกเลิกงาน Freedom Party นั่นแปลว่าการถอดโฆษณาออกคงส่งผลกระทบต่อ Google พอสมควร

จริงๆ แล้ว Google กับ eBay ก็เหมือนน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า Google ช่วย supply traffic ให้แก่ eBay ทำให้ eBay มี community ซื้อขายสินค้าและสามารถเก็บค่าธรรมเนียมการขายได้ ส่วน eBay ก็จ่ายเงินค่าโฆษณาให้แก่ Google ซึ่ง Google ก็นำไปจ้างวิศวกรเก่งๆ มาพัฒนาเว็บไซต์ต่อไป

สงครามระหว่าง eBay และ Google นั้นสามารถอธิบายได้ด้วย Game Theory

Game Theory of eBay and Google

จากตาราง ถ้าทั้งคู่ต่างอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร ทั้งสองฝ่ายก็เป็นคู่ค้าที่ดีต่อกันต่อไป eBay ก็มี traffic เข้าเว็บ Google ก็มีรายได้ สิ่งที่ทั้งคู่ได้รับแทนด้วยคะแนน +5

วันหนึ่ง Google เกิดนึกอยากรุกเข้าไปในธุรกิจ Payment Gateway บ้าง เพราะหวังว่าจะทำให้ตัวเองมีรายได้เพิ่ม (+10) การทำแบบนี้จะทำให้ eBay เสียผลประโยชน์ (-5) เนื่องจากเสียส่วนแบ่งรายได้ PayPal

eBay ก็เลยต้องตอบโต้กลับ กลายเป็นว่าทั้งคู่ต่างก็เสียผลประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย (-10) Google ก็เลยถอยก่อน

สถานการณ์ของเกมนี้จะเปลี่ยนไป ถ้าวันหนึ่ง Google สามารถเพิ่มรายรับและจำนวนลูกค้า AdWords ได้มากพอที่จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ถึงแม้ว่า eBay จะถอนโฆษณาไปก็ตาม คะแนนก็จะเปลี่ยนไปดังตารางนี้

Game Theory of eBay and Google

ถ้า Google รุกราน แต่ eBay ยังนิ่งเฉย Google ก็จะได้ +10 แต่ถ้า eBay ตอบโต้ Google ก็ยัง +9 อยู่ เพราะได้กระจายความเสี่ยงทางด้านรายรับไว้แล้ว

ขณะที่ถ้ามองจากทาง eBay เมื่อถูก Google รุกราน eBay จะทำได้เพียงกัดฟันและนิ่งเฉยไว้ เพราะถ้า eBay ตอบโต้ จะเสียถึง -10 แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ยังเสียแค่ -5

กลยุทธ์ของ eBay หลังจากนี้ก็คือต้องกระจายความเสี่ยงเรื่อง traffic source ต้องพยายามหาวิธีทำให้คนเข้าเว็บด้วยวิธีอื่นที่ไม่ต้องพึ่ง Google ให้ได้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ง่ายเลย ตราบเท่าที่ Google ยังครอง market share เป็นเบอร์หนึ่งในตลาด search engine และยังสูงขึ้นเรื่อยๆ

ผมเชื่อว่าวันหนึ่งเกมจะเปลี่ยนไป ถ้า eBay ยังหา traffic source ที่ดีกว่า Google ไม่ได้ Google ก็จะได้ใจมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเสนอค่าบริการ Google Checkout ที่ถูกกว่า PayPal และยัง Convergence กับบริการอื่นๆ ของ Google อีกด้วย เพื่อดึงดูดให้คนหันมาใช้ Google Checkout กันมากขึ้น และถ้ามีผู้ใช้มากจนถึงจุดหนึ่ง Google อาจจะเปิดบริการ Auction ฟรีเพื่อแข่งกับ eBay เลยก็ยังได้

วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550

FON เครือข่าย Wi-fi ที่คุณใช้งานได้ฟรีทั่วโลก

จากแนวคิดริเริ่มที่บอกว่า "เมื่อคุณอยู่ที่บ้าน คุณเป็นราชาแห่ง Wi-fi เพราะคุณมี Wireless Access Point ของคุณเอง แต่พอคุณออกนอกบ้าน คุณจะกลายเป็นเพียงขอทาน Wi-fi ที่ต้องไปขออินเทอร์เน็ตคนอื่นใช้" ทำให้เกิดแนวคิด FON ซึ่งเป็นเครือข่าย Wi-fi ทั่วโลกที่สมาชิกสามารถเข้าไปใช้งานได้ฟรี

FON Concept

ผู้ที่เป็นสมาชิก FON จะถูกเรียกว่า Fonero เขาคือคนที่มี Wireless Access Point สำหรับใช้งานอยู่ที่บ้านอยู่แล้ว แต่เขาไม่อยากใช้งานเพียงคนเดียว จึงแบ่ง bandwidth ส่วนหนึ่งให้คนอื่นสามารถเข้ามาใช้บริการได้ด้วย สิ่งที่เขาจะได้รับตอบแทนก็คือเขาก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตฟรีเวลาที่อยู่นอกบ้านได้เช่นกัน

FON แบ่งกลุ่มผู้ใช้งานออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่า Linus คือคนใจดีที่แบ่งอินเทอร์เน็ตของตัวเองให้คนอื่นใช้งานได้ฟรีๆ กลุ่มที่สองเรียกว่า Bill คือคนที่ใจดีเฉพาะกับ Fonero ด้วยกัน แต่จะเก็บเงินค่าใช้อินเทอร์เน็ตจากคนที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายนี้ กลุ่มที่สามคือ Alien คือคนที่ไม่ใช่ Fonero แต่ต้องการขอใช้อินเทอร์เน็ตด้วย ก็สามารถซื้อ access pass จาก FON ได้ในราคาถูก และ FON ก็จะแบ่งรายได้ 50% ให้กับ Bill ที่เป็นเจ้าของ bandwidth ที่ Alien เข้าไปใช้

วิธีการที่คุณจะเข้าไปเป็น Fonero ก็ง่ายมาก เพียงแค่ซื้อ La Fonera ซึ่งเป็น Wi-fi router ในราคาเพียง $39.95 (ประมาณ 1,500 บาท) มาติดตั้งในบ้านของคุณ จากนั้นก็ลงทะเบียนเป็นสมาชิก FON เพียงแค่นี้เองครับ

ปัจจุบันนี้มีเครือข่าย FON อยู่ในทวีปยุโรปหนาแน่นมาก ถ้าคุณแบกโน้ตบุ๊กหรือพก PDA ไปเที่ยวยุโรป คุณจะหา Wi-fi ใช้งานได้ง่ายมาก ซึ่งเราสามารถค้นหาได้ว่ามี FON Spot อยู่ที่ไหนบ้างด้วยการใช้ FON Maps

สำหรับในประเทศไทยก็เริ่มมี FON Spot ให้เห็นบ้างแล้วครับ โดยในกรุงเทพมีอยู่ 4 จุดด้วยกัน อยู่ในย่านสีลม สามเสน สุขุมวิท และราชดำริ

สถานที่ในกรุงเทพที่มี FON Spot

ที่นี่แหละครับที่มี FON Spot อยู่บนชั้น 32 อาคาร ITF Silom Palace ตรงหัวมุมถนนสีลมตัดกับนราธิวาสราชนครินทร์ อยู่กึ่งกลางระหว่างรถไฟฟ้า BTS สถานีศาลาแดงและช่องนนทรี

มาดูในแง่ของธุรกิจกันบ้าง เทคโนโลยีแบบนี้จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ครับ

บางคนอาจจะสงสัยว่า FON ทำแบบนี้แล้วได้อะไร? router ก็ขายในราคาถูกมาก รายได้จากการขาย access pass ก็คงไม่ได้เยอะแยะอะไรนัก แต่ถ้าเราลองเข้าไปดูรายชื่อนักลงทุนของ FON เราจะเห็นทั้ง Skype และ Google ครับ

Skype ได้อะไรจาก FON? ให้เราลองนึกภาพว่า FON Spot ก็เหมือนเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และ Skype Phone ที่สามารถเชื่อมต่อ Wi-fi ได้ก็เหมือนกับเครื่องโทรศัพท์มือถือ เมื่อสองอย่างรวมกัน เราก็จะได้โครงข่ายโทรคมนาคมไร้สายที่เป็น Voice Over IP ที่มีค่าบริการถูกมาก และกลายเป็นคู่แข่งทางตรงกับ AIS, DTAC, True Move ลองนึกภาพจังหวัดใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพหรือเชียงใหม่ มี FON Spot ครอบคลุมทั้งเมือง และสามารถใช้ Skype Phone โทรหา Skype Phone ด้วยกันโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ สิครับ งานนี้ AIS กับ DTAC หนาวแน่ ส่วน True Move ได้วางเครือข่าย Hot Spot ไว้พอสมควรแล้ว ก็ยังพอมีทางหนีทีไล่อยู่บ้าง

แล้ว Google จะได้ประโยชน์อะไรจากเครือข่าย FON บ้างล่ะ? สิ่งที่ Google ปรารถนาที่สุดคือการพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณนั่งเล่นโน้ตบุ๊กอยู่ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง โดยต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน FON Spot แล้วเข้า Google เพื่อ search หาร้านขายรองเท้า Google จะแสดงผลลัพธ์ของร้านขายรองเท้าที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณเชื่อมต่อ FON Spot อยู่ ซึ่งร้านขายรองเท้าทั้งหลายได้ปักหมุดบอกตำแหน่งของร้านตัวเองใน Google Map ไว้แล้ว นอกจากนี้ ถ้าร้านรองเท้าซื้อโฆษณา Google AdWords เอาไว้ด้วย Google ก็จะแสดงโฆษณาของร้านในบริเวณนั้นก่อนโฆษณาของร้านที่อยู่ในพื้นที่อื่น

ลองมองกลับมาที่คนธรรมดาอย่างเราๆ บ้างว่าจะสร้างธุรกิจจาก FON ได้อย่างไร? FON เปิดโอกาสให้เราเป็น Bill คนที่ขาย bandwidth ให้กับ Alien แล้วได้รับส่วนแบ่งรายได้ 50% รายได้นี้อาจจะไม่มากนัก แต่ก็น่าจะเพียงพอให้คุณเอาไปจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต ADSL ได้ หรือถ้าคุณมีบ้านอยู่ในย่านที่มี Alien พลุกพล่าน ย่านธุรกิจ หรือย่านที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติพักอาศัยกันเยอะๆ คุณก็สามารถสร้างรายได้เสริมขึ้นมาได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนเปิดร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ขึ้นมา

นอกจากนี้แล้ว FON ยังเปิดโอกาสให้คุณส่งโฆษณาไปแสดงบนหน้าจอบราวเซอร์ของเครื่องที่ขอติดต่อเข้า FON Spot ของคุณได้ด้วย คุณอาจจะไปติดต่อเจ้าของร้านค้าที่อยู่ในละแวกบ้านคุณ และเสนอขายโฆษณาให้พวกเขาก็ได้ แล้วถ้าเครือข่ายของ FON ใหญ่ขึ้น ก็จะมีธุรกิจเอเจนซี่โฆษณาที่จะช่วยหาลูกค้ามาให้คุณโดยที่คุณไม่ต้องวิ่งขายโฆษณาเอง

นี่คืออีกหนึ่งเทคโนโลยีที่กำลังจะสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตเรา แต่เทคโนโลยีนี้จะเกิดขึ้นในไทยได้หรือไม่ และอีกนานแค่ไหนถึงจะเกิด คงต้องคอยดูกันต่อไป

ไทยเวนเจอร์ เปิดโครงการ "การศึกษา 2.0"

นายชีพธรรม คำวิเศษณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไทยเวนเจอร์ดอทคอม จำกัด กล่าวว่า เพื่อให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ทำให้ครูและนักเรียนสามารถมีระบบอีเมล์ใช้ภายใต้โดเมนเนมของตนเองได้ บริษัทฯ จึงจัดทำโครงการ "การศึกษา 2.0" ขึ้น โดยใช้ระบบจีเมล (G-Mail) ของ กูเกิ้ล (Google) ทำให้ครูและนักเรียนมีพื้นที่จัดเก็บอีเมล 2 กิกะไบต์ รวมทั้งใช้งานตัวระบบ “กูเกิลแอพส์” (Google Apps) เป็นระบบบริหารออฟฟิศบนกูเกิ้ล นอกจากอีเมล์แล้วยังมีระบบสื่อสารภายในและภายนอก องค์กร พร้อมกับแอพลิเคชันจัดการเอกสาร และ สเปรดชีท พร้อมกับสร้างเว็บไซต์ของโรงเรียนภายใต้โดเมนเนมด้วยเช่นกัน

"ระบบดังกล่าวจะทำให้ครูและนักเรียนมีอีเมล์ รวมทั้งระบบการเรียนการสอนออนไลน์ได้เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ที่ใช้ระบบนี้ได้แก่ โรงเรียนบริหาร เคลล๊อก และโรงเรียนบริหารธุรกิจธันเดอร์เบิร์ด เป็นต้น อีกทั้งระบบนี้จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต โดยขณะนี้โรงเรียนในประเทศไทยไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของประเทศ ส่วนมากติดตั้งอินเทอร์เน็ตแล้ว เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมไอพีสตาร์" ผู้ก่อตั้งบริษัทไทยเวนเจอร์ดอทคอม กล่าว

นายชีพธรรม กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการนี้ โดยการสนับสนุนของ หน่วยงานรับจดโดเมนเนมของประเทศไทยคือ บริษัท ทีเอชนิค (http://www.thnic.net/) ที่ได้ติดตั้งให้กับโรงเรียนนาทรายวิทยาคม อ.ลี้ จ.ลำพูน โรงเรียนหนองบัววิทยายน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู โรงเรียนบ้านโป่งน้อย ต.สุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนบ้านขว้าวโค้ง อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ โรงเรียนบ้านหนองยาง อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ โรงเรียนตากสินทิพย์เทคโน อ.มะขาม จ.จันทบุรี และโรงเรียนเวียงเทพวิทยา อ.สอง จ.แพร่

ผู้ก่อตั้งบริษัทไทยเวนเจอร์ดอทคอม กล่าวด้วยว่า สำหรับ โรงเรียนทั่วประเทศที่สนใจสามารถลงทะเบียน ขอจดโดเมนเนมและติดตั้งระบบ Google Apps โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และจะมีการอบรมการใช้งานในส่วนของกรุงเทพ ในวันที่ 28 มิ.ย.ที่โรงแรมบ้านสิริ และภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ จะมีขึ้นในวันที่ 21 ก.ค. กลุ่มครูและอาจารย์อบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.thaiventure.com/ และสามารถชมภาพของโรงเรียนที่ติดตั้งได้ที่ picasaweb.google.com/thaiventure.com

ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ตอนนี้ผมใช้ Google Apps กับเว็บไซต์ 3 เว็บแล้วครับ ผมว่ามันเหมาะมากเลยนะสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่ไม่อยากสิ้นเปลืองเวลามาจัดการกับ mail server เพื่อนผมทำงานอยู่บริษัทซอฟท์แวร์แห่งหนึ่ง พนักงานประมาณ 30 คน แต่ mail server มีปัญหาบ่อยมาก วันเสาร์อาทิตย์มักจะไฟตกทำให้เซิร์ฟเวอร์ดับ ใครส่ง mail มาก็จะไม่ได้รับ บางที mail server มีปัญหา ส่ง mail ออกไปแต่ผู้รับไม่ได้รับก็มี นอกจากนี้ยังต้องสิ้นเปลืองแรงของ system admin ในการอัพเดทระบบเพื่อป้องกัน spam mail อีก นี่ถ้าเปลี่ยนมาใช้ Google Apps ซะ ปัญหาจุกจิกพวกนี้ก็จะได้หมดไป

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2550

Next E-Business Model 2.0 คุณจะเป็นเศรษฐีออนไลน์ได้อย่างไรในยุคนี้

E-Business Model 1.0 - Digitize the offline world

ผมเข้าสู่แวดวงดอทคอมครั้งแรกในปี 2538 ซึ่งเป็นปีที่ผมหัดเขียนโฮมเพจโดยใช้ Notepad และเปิดดูโดยใช้ Netscape พอในปี 2539 ผมได้พัฒนาเว็บไซต์สำหรับส่งเพจได้ทุกค่าย ไม่จำกัดจำนวนหมายเลข ไม่จำกัดความยาวของข้อความที่ใช้ส่ง และยังพัฒนาเว็บไซต์ส่งอีการ์ดที่เป็นเว็บของคนไทยเว็บแรกๆ

แต่ถ้าถามว่าแล้วผมเข้าสู่แวดวง "ธุรกิจ" ดอทคอมครั้งแรกเมื่อไร ก็คงจะต้องตอบว่าในปี 2540 ที่ได้เข้าไปเป็นทีมงานรุ่นแรกของ Pantip.com เว็บไซต์ที่ถึงแม้จะไม่ได้มีภาพความเป็นธุรกิจจ๋า แต่ก็มีโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน และคงจะเป็นเว็บไทยเพียงไม่กี่แห่ง ที่มีอายุยืนยาวกว่า 10 ปี โดยใช้เงินลงทุนเพียง 200,000 บาท ไม่มีการเพิ่มทุน ไม่มีการขายหุ้นเพื่อหาเงินเพิ่ม แต่เติบโตจนถึงทุกวันนี้ได้ก็ด้วยกำไรสะสมเพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับคุณวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ที่มีวิสัยทัศน์และมุมมองต่อธุรกิจดอทคอมที่เฉียบขาด

ในยุคเกือบ 10 ปีที่แล้ว ที่เราอาจจะเรียกว่ายุค 1.0 ซึ่งผมเรียกชื่อยุคนี้ว่า Digitize the offline world วิธีการคิดหาโมเดลธุรกิจดอทคอมในยุคนี้นั้นง่ายมาก เพียงแค่นึกถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราในโลกที่จับต้องได้ แล้วทำสิ่งนั้นให้เป็นดิจิตอลซะ

ตัวอย่างเช่น ในโลกที่จับต้องได้ เรามีนิตยสารให้อ่าน ในโลกดอทคอม เราก็มี E-Magazine ในโลกที่จับต้องได้ เรามีสภากาแฟที่อากงอาแปะมานั่งกินกาแฟตอนเช้าแล้วคุยเรื่องการเมืองกัน ในโลกดอทคอม เราก็มี Web Forum ในโลกที่จับต้องได้ เรามีธนาคาร ในโลกดอทคอม เราก็มี E-Banking เป็นต้น

Digitize the offline world

แต่การ Digitize the offline world ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จไปหมดทุกอย่าง ในเดือนมีนาคม ปี 2000 ดัชนี NASDAQ Composite พุ่งขึ้นไปสูงถึงระดับ 5,000 จุด แต่ในปลายปีเดียวกัน มูลค่ากลับลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว และลดลงถึงจุดต่ำสุดในปี 2002 ที่มูลค่าเหลือเพียง 1,200 จุด

The technology-heavy NASDAQ Composite index peaked in March 2000, reflecting the high point of the dot-com bubble.(ภาพจาก www.wikipedia.com/wiki/Dot-com_bubble)

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจ Dot-com กลายเป็นธุรกิจ Dot-bomb?

ผมขอยกตัวอย่างโมเดลธุรกิจหนึ่งที่ใช้หลักการ Digitize the offline world นั่นก็คือ E-Supermarket เว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคปี 2000 ที่ใช้โมเดลนี้ก็คือ Webvan.com เว็บที่ให้คุณแม่บ้านที่มีภาระต้องดูแลลูกเล็กอยู่กับบ้านจนไม่มีเวลาปลีกตัวออกมาซื้อของ ได้เข้ามาเลือกช็อปสินค้าที่ต้องการจากหน้าเว็บได้ ไม่ว่าจะเป็นนม ไข่ เนื้อสัตว์ ผลไม้ มีให้เลือกซื้อหมด พนักงานของเว็บจะนำสินค้าที่สั่งซื้อขนใส่รถตู้ แล้วขับไปส่งถึงหน้าบ้าน เว็บไซต์นี้ใช้เงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสูงเกือบหนึ่งพันล้านเหรียญ แต่ก็ล้มละลายในปี 2001 โดยที่ยังไม่เคยมีกำไรเลย ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้ารถตู้มาส่งของตอนที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ แล้วจะทำอย่างไรกับนมหรือเนื้อสัตว์?

อีกเว็บไซต์หนึ่งที่เป็นสัญชาติไทยและพยายามใช้โมเดลนี้ก็คือ Chowhuay.com มีสินค้าทุกอย่างเหมือนเวลาที่คุณไปเดินซุปเปอร์มาร์เก็ต ถ้าคุณสั่งซื้อสินค้าตอนเช้า สินค้าจะไปส่งที่บ้านตอนบ่าย ถ้าคุณสั่งซื้อตอนบ่าย สินค้าจะไปส่งในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งผมก็เกิดคำถามขึ้นว่าแล้วทำไมผมจะต้องเข้าเว็บในตอนบ่ายเพื่อซื้อสินค้าด้วยล่ะ ในเมื่อเวลาเลิกงานแล้วผมก็ไปเดินซื้อของก่อนกลับบ้านได้ เว็บนี้ปิดตัวไปในปี 2001

ทำไมโมเดลธุรกิจบางอย่างถึงไปได้ไม่เลว แต่บางโมเดลกลับดิ่งลงเหว?


E-Business Model 2.0 - Make people's life easier

หลังจากผ่านพ้นช่วง Dot-bomb ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดอทคอม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ เจ้าของเงินทุน หรือแม้แต่เจ้าหนี้ ต่างก็ตระหนักถึงภาพลวงตาของธุรกิจนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทุกคนต่างค้นหาว่าปัจจัยอะไรที่จะทำให้ธุรกิจดอทคอมประสบความสำเร็จได้ จึงเป็นที่มาของยุค 2.0 ซึ่งผมเรียกว่ายุค Make people's life easier หรือการทำให้ชีวิตของคนเราง่ายขึ้น

มี framework หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับโลกยุค 2.0 อย่างมาก นั่นก็คือ The Transaction Triangle

ถ้าคุณเป็นพ่อบ้านแสนดีเข้าครัวเพื่อทำไก่อบให้แฟนทาน คุณก็จะต้องไปหาซื้อไก่ก่อน โดยมีทางเลือกให้คุณสองทาง คือการซื้อจากหน้าฟาร์ม CPF ที่นครปฐม ราคาตัวละ 30 บาท หรือซื้อจากห้างเทสโก้โลตัสแถวบ้านคุณ ราคาตัวละ 50 บาท คุณจะซื้อไก่จากที่ไหน?

Comparable Chicken Sale in CPF and Tesco Lotus

คนส่วนใหญ่มักจะตอบได้เลยว่าซื้อจากเทสโก้โลตัสสิ เพราะมันอยู่ใกล้บ้านกว่าฟาร์ม CPF นี่แหละครับที่เรียกว่า Transaction Cost เพราะถ้าคุณไปซื้อจากฟาร์ม CPF ถึงแม้ว่าจะขายไก่ในราคาเพียง 30 บาท แต่คุณอาจจะต้องเสียค่าเดินทางถึง 200 บาท รวมแล้วไก่ตัวนี้จะมีมูลค่า 230 บาท ขณะที่เทสโก้โลตัสขายไก่ที่ราคา 50 บาท ก็เพราะว่ามีต้นทุนค่าขนส่งและการจัดการอีก 15 บาท และอาจจะขอกำไรไว้ 5 บาท แต่คุณมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปที่ห้างเพียง 20 บาท ถึงแม้ว่าราคาไก่จะสูงถึง 50 บาท แต่โดยรวมแล้วคุณจะจ่ายเพียง 70 บาทเพื่อให้ได้ไก่มา เมื่อเทียบกับ CPF ที่จะต้องเสียถึง 230 บาท

Transaction Cost มีอะไรบ้าง? ถ้าว่ากันตามตำรา Management Strategy ของ Daniel F. Spulber ก็มีทั้งหมด 5 อย่าง

  1. Fixed cost of exchange คือต้นทุนคงที่ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน เช่น CPF คงไม่อยากลงทุนระบบ Point of Sale ที่หน้าฟาร์มเพื่อขายปลีกไก่ ไม่อยากทำระบบแคชเชียร์ ไม่อยากจ้างพนักงานยิงบาร์โค้ด ไม่อยากติดตั้งเครื่องรูดบัตรเครดิต เพราะระบบเหล่านี้มันเป็นต้นทุนคงที่ และคงไม่คุ้มถ้าจะเอามาใช้เพื่อขายไก่เพียงอย่างเดียว ขณะที่เทสโก้โลตัสมีระบบนี้ไว้เพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกค้ามากที่สุด และระบบ POS ของเทสโก้โลตัสไม่ได้มีไว้เพื่อขายไก่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขายเครื่องดื่ม ขายขนมขบเคี้ยว ขายแชมพู ขายเสื้อผ้า ฯลฯ
  2. Search costs คือต้นทุนที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนสองคนหากันจนเจอ เช่น ถ้าไม่มีห้างค้าปลีกใดๆ เลย ไม่มีร้านค้าปลีก ไม่มีตลาดสด และคุณไม่อยากซื้อไก่จากฟาร์ม CPF แล้วคุณจะไปซื้อไก่จากที่ไหน? คุณจะต้องมีต้นทุนเท่าไหร่ในการค้นหาฟาร์มขายไก่ฟาร์มอื่น?
  3. Communication costs คือต้นทุนของการแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น ถ้าคุณพอจะหารายชื่อฟาร์มขายไก่รายอื่นมาได้แล้ว แต่คุณก็ยังไม่ทราบว่าฟาร์มนั้นมีไก่ประเภทไหนขายบ้าง ไซส์ของไก่เป็นอย่างไร และขายในราคาเท่าไหร่ คุณก็ต้องโทรศัพท์ถามเจ้าของฟาร์ม แล้วลองคิดดูว่าถ้ามีลูกค้ารายย่อยแบบคุณโทรถามสักวันละ 100 คน เจ้าของฟาร์มคงไม่ได้เลี้ยงไก่กันพอดี
  4. Information costs คือต้นทุนในการรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก เช่น ถ้าคุณมีรายชื่อฟาร์มไก่ 10 แห่ง คุณก็จะต้องโทรเช็คทุกฟาร์มเพื่อจะได้รู้ว่าราคาไก่ของฟาร์มไหนขายถูกที่สุด
  5. Monitoring costs คือต้นทุนความน่าเชื่อถือ เช่น ถ้าคุณซื้อไก่ตรงจากฟาร์มไก่ คุณจะทราบได้อย่างไรว่าไก่จากฟาร์มนั้นไม่ติดเชื้อไข้หวัดนก แต่ถ้าคุณซื้อจากเทสโก้โลตัส อย่างน้อยคุณก็พอจะมั่นใจได้ว่าห้างได้ทำการตรวจสอบฟาร์มไก่มาในระดับหนึ่งแล้ว เพราะถ้ามีคนซื้อไก่จากห้างนี้แล้วติดเชื้อไข้หวัดนก ทางห้างก็อาจจะเสื่อมเสียชื่อเสียงได้

พวกนี้คือทฤษฎีครับ แต่ผมมักจะขี้เกียจจำ ผมก็จะเหมารวมเอาเลยว่า Transaction Cost คือต้นทุนที่ทำให้ชีวิตของคุณลำบากขึ้นนั่นเอง

แต่โดยปกติแล้วเรามักจะไม่ค่อยรู้สึกกันว่าชีวิตของเราตอนนี้มันลำบากอะไร เป็นเพราะเราเคยชินกับการใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ ให้ลองนึกย้อนไปในสมัยที่คุณยังเป็นนักเรียน (สำหรับคนที่เป็นนักเรียนในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตนะครับ) ถ้าครูสั่งให้คุณทำรายงาน คุณจะต้องทำอย่างไรบ้าง? วิธีที่ผมทำก็คือการเดินเข้าห้องสมุด ยืนเลือกหนังสือที่ดูน่าจะเกี่ยวข้องกับหัวข้อรายงานของผม เพื่อที่จะพบว่าหนังสือเล่มนี้ยังไม่ใช่ แล้วก็หยิบใส่ที่เดิม จากนั้นก็หาเล่มอื่นๆ ต่อไปจนพบ เดินไปที่บรรณารักษ์ ทำเรื่องขอยืมหนังสือกลับบ้าน พอถึงบ้านก็เปิดหาเนื้อหาที่จะเอามาสรุปเป็นรายงานได้

แต่ถ้าลองถามนักเรียนในสมัยนี้ดูสิครับว่าทำรายงานกันอย่างไร คำตอบก็คือเข้า Google ค้นข้อมูลกันทั้งนั้น ในสมัยก่อนเราไม่ได้รู้สึกลำบากอะไรกับการใช้บริการห้องสมุด แต่ถ้าให้นักเรียนสมัยนี้ไปค้นหนังสือจากห้องสมุด เขาก็จะรู้สึกว่ามันลำบาก เพราะ Google ได้ช่วยลด Transaction Cost ให้กับเขาเรียบร้อยแล้ว เขาเคยชินกับความสบายแบบนี้ไปแล้ว

เมื่อเรารู้แล้วว่าชีวิตของมนุษย์ชอบอะไรที่ง่ายๆ ดังนั้น ถ้าเราค้นพบว่ายังมีอะไรที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ยุ่งยากอยู่ เราก็สามารถสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิตที่ง่ายขึ้น


กรณีศึกษาของ Compaq และ Dell

เมื่อสิบปีที่แล้ว บริษัท Compaq เป็นบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยักษ์ใหญ่ของโลก การขายคอมพิวเตอร์ของ Compaq ก็เป็นเช่นเดียวกับการขายไก่ของ CPF ก็คือตัวเองวางตัวเป็นเพียงผู้ผลิต ส่วนงานขายปลีกให้เป็นหน้าที่ของร้านค้าปลีก ซึ่งในกรณีนี้ก็คือร้าน Best Buy ที่เป็นห้างค้าปลีกด้านอิเล็คทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์

เมื่อ Compaq ผลิตคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ก็ส่งไปให้ Best Buy ขาย ลูกค้าก็ไม่ต้องเดินทางมาถึงโรงงานของ Compaq แต่เดินทางไปที่ Best Buy สาขาใกล้บ้าน ก็สามารถหาซื้อคอมพิวเตอร์ที่ต้องการได้แล้ว ดูเหมือนว่าชีวิตของลูกค้าก็ไม่ได้ลำบากอะไรเลย

แต่แล้ววันหนึ่ง Dell ก็เข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้ บริษัทที่ก่อตั้งโดยชายหนุ่มที่ชื่อ Michael Dell เขาเริ่มธุรกิจของเขาตั้งแต่เป็นนักศึกษาปีหนึ่ง ด้วยการรับจ้างทำงานจิปาถะด้านฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ เช่น การ format ฮาร์ดดิสก์ การใส่แรมเพิ่ม เป็นต้น จุดเริ่มต้นของเขาอาจจะแตกต่างจากมหาเศรษฐีไอทีคนอื่นๆ คนอื่นอาจจะเริ่มธุรกิจจากโรงรถ แต่ Michael Dell เริ่มธุรกิจจากห้องน้ำในหอพัก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าพ่อแม่ของ Michael Dell อยากให้เขาตั้งใจเรียนหนังสือมากกว่า เวลาที่พ่อแม่มาเยี่ยมที่หอพัก Michael Dell ก็ต้องย้ายคอมพิวเตอร์ทั้งหลายไปฝากไว้ในห้องน้ำของห้องเพื่อน

ต่อมา Michael Dell ได้ขยายธุรกิจไปเป็นการประกอบคอมพิวเตอร์เพื่อขายให้กับบริษัทต่างๆ และเมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มบูม Dell จึงได้สร้างเว็บไซต์สำหรับขายคอมพิวเตอร์ตรงถึงมือลูกค้า ลูกค้าเพียงเข้าเว็บเพื่อเลือกสเป็กคอมพิวเตอร์ที่ต้องการ จากนั้น Dell จะจัดส่งคอมพิวเตอร์ให้ภายใน 1 - 3 วัน

ในกรณีนี้ Dell ได้ทำการตัดตัวกลางคือ Best Buy ออกไป สิ่งที่ลูกค้าได้อย่างแรกก็คือราคาคอมพิวเตอร์ที่ถูกลงอย่างมากเมื่อเทียบกับ Compaq เพราะลูกค้าไม่ต้องจ่ายให้กับตัวกลาง อย่างที่สองคือลูกค้าจะได้รับคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุดจริงๆ เพราะ Dell จะประกอบหลังจากที่ได้รับออเดอร์จากลูกค้าแล้วเท่านั้น ต่างจาก Compaq ที่ต้องคาดการณ์ก่อนว่าคอมพิวเตอร์แต่ละรุ่นจะมียอดขายมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจึงผลิตตามที่คาดการณ์ไว้ แล้วจัดส่งไปให้ Best Buy แล้วลูกค้าถึงจะมาเลือกซื้อ จำนวนวันที่กว่าคอมพิวเตอร์จะไปถึงมือลูกค้าอาจจะสูงถึง 45 วัน ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นตกรุ่นได้แล้ว ขณะที่ Dell สามารถขายคอมพิวเตอร์ที่ใช้ CPU รุ่นใหม่ของ Intel ได้ในวันเดียวกับที่ Intel เปิดตัว CPU รุ่นใหม่

แต่สิ่งที่ Dell ได้รับนั้นมากกว่าที่ลูกค้าได้รับเสียอีก Dell เก็บเงินจากลูกค้าที่จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตก่อน แล้วจึงส่งของให้ลูกค้า ขณะที่ Compaq จะต้องให้ credit term แก่ Best Buy กว่าจะเก็บเงินได้ก็ผ่านไปหนึ่งเดือนแล้ว ทำให้ Dell ได้เปรียบเรื่องต้นทุนเงินทุนมากกว่า Compaq สภาพคล่องจึงสูงกว่ามาก

ถ้าเราลองวาดสามเหลี่ยม Transaction ออกมา จะพบว่าราคาคอมพิวเตอร์ที่ Dell ขาย PD รวมกับ Transaction Cost T3 แล้ว ยังน้อยกว่าราคาคอมพิวเตอร์ของ Compaq PC รวมกับ Transaction Cost T1 และ T2 นี่จึงเป็นเหตุผลว่าโมเดลการตัดตัวกลางของ Dell สามารถเอาชนะโมเดลของ Compaq ได้

The Transaction Triangle of Computer Manufacturer Compaq and Dell

แล้วถ้า Compaq จะขายตรงผ่านหน้าเว็บตัวเองบ้างล่ะ? คำตอบก็คือทำได้ยากและต้องใช้เวลามาก เพราะการทำแบบนั้นคือการทำลาย Best Buy ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ Compaq อีกทั้ง Compaq ยังขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายอย่างผ่าน Best Buy การเปลี่ยนโมเดลมาขายตรงจะทำให้เกิด Channel Conflict ขึ้นทันที ต่างกับ Dell ที่ไม่เคยอาศัยตัวกลางมาก่อนอยู่แล้ว Dell ก็เลยกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมประกอบคอมพิวเตอร์ได้อย่างง่ายดาย ขณะที่ Compaq ก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายต้องควบรวมกิจการกับ HP


กรณีศึกษาของ PantipMarket.com

ถ้าคุณเป็นเจ้าของรถยนต์และอยากจะขายเพื่อไปซื้อรถคันใหม่ โดยที่คุณไม่มีเพื่อนคนไหนที่กำลังอยากซื้อรถมือสองเลย และคุณก็ไม่อยากขายให้เต๊นท์รถมือสองเพราะจะถูกกดราคา คุณจะทำอย่างไร?

หรือถ้าคุณเป็นคนที่อยากซื้อรถมือสอง โดยที่คุณไม่รู้จักเพื่อนคนไหนที่กำลังอยากขายรถ และคุณก็ไม่อยากซื้อจากเต๊นท์เพราะเต๊นท์ขายแพง คุณจะทำอย่างไร?

คำตอบก็คือการใช้บริการจาก Classifieds นั่นเอง ธุรกิจนิตยสาร Classifieds เกิดขึ้นได้ก็เพราะทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต่างก็มี Search Costs ในการค้นหาซึ่งกันและกัน ผู้ขายจึงเลือกที่จะลงประกาศขายรถยนต์ใน Classifieds ซึ่งอาจจะลงฟรี หรือแบบเสียเงินเพื่อให้โฆษณาเด่นชัดมากขึ้น ส่วนผู้ซื้อก็ยินดีที่จะซื้อนิตยสาร Classifieds ในราคาถูกมานั่งเลือกรถยนต์มือสองรุ่นที่ตัวเองต้องการ (T2 + T3 < T1)

The Transaction Triangle of Classifieds

แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น โมเดลนิตยสาร Classifieds ก็ถูกท้าทายจากคู่แข่งที่มาในรูปแบบดิจิตอลที่มีต้นทุนต่ำกว่า หนึ่งในคู่แข่งเหล่านั้นก็คือเว็บ PantipMarket.com

PantipMarket.com ใช้โมเดลแบบเดียวกับนิตยสาร Classifieds คือการเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมผู้ขายกับผู้ซื้อให้พบกัน แต่ PantipMarket.com โดดเด่นกว่าในแง่ของ Transaction Cost ที่ต่ำกว่า ทั้ง Transaction Cost ในฝั่งผู้ขาย (T4 < T2) และ Transaction Cost ในฝั่งผู้ซื้อ (T5 < T3)

ในฝั่งผู้ขายนั้น PantipMarket.com ช่วยให้ผู้ขายสามารถลงประกาศขายสินค้าได้ทันที ไม่ต้องรอ 15 วันเหมือนนิตยสาร ผู้ขายสามารถปรับแต่งแก้ไขประกาศของตัวเองได้ตลอดเวลา ถ้าลงเบอร์โทรศัพท์ผิดก็แก้ไขได้ทันที แต่ถ้านิตยสารลงเบอร์โทรผิดก็แก้อะไรไม่ได้เลย นอกจากนี้ถ้าผู้ขายสามารถขายสินค้าได้แล้ว จะลบประกาศของตัวเองออกเมื่อไหร่ก็ได้ ต่างกับนิตยสารที่ลบอะไรออกไม่ได้ ถึงจะขายสินค้าได้แล้วแต่ก็ยังต้องคอยรับโทรศัพท์อยู่เรื่อยๆ

ส่วนในฝั่งผู้ซื้อ จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าพฤติกรรมการค้นหาสินค้าที่ต้องการจะแตกต่างกัน สำหรับนิตยสาร ผู้ซื้อจะต้องคอยกวาดสายตาไปตามคอลัมน์ที่มีตัวหนังสือเล็กจิ๋ว เมื่อพบสินค้าที่สนใจแล้ว ก็อาจจะใช้ปากกาไฮไลท์วงเอาไว้ หรือไม่ก็ตัดโฆษณานั้นออกมาจากนิตยสารเลย ขณะที่ PantipMarket.com ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถค้นหาสินค้าที่ตัวเองต้องการได้ง่ายๆ ด้วยระบบ Search เมื่อผู้ซื้อค้นเจอแล้วก็ Bookmark ไว้ได้ทันที

นี่คือการทำให้ชีวิตของคนเราง่ายขึ้นแบบเห็นได้ชัด จนทำให้เกิดโมเดล Online Classifieds ขึ้นมาได้ ยอดขายของธุรกิจนี้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะสวนทางกับยอดขายของนิตยสาร Classifieds ที่จะค่อยๆ ลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และยังประสบปัญหาต้นทุนกระดาษที่สูงขึ้นอีก


กรณีศึกษาของ Google AdWords และ Google AdSense

เว็บมาสเตอร์ในยุคก่อนมีชีวิตที่ค่อนข้างลำบากกว่าเว็บมาสเตอร์ในยุคปัจจุบัน เพราะนอกจากจะต้องทำเว็บแล้ว ยังต้องวิ่งหาลูกค้ามาลงโฆษณาในเว็บอีก

ส่วนผู้ซื้อโฆษณาก็เหนื่อยไม่แพ้กัน ตัวเองก็ไม่ได้รู้จักเว็บไซต์มากนัก ไม่รู้ว่าจะไปหาเว็บไซต์ที่ไหนเพื่อโฆษณาสินค้าของตัวเองดี ถึงแม้จะหาเว็บไซต์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว ก็ยังต้องคอยโทรสอบถามราคาค่าโฆษณาและจำนวนคนเข้าเว็บอีก

ปัญหาความลำบากของชีวิตทั้งคู่จบลงเมื่อ Google อาสาเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมคนทั้งสองเข้าด้วยกัน โดย Google นำเสนอผลิตภัณฑ์ Google AdSense ให้แก่เว็บมาสเตอร์ที่อยากมีรายได้จากการทำเว็บ แต่ไม่อยากวิ่งหาโฆษณาเอง และยังนำเสนอ Google AdWords แก่ผู้ซื้อโฆษณาที่อยากเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยไม่ต้องเหนื่อย

The Transaction Triangle of Google AdWords and Google AdSense

โมเดลนี้น่าจะเป็นที่คุ้นเคยของคนในวงการดอทคอมกันดีอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือเราสามารถเป็นตัวกลางของตัวกลางได้อีก เช่น เว็บมาสเตอร์บางคนอาจจะบอกว่า Google AdSense ยิงโฆษณาที่ไม่ค่อยตรงกลุ่มเป้าหมายมาให้ ทำให้ไม่ค่อยมีคนคลิก เว็บก็เลยไม่ได้เงิน เว็บมาสเตอร์ก็อาจจะไปใช้บริการของ Online Agency แทน เพื่อให้ช่วยหาผู้ซื้อโฆษณาที่ตรงกลุ่มกว่านี้ จ่ายแพงกว่านี้

ในฝั่งผู้ลงโฆษณาก็เช่นกัน บางคนอาจรู้สึกว่า Google AdWords นั้นใช้งานยาก และไม่อยากจะอิงกับเครือข่ายของ Google เพียงรายเดียว อาจจะอยากใช้ของ Yahoo! บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยมีความรู้ด้านนี้มากนัก ไม่รู้ว่าควรจะใช้คีย์เวิร์ดไหนถึงจะดีที่สุด การใช้บริการจาก Online Agency อาจจะช่วยให้งานต่างๆ ง่ายขึ้นได้

ในโลก 2.0 ยังมีคนที่เป็นตัวกลางของตัวกลางอีกหลายคน อย่างเช่นคนที่เป็น Search Engine Optimizer ก็เป็นตัวกลางของตัวกลาง เขารู้ว่า Search Engine คือตัวกลางที่เชื่อมผู้ใช้เว็บกับผู้ทำเว็บเข้าหากัน แต่ผู้ทำเว็บหลายคนไม่รู้ว่าจะทำให้เว็บของตัวเองติดอันดับดีๆ ได้อย่างไร อาชีพ SEO จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างผู้ทำเว็บกับ Search Engine อีกที


4 วิธีการในการสร้างโมเดลธุรกิจ 2.0

วิธีแรกคือการตัดตัวกลางทิ้ง เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการ และมองเห็นวิธีการเปลี่ยนจากโมเดลเดิมๆ เป็นโมเดลใหม่ที่ทำให้ราคาสินค้าและต้นทุนความลำบากของลูกค้าลดลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องระวังด้วยว่าการตัดตัวกลางจะทำให้กระทบกับธุรกิจของเราหรือเปล่า

Disintermediary Model

วิธีที่สองคือการค้นหาคนสองคนที่ชีวิตลำบากอยู่ แล้วเข้าไปเป็นตัวกลางที่จะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้น ช่วยลดต้นทุนความลำบากของพวกเขาลง

Be Intermediary Model

วิธีที่สามคือกรณีที่มีตัวกลางอยู่แล้ว แต่อยากจะเข้าไปแข่งขันด้วย ก็ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เต็มที่ เพื่อลดต้นทุนความลำบากให้น้อยกว่าของคู่แข่งเดิม

Transaction Reduction Model

วิธีสุดท้ายคือการเป็นตัวกลางของตัวกลาง บ่อยครั้งที่ตัวกลางที่มีอยู่แล้ว อาจจะยังให้ความสะดวกที่ไม่เพียงพอ อาจจะมีอุปสรรคหลายอย่างขวางอยู่ เช่น ความยุ่งยากในการเรียนรู้เพื่อใช้งาน อุปรรคด้านภาษา ขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยาก อุปสรรคเหลานี้จะทำให้เกิดตัวกลางของตัวกลางขึ้น แต่คนที่คิดจะเป็นตัวกลางของตัวกลางก็ต้องระวังว่าสักวันหนึ่งอาจจะถูกตัดตอนจากการเป็นตัวกลางก็ได้ เพราะตัวกลางที่แท้จริงก็จะพยายามลดอุปสรรคยุ่งยากต่างๆ ให้น้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน

Intermediary of Intermediaries

ถ้าคุณอยากเป็นเศรษฐีไฮเทค ลองนึกดูสิครับว่าทุกวันนี้ยังมีอะไรที่ทำให้ชีวิตของคุณลำบากอยู่บ้าง?

สามารถดาวน์โหลดไฟล์ Presentation ของบทความนี้ได้ที่ Apisilp_Next_E-Business_Model.ppt

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2550

สิ่งที่ผมได้จากการเขียนบล็อก... 1. ซอฟท์แวร์ Notifier2 Full Version ฟรี 2. นิตยสาร Computer Chiang Mai ฟรี

หลังจากที่ผมเขียนบล็อกนี้มาได้สองเดือน ก็มีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นกับผมถึงสองเรื่อง

เรื่องแรกเกี่ยวข้องกับบทความเรื่อง Notifier2 เช็ค mail มาใหม่ทั้ง Hotmail, Yahoo!, Gmail แถมเช็คคลิกใน AdSense ได้อีกต่างหาก ที่ผมเขียนรีวิวซอฟท์แวร์ที่ชื่อ Notifier2 ไว้ว่าเป็นโปรแกรมเล็กๆ ที่ฝังอยู่ที่ System Tray และจะคอยเช็ค e-mail มาใหม่ได้ทั้งค่าย Hotmail Yahoo! และ Gmail แถมยังเช็คยอดคลิก Google AdSense ได้อีกด้วย

ปรากฎว่าเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ฝรั่งที่เป็นผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ตัวนี้ได้ส่ง e-mail มาถึงผม บอกว่าเขาเข้ามาเจอบล็อกของผมที่มีลิงค์ไปหาเว็บ Notifier2 แต่เขาอ่านภาษาไทยไม่ออก เขาคลำหา e-mail address ของผมจนเจอ ก็เลยส่งมาถามผมว่าบล็อกของผมมีเนื้อหาเกี่ยวกับซอฟท์แวร์ของเขาหรือเปล่า ผมก็ส่ง e-mail ตอบกลับไปว่าผมชอบซอฟท์แวร์ของเขามาก ก็เลยเขียนรีวิวลงบล็อก

เจ้าของซอฟท์แวร์ก็เลยขอบคุณกลับมา แล้วบอกว่าจะส่งซอฟท์แวร์ Full Version มาให้ผมถ้าผมต้องการ แน่นอนสิครับ ของฟรีใครก็ชอบ ผมก็ตอบรับทันที แต่ก็ต้องไว้เชิงหน่อยด้วยการให้คอมเมนต์กลับไปถึงเขาด้วย โดยผมบอกว่าถ้าซอฟท์แวร์ตัวนี้สามารถเช็ค e-mail จาก Google Apps ได้ด้วยก็จะดีมาก เพราะตอนนี้กระแสเรื่อง Google Apps ในบ้านเราก็เริ่มมาแล้ว โรงเรียนในต่างจังหวัด และธุรกิจ SME บางแห่งก็เริ่มใช้งานกัน ซึ่งผมมองว่าธุรกิจ SME หลายแห่งมีการใช้ e-mail เพื่อพูดคุยกับลูกค้า ถ้ามีโปรแกรมตัวเล็กๆ อย่าง Notifier2 ที่คอยเตือนเมื่อมี e-mail ใหม่เข้ามาก็คงจะดีไม่น้อย จะได้ตอบ e-mail ได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องเปิดบราวเซอร์แช่ไว้ที่หน้า Gmail ตลอดเวลา

ทางเจ้าของซอฟท์แวร์ก็รับไอเดียของผมไป คาดว่าอีกไม่นานคงจะมีความสามารถนี้ให้ใช้งานกัน

ส่วนตอนนี้ผมก็ได้ซอฟท์แวร์ Full Version มาใช้งานฟรีครับ สามารถเช็ค e-mail ได้ไม่จำกัดจำนวน และตั้งเวลาให้เช็คบ่อยกว่า 15 นาทีได้ด้วยครับ

เรื่องตื่นเต้นเรื่องที่สองก็คือบทความในบล็อกผมได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารน้องใหม่ที่ชื่อ Computer Chiang Mai เป็นนิตยสารที่จับกลุ่มคนอ่านในจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะครับ เมื่อเดือนที่แล้ว บ.ก. ของนิตยสารได้ติดต่อผมมาเพื่อขอนำบทความไปลงในนิตยสาร ผมเองก็ยินดีให้นำไปลงได้ (ใครอยากนำบทความของผมไปใช้ กรุณาติดต่อมาหน่อยนะครับ) ซึ่งมีผลดีในแง่ที่จะได้เผยแพร่เรื่องราวในแวดวงดอทคอมจากมุมมองเชิงธุรกิจให้กว้างขวางมากขึ้น และก็เหมือนผมได้โปรโมทบล็อกนี้ผ่านทางหน้านิตยสารด้วย

วันนี้ผมเพิ่งได้รับนิตยสารที่ทางผู้จัดทำส่งมาให้ ซึ่งเป็นฉบับแรกที่มีบทความของผม บทความแรกที่ถูกนำไปตีพิมพ์ก็คือเรื่อง Google Convergence ยิ่งรวมกัน ชีวิตยิ่งดีขึ้น โดยไม่ต้องมีปาติหาน ตำแหน่งหน้าในนิตยสารที่บทความผมได้ลงตีพิมพ์ต้องถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่ดีมาก เป็นคอลัมน์ที่สองของเล่มเลย รู้สึกเป็นเกียรติมากครับที่จะได้ใกล้ชิดกับผู้อ่านชาวเชียงใหม่มากขึ้น ใครที่อยู่เชียงใหม่ก็อย่าลืมอุดหนุนนิตยสาร Computer Chiang Mai นะครับ

ปิดท้ายด้วยเรื่องที่ผมไปพบเข้าในบล็อก Keng.com Pay per post ในไทย เกิดจริงหรือ? เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับถ้าเราสามารถสร้างรายได้จากการเขียนบล็อกได้ อาชีพ Blogist ก็จะเกิดขึ้นในไทยทันที ผมมองว่าบล็อกเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เจ้าของสินค้าหรือบริการสามารถใช้เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม บล็อกที่เขียนดีๆ สามารถสร้างการตัดสินใจซื้อได้ทันทีครับ

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ธุรกิจ Affiliate Marketing + CPC Advertising ดี(สำหรับคนทำธุรกิจนี้)จริงหรือ?

จากบทความ ธุรกิจ Affiliate Marketing + CPC Advertising ดี(สำหรับเจ้าของสินค้าและผู้ซื้อสินค้า)จริงหรือ? ที่ผมได้วิเคราะห์แล้วว่าธุรกิจ Affiliate Marketing + CPC Advertising นั้นเป็นธุรกิจที่ดีต่อทั้งเจ้าของสินค้าเอง และยังดีต่อผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าอย่างเราๆ อีกด้วย ในบทความนี้ผมจะวิเคราะห์ต่อไปอีกครับว่าแล้วธุรกิจนี้จะดีต่อคนที่เป็น Affiliate Marketer ด้วยหรือเปล่า?

ก่อนอื่นเราจะต้องลองวิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจนี้ก่อนครับว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจหรือไม่ โดยโมเดลที่ผมจะใช้ในการวิเคราะห์ก็คือ Michael Porter's Five Forces ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้วิเคราะห์ 5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อผู้ที่อยู่ในธุรกิจนั้นๆ ได้แก่ อำนาจของลูกค้า อำนาจของ Supplier การคุกคามจากผู้เล่นหน้าใหม่ การคุกคามจากสินค้าทดแทน และสภาวะการแข่งขันภายใน

(ภาพจากเว็บไซต์ www.mindtools.com)

ก่อนที่เราจะวิเคราะห์ Five Forces เราต้องกำหนดก่อนว่าธุรกิจที่เราจะวิเคราะห์นั้นค้าขายสินค้าอะไร? ใครคือลูกค้า? ใครคือ Supplier? ใครที่เป็น Affiliate Marketer อยู่ ลองถามตัวเองดูครับว่าคุณได้รับเงินจากใคร? คำตอบก็คือบริษัทผู้ที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการที่คุณไปช่วยขายของให้ ดังนั้นเจ้าของสินค้าจึงเปรียบเสมือนลูกค้าของคุณ แล้วใครที่คุณต้องจ่ายเงินให้? คำตอบก็คือ CPC Advertising ไม่ว่าจะเป็น Google AdWords หรือ Yahoo! Search Marketing ส่วนสินค้าที่คุณขายก็คือ Traffic ที่คุณจ่ายเงินซื้อมาจาก CPC Advertising แล้วส่งต่อไปให้กับเว็บเจ้าของสินค้า

พอเรารู้แล้วว่าธุรกิจของเราทำอะไร คราวนี้ลองมาวิเคราะห์ Five Forces กันดูครับ

อำนาจของลูกค้า

เวลาที่คุณไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า สินค้าติดราคาไว้เท่าไร คุณก็ต้องจ่ายเงินซื้อตามนั้นโดยไม่มีสิทธิ์ต่อรองราคา คุณทำได้อย่างมากก็แค่เปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากห้างอื่น แต่ถ้าทุกห้างตั้งราคาเท่ากัน คุณก็เป็นลูกค้าที่ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ครับ แต่ถ้าคุณไปซื้อสินค้าจากจตุจักร คุณอาจจะพอต่อราคาได้บ้าง ถ้าเจ้าของร้านไม่ยอมลดให้คุณ คุณก็อาจจะลองไปเดินดูร้านอื่นที่ยอมลดราคาให้ แบบนี้เรียกว่าคุณพอจะมีอำนาจต่อรองราคาได้บ้าง

แล้วถ้าลองมาดูธุรกิจ Affiliate Marketing บ้างล่ะ ใครเป็นผู้กำหนดราคาของ Traffic? คำตอบชัดเจนครับว่าบริษัทเจ้าของสินค้าเป็นผู้กำหนดราคา โดยกำหนดในรูปของ commission ที่จะจ่ายให้แก่คุณ คุณมีสิทธิ์ต่อรองมั้ย? คงไม่มีครับ นอกเสียจากว่าคุณจะเป็น Affiliate Marketer ของบริษัทนั้น และสามารถสร้างยอดขายได้สัก 50% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท แบบนี้คุณอาจจะพอต่อรองได้ แต่โดยปกติแล้ว Affiliate Marketer หนึ่งคนจะสร้างยอดขายได้ไม่ถึง 1% หรอกครับ

แสดงให้เห็นว่าลูกค้าของ Affiliate Marketer มีอำนาจต่อรองสูงมาก และเป็นหนึ่งในห้าปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจนี้ไม่น่าสนใจครับ

อำนาจของ Supplier

ตอนนี้ Supplier หลักของธุรกิจ Affiliate Marketing มีเพียงสองรายคือ Google AdWords และ Yahoo! Search Marketing ถ้าสองรายนี้ไม่ยอมขายพื้นที่โฆษณาให้คุณ แปลว่าธุรกิจของคุณไม่เกิดครับ คุณอาจจะต้องหนีไปใช้วิธีอื่นแทน เช่น ไปโปรโมทสินค้าตามเว็บบอร์ด (สแปม) ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีเลยครับ

นอกจากนี้ คุณในฐานะผู้ซื้อ Traffic ก็ไม่มีอำนาจไปต่อรองกับ Google หรือ Yahoo! ได้ว่าขอให้ CPC ถูกลงกว่านี้หน่อยได้ไหม เพราะคนกำหนดราคาของคลิกไม่ใช่ Google หรือ Yahoo! แต่เป็นคุณและคู่แข่งของคุณอีกหลายล้านคนทั่วโลก คุณได้แต่เป็น Price Taker ที่ต้องรอรับชะตากรรมอย่างเดียว ถ้าคีย์เวิร์ดที่คุณใช้ไม่มีคนใช้เลยก็โชคดีไป แต่โดยปกติแล้วไม่ว่าจะคีย์เวิร์ดไหนก็มีราคาสูงๆ ทั้งนั้น ทำให้คุณต้องเลือกที่จะจ่ายแพงเพื่อให้ได้ Traffic มา หรือไม่ก็ต้องหาคีย์เวิร์ดที่ราคาถูกและมี Traffic น้อย

เห็นแบบนี้แล้วก็คงสรุปได้ว่า Supplier มีอำนาจต่อรองสูงมาก และเป็นหนึ่งในห้าปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจนี้ไม่น่าสนใจครับ

การคุกคามจากผู้เล่นหน้าใหม่

ลองนึกสิครับว่าถ้าใครสักคนอยากเข้าสู่ธุรกิจนี้ เขาจะเข้ามาได้ยากหรือง่าย? ธุรกิจนี้มีข้อจำกัดไม่ให้คนเข้าหรือเปล่า? มีการผูกขาดทรัพยากรที่สำคัญหรือเปล่า? มีสิทธิบัตรปกป้องหรือเปล่า? คำตอบก็คือไม่มีสักอย่างเลยครับ เป็นธุรกิจที่เสรีที่สุด ใครๆ บนโลกนี้ก็เข้ามาทำได้ ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ไม่จำเป็นต้องมีลูกค้าในมืออยู่แล้ว สมัครแป๊บเดียวก็ทำได้เลย

เมื่อไม่มี barrier of entry ใครต่อใครก็แห่เข้ามาได้ง่ายๆ คุณก็จะพบคู่แข่งรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกนาทีครับ การเข้าถึง Supply ในราคาถูกก็จะทำได้ยากขึ้น ส่วนแบ่งการตลาดของคุณก็จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน เพราะมีคนที่พร้อมจะเข้ามาแย่งทั้ง Supply และลูกค้าได้ตลอดเวลา

การไม่มีคูน้ำและกำแพงเมืองกั้นข้าศึกเข้ามา จึงเป็นหนึ่งในห้าปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจนี้ไม่น่าสนใจครับ

การคุกคามจากสินค้าทดแทน

สินค้าที่จะทดแทน Traffic จาก Affiliate Marketer ได้ ก็คือ Traffic จากช่องทางอื่นๆ ครับ ถ้าเว็บไซต์เจ้าของสินค้าค่อนข้างดังอยู่แล้ว ติดอันดับต้นๆ ของ Search Engine ตัวสินค้ามีชื่อเสียง เจ้าของสินค้าก็อาจจะไม่ต้องใช้ Affiliate Marketing เลยก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตสินค้าจะต้องแข่งขันกันขายสินค้าของตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งการทำ Affiliate Marketing ก็เป็นตัวช่วยที่ดีมาก

นอกจากนี้ Affiliate Marketing ยังช่วยให้เจ้าของสินค้าสามารถควบคุมต้นทุนการตลาดได้ดี จ่ายเมื่อมียอดขายเท่านั้น การตลาดวิธีอื่นๆ อาจจะสู้ Affiliate Marketing ไม่ได้ จึงถือว่าเป็นปัจจัยที่พอจะทำให้ธุรกิจนี้น่าสนใจอยู่บ้าง เพราะมีแนวโน้มที่เจ้าของสินค้าจะใช้การตลาดแบบ Affiliate Marketing กันมากขึ้น

สภาวะการแข่งขันภายใน

ใครที่ทำ Affiliate Marketing ช่วยตอบหน่อยสิครับว่าการแข่งขันรุนแรงขนาดไหน คู่แข่งเยอะมาก และมาจากทั่วทั้งโลก ตัวสินค้าก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย มันก็คือ Traffic เหมือนๆ กัน ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าไม่ได้มีความภักดีกับ Affiliate Marketer คนไหนเป็นพิเศษ ผู้เล่นในธุรกิจนี้ต่างพยายามแย่งชิงคีย์เวิร์ดคุณภาพดีที่มีราคาถูก และพยายามแสวงหาบริษัทเจ้าของสินค้าที่จ่ายผลตอบแทนสูง ฟาดฟันกันรุนแรงน่ากลัวเหลือเกินครับ

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมากที่ทำให้ธุรกิจนี้ไม่น่าสนใจเลยครับ

วิเคราะห์มาทั้ง 5 ปัจจัย มีเพียงปัจจัยเดียวที่พอจะดูได้ก็คือเรื่องสินค้าทดแทน แต่ปัจจัยที่เหลือต่างก็ทำให้ธุรกิจนี้ไม่น่าสนใจเอาเสียเลยครับ


เศรษฐศาสตร์ของ Affiliate Marketing

โดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าของสินค้าจะให้ commission เป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย และมีหลายๆ แห่งที่ให้เปอร์เซ็นต์มากขึ้นถ้า Affiliate Marketer สามารถช่วยขายสินค้าได้ในจำนวนที่สูงขึ้น ถ้าเราพล็อตกราฟความสัมพันธ์ระหว่างราคา (commission จ่าย) และปริมาณสินค้าขาย กราฟรายรับเฉลี่ย (Average Revenue - AR) ของ Affiliate Marketer ต่อยอดขายหนึ่งรายการ ก็จะมีแนวโน้มชันขึ้นเมื่อปริมาณขายสูงขึ้น แต่จะชันขึ้นไม่มากนักเพราะเปอร์เซ็นต์ commission ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก

Average Revenue Curve

ในส่วนของต้นทุนของ Affiliate Marketing นั้นขึ้นอยู่กับราคาประมูลคีย์เวิร์ด ซึ่งราคานี้สะท้อนมาจากสภาวะของตลาด ถ้าตลาดมีความต้องการคีย์เวิร์ดนั้นๆ มาก (Demand - D) ราคาประมูลคีย์เวิร์ดก็จะปรับตัวสูงขึ้น (Price - P) ขณะที่ในฝั่ง Supply (S) หรือพื้นที่แสดงผลโฆษณาบน Search Engine นั้นมีจำกัด ถ้าพล็อตกราฟความสัมพันธ์ระหว่างราคาคีย์เวิร์ดและปริมาณพื้นที่แสดงผลโฆษณา จะพบว่าเส้นกราฟ S จะตั้งชัน เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด ขณะที่เส้นกราฟ D จะเฉียงลง ซึ่งหมายถึงถ้าราคาประมูลคีย์เวิร์ดสูงมาก คนที่จะมีกำลังซื้อพื้นที่โฆษณาได้ก็จะน้อยลง แต่ถ้าราคาถูกลง คนก็จะซื้อได้เยอะขึ้น จุด P ที่เส้นกราฟทั้งสองเส้นตัดกันก็คือจุดที่บ่งบอกว่าราคาคีย์เวิร์ดอยู่ที่เท่าไร

Demand and Supply Curve

นำสองกราฟมารวมกัน พื้นที่สีเขียวที่อยู่เหนือจุด P แต่อยู่ใต้เส้น AR ก็คือกำไรที่ Affiliate Marketer จะได้รับ ยิ่งโหมโฆษณามากเพื่อให้ได้ยอดสั่งซื้อมาก ก็ยิ่งได้กำไรมากขึ้น

Profit Area

แต่... จากที่วิเคราะห์เรื่องการคุกคามจากผู้เล่นหน้าใหม่โดยใช้ Five Forces ไปแล้ว จะพบว่าธุรกิจนี้สามารถเข้ามาแข่งขันด้วยได้ไม่ยาก ถ้าเพียงคู่แข่งของคุณรู้ว่าคุณขายสินค้าให้เว็บไหนอยู่ และรู้ว่าคุณใช้คีย์เวิร์ดอะไร คู่แข่งก็จะแห่เข้ามาเต็มไปหมด จนทำให้ความต้องการคีย์เวิร์ดนั้นเพิ่มขึ้นเป็น D* และราคาประมูลของคีย์เวิร์ดก็เพิ่มเป็น P* เช่นกัน ถ้าคุณฝืนประมูลแข่ง คุณก็จะประสบกับภาวะขาดทุนอย่างแน่นอน

Loss Area

เมื่อมีคนขาดทุนจากธุรกิจนี้ คนก็จะออกจากธุรกิจไป ทำให้กราฟ D* ถอยกลับมาเป็น D และคนที่ยังอยู่ในธุรกิจก็จะทำกำไรได้อีกครั้ง แต่โดยปกติแล้วการถอยของกราฟ D* นั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะถ้ามีช่องว่างที่จะทำกำไรได้เพียงเล็กน้อย ก็จะมีคนเข้ามากินช่องว่างนั้นทันที


กลยุทธ์สำหรับ Affiliate Marketer

เมื่อเรารู้แล้วว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่พอจะช่วยให้ธุรกิจนี้ทำกำไรได้บ้าง เราก็จะนำปัจจัยต่างๆ มาสร้างกลยุทธ์สำหรับการทำธุรกิจครับ

ปัจจัยแรกที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องต้นทุนของคีย์เวิร์ด จะกำไรหรือขาดทุนก็อยู่ที่ราคาคีย์เวิร์ดทั้งนั้น เราจึงต้องหาวิธีควบคุมต้นทุนนี้ให้ได้ ซึ่งอาจจะทำได้โดยการเป็นคนแรกๆ ที่ใช้คีย์เวิร์ดนั้น (ช่วงที่ราคาคีย์เวิร์ดยังถูกอยู่) นั่นหมายความว่าเราจะต้องพยายามหาคีย์เวิร์ดใหม่ๆ ตลอดเวลา และจะต้องทำใจไว้ว่าคีย์เวิร์ดคุณภาพดีราคาถูกมักจะไม่ยั่งยืน

อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนได้ก็คือการเปลี่ยน Supplier ของ Traffic เช่น การเปลี่ยนจาก Google AdWords ไปใช้ Yahoo! Search Marketing แต่ท้ายที่สุดแล้วก็จะต้องพบกับสถานการณ์เช่นเดิม คือราคาคีย์เวิร์ดจะเพิ่มขึ้นไปถึงจุดสมดุลของตลาด

หรือบางคนก็อาจจะเปลี่ยนวิธีการหา Traffic โดยไม่ใช้ Search Engine แต่ใช้วิธีโปรโมทผ่าน Signature ของตัวเองในเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหนื่อย และมักจะไม่ค่อยได้ผลมากนักครับ

ปัจจัยที่สองคือเรื่องของรายรับ เราจะต้องพยายามเพิ่มรายรับให้มากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทำกำไรให้สูงขึ้น วิธีการเพิ่มรายรับวิธีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการเลือกทำตลาดให้กับเจ้าของบริการที่จ่ายเงินให้เราทุกเดือน ตราบเท่าที่ลูกค้าที่เราแนะนำไปยังใช้บริการอยู่ เช่น Web Hosting แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ลืมว่าคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับบริการเหล่านี้ก็ย่อมมีราคาสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือการหาลูกค้าให้ได้เป็นจำนวนมาก เพื่อที่เราจะได้รับเปอร์เซ็นต์ commission ในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสทำกำไรได้สูงกว่าคู่แข่งของเราที่มียอดขายต่ำกว่า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับที่จะทำแบบนี้ได้

จะเห็นได้ว่าธุรกิจ Affiliate Marketing ไม่หมูเลยครับ นี่ยังมีเรื่องความเสี่ยงที่จะถูก Disintermediary หรือการตัดพ่อค้าคนกลางออก เช่น ถ้าเราเป็นนายหน้าให้เว็บแห่งหนึ่ง อยู่ๆ วันหนึ่งสินค้าของเว็บนี้ขายดีมาก คนพูดกันปากต่อปาก เจ้าของเว็บอาจจะเลิกโปรแกรม Affiliate Marketing แต่หันมาทำโฆษณาด้วยตัวเอง เอาเงินที่จะจ่ายให้ Affiliate Marketer มาซื้อ Google AdWords ซะเอง แบบนี้พ่อค้าคนกลางอย่าง Affiliate Marketer ก็ตกที่นั่งลำบากครับ

ถึงแม้ว่าธุรกิจ Affiliate Marketing + CPC Advertising จะไม่ค่อยดีนักสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจนี้ แต่ธุรกิจนี้ก็ส่งผลดีในภาพรวมครับ มันช่วยให้สินค้าไปถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้ผลิตสินค้ามุ่งเน้นที่การผลิตอย่างเดียว และช่วยสร้างโอกาสให้กับคนเป็นจำนวนมากที่เป็นนักแสวงหาโอกาส