วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2550

กรณีศึกษา การใช้ Google Apps ทำเว็บไซต์กระบวนวิชา Creative Writing ของ ม.รามคำแหง เพื่อให้นักศึกษาตาบอดเข้ามาใช้บริการ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พูดคุยกับ ดร.สาลินี อันตรเสน ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นอาจารย์สอนวิชา Introduction to Creative Writing ที่มีนักศึกษาสนใจเรียนเป็นจำนวนมาก

อาจารย์ได้ปรึกษากับผมว่าอยากจะทำเว็บไซต์ประจำวิชานี้ ที่มีเนื้อหาการเรียนการสอนให้นักศึกษาเข้ามาดูได้ โดยเฉพาะนักศึกษาพิเศษที่ไม่สะดวกมาเรียนพร้อมกับนักศึกษาปกติได้ เช่น นักศึกษาที่นั่งวีลแชร์ นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการฟัง และนักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็น

ในเทอมที่ผ่านมา อาจารย์ได้ทำเว็บไซต์ไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของมหาวิทยาลัย มีการใส่วิดีโอคลิปที่บันทึกจากการสอนจริงๆ ไว้ เพื่อให้นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสามารถโหลดเพื่อฟังการบรรยายของอาจารย์ได้ ปรากฎว่าเซิร์ฟเวอร์ล่ม เนื่องจากมีนักศึกษาปกติที่ไม่ได้เข้าเรียนมาโหลดดูเป็นจำนวนมาก โดยที่นักศึกษาพิเศษเข้ามาใช้เว็บไม่ได้เลย อาจารย์ก็เลยปรึกษาผมว่ามี solution อะไรบ้างที่จะช่วยให้นักศึกษาพิเศษเหล่านี้เข้ามาใช้เว็บได้โดยไม่มีปัญหาเซิร์ฟเวอร์ล่ม

ถ้าเป็นสมัยก่อน ผมคงจะแนะนำให้ไปเช่า web hosting ที่มีเสถียรภาพสูง แต่ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนค่อนข้างมากถ้าเว็บไซต์ต้องใช้ bandwidth ในปริมาณสูง โดยเฉพาะไฟล์คลิปวิดีโอที่เป็นไฟล์ขนาดใหญ่

แต่ในยุคที่ Google เป็นใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ตและมีบริการฟรีให้เราเลือกใช้ได้มากมาย บริการตัวหนึ่งที่ฟรีและดีมากๆ ก็คือ Google Apps ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยให้ใครที่อยากมีเว็บไซต์และ e-mail address ภายใต้ชื่อ domain name ของตัวเอง สามารถสมัครใช้บริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะเสียเงินก็เพียงค่าจด domain name ปีละ 400 บาทเท่านั้นเอง

Google Apps ประกอบด้วยบริการหลายชนิดที่สามารถนำมาประกอบรวมกันภายใต้ domain name เดียวกันได้ ได้แก่

  • บริการ Gmail ที่ให้คุณมี e-mail address ในชื่อ domain name ของคุณ
  • บริการ Google Page Creator ที่ช่วยให้คุณสร้างเว็บไซต์อย่างง่ายได้
  • บริการ Google Calendar ที่ช่วยให้คุณสร้างปฏิทินนัดหมายและแชร์ให้สมาชิกของเว็บได้
  • บริการ Google Docs and Spreadsheets ที่ช่วยให้คุณและสมาชิกของเว็บเข้ามาสร้างและปรับปรุงแก้ไขไฟล์เอกสารร่วมกันได้
  • บริการ Google Talk ที่ช่วยให้สมาชิกของเว็บสามารถพูดคุยผ่านโปรแกรมสนทนาแบบ Instant Messenger ได้
  • บริการ Google Start Page ที่เป็น Personalized Page ให้ผู้ที่ใช้เว็บของคุณสามารถรับข้อมูลที่คุณต้องการนำเสนอ และเลือกรับข้อมูลน่าสนใจอื่นๆ จาก Google ได้

ในกรณีของ ดร.สาลินี ที่ต้องการสร้างเว็บไซต์ประจำวิชาเพื่อให้นักศึกษาเข้ามาดู ก็คงจะใช้แค่บริการ Google Page Creator เพียงอย่างเดียว แต่ก็อาจจะใช้บริการ Gmail เพื่อให้นักศึกษาส่ง e-mail มาสอบถามเนื้อหาวิชาได้ หรือใช้บริการ Google Calendar เพื่อแสดงตารางเวลาการสอน วันเวลาสอบ และวันเวลาที่นักศึกษาสามารถเข้ามาพูดคุยกับอาจารย์ได้

เมื่อนัดวันกับ ดร.สาลินี ได้แล้ว ผมก็ช่วย setup เว็บไซต์และสอนการบริหารจัดการเว็บไซต์โดยใช้ Google Apps ซึ่งเริ่มต้นจากการจด domain name สำหรับเว็บไซต์ อาจารย์ได้เลือกชื่อ innovativewriting.org เป็นชื่อเว็บ จากนั้นก็ทำการเชื่อมโยง domain name เข้ากับระบบของ Google Apps ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคบ้าง แต่ก็ไม่ยากเกินไปเพราะ Google มีข้อความอธิบายได้ละเอียดดี

หลังจากที่ setup เรียบร้อยแล้ว ผมก็เริ่มสอนให้อาจารย์ใช้ Google Page Creator เพื่อสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา ซึ่งโปรแกรมก็ใช้งานได้ง่ายมาก เพราะเป็น WYSIWYG (What You See Is What You Get) ที่สามารถพิมพ์ข้อความลงไป แล้วเลือกตกแต่งหน้าตาของเว็บไซต์ได้โดยการคลิกปุ่มต่างๆ มี template ให้เลือกใช้งานได้หลากหลาย และสามารถอัพโหลดไฟล์อะไรขึ้นไปเก็บไว้บนเว็บก็ได้

หลังจากที่ผมอธิบายวิธีการใช้ Google Page Creator เพื่อสร้างเว็บไซต์แบบง่ายๆ ให้อาจารย์เข้าใจแล้ว ทางอาจารย์มีความต้องการฟีเจอร์อีกสองอย่างสำหรับเว็บไซต์นี้ ฟีเจอร์แรกก็คือต้องการใส่คลิปวิดีโอบันทึกการเรียนการสอนของอาจารย์ลงในเว็บไซต์ เพื่อให้นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นเข้ามาฟังเสียงจากคลิปได้ นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการฟังก็จะได้อ่านปากอาจารย์ได้ ส่วนนักศึกษาวีลแชร์ที่ไม่สะดวกมาเรียน ก็จะได้เรียนทางอินเทอร์เน็ตได้ ผมจึงแนะนำให้ใช้ Google Video เพื่อเก็บคลิปการเรียนการสอน ซึ่งมั่นใจได้ว่าเว็บของ Google คงไม่ล่มง่ายๆ จากนั้นจึงค่อยนำคลิปวิดีโอไป embed ในเว็บอีกที

แต่อาจารย์บอกว่าอยากให้มีคลิปเสียงด้วย เพราะบางทีอาจจะไม่มีคนมาถ่ายวิดีโอตอนสอนให้ ก็เลยเกิดปัญหาขึ้นว่า Google Video ใช้เก็บไฟล์วิดีโอได้ แต่เก็บไฟล์เสียงไม่ได้ ผมเลยแนะนำให้อาจารย์เปลี่ยนมาใช้ imeem แทน ซึ่งสามารถเก็บได้ทั้งไฟล์วิดีโอและไฟล์เสียง และยังสามารถทำ playlist ให้กับไฟล์เสียงได้ด้วย เพราะชั่วโมงการสอนของอาจารย์ยาวถึงสองชั่วโมง จึงต้องแบ่งไฟล์ความยาวสองชั่วโมงให้สั้นลงแล้วจึงอัพโหลดขึ้นไปทีละไฟล์ จากนั้นจึงจะรวมทุกไฟล์ให้เป็น playlist เดียวกัน

ฟีเจอร์ที่สองที่อาจารย์ต้องการคือเว็บบอร์ด ซึ่งผมก็แนะนำให้ใช้ Google Groups ที่ใครก็สามารถเปิดเว็บบอร์ดของตัวเองได้ง่ายๆ มีขั้นตอนการใช้งานที่ไม่ยุ่งยากมากนัก ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสามารถเข้ามาเขียนกระทู้เพื่อพูดคุยกับอาจารย์หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้

ท้ายที่สุดแล้วเว็บไซต์นี้ก็เสร็จสมบูรณ์ที่นักศึกษาพิเศษสามารถเข้าไปใช้งานได้ที่ http://www.innovativewriting.org/

รูปภาพโฮมเพจของเว็บไซต์ www.innovativewriting.org

หน้าตาของเว็บไซต์อาจจะดูธรรมดา ออกเชยๆ เสียด้วยซ้ำ แต่นี่คือความตั้งใจที่จะทำให้นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสามารถใช้เว็บไซต์นี้ได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ดีไซน์แบบคอลัมน์เดียว และหลีกเลี่ยงการใส่รูปภาพลงในเว็บ

คนตาดีหลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าคนตาบอดจะเล่นเว็บได้อย่างไร ต้องขอบคุณเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ ด้วยโปรแกรม JAWS ที่สามารถอ่านข้อความต่างๆ ที่อยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วแปลงข้อความเหล่านั้นให้เป็นเสียงพูดในภาษาอังกฤษเพื่อให้คนตาบอดเข้าใจได้ บวกกับโปรแกรม PPA Tatip ที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถพูดเป็นภาษาไทย ทำให้คนตาบอดเข้าใจเนื้อหาในเว็บไซต์ภาษาไทยได้

สำหรับโปรแกรม PPA Tatip นี้ ต้องให้เครดิตแก่คุณพุฒิพันธุ์ พลยานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีพีเอ อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งได้รับพระราชทานทุนวิจัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาพัฒนาโปรแกรมนี้จนสำเร็จ และเป็นประโยชน์แก่คนตาบอดไทยเป็นอย่างมาก คุณพุฒิพันธุ์เป็นเพื่อนกับผมตั้งแต่สมัยเข้าค่ายอบรมนักเรียนโอลิมปิกคอมพิวเตอร์ จนถึงตอนที่เรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ ม.เกษตร คุณพุฒิพันธุ์เป็นนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถมาก สามารถพัฒนาโปรแกรมยากๆ ออกมาได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งคอมพิวเตอร์โอลิมปิกถึงสองปีซ้อน คว้าเหรียญทองแดงและเหรียญเงินกลับมาให้ประเทศไทย

ด้วยโปรแกรม JAWS และ PPA Tatip ช่วยให้คนตาบอดรู้ว่าคอมพิวเตอร์กำลังทำงานที่โปรแกรมอะไร ช่วยให้พวกเขารู้ว่ากำลังกดปุ่มอะไรบนคีย์บอร์ด และช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าแต่ละเว็บไซต์มีเนื้อหาอะไร หลายท่านคงเคยเห็นโฆษณา AIS ที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของคุณเอกลักษณ์ พรมชาติ ซึ่งเป็นคนตาบอดที่ทำงานเป็นพนักงาน call center ของ AIS เชื่อหรือไม่ว่าคุณเอกลักษณ์สามารถตอบกระทู้ในพันทิปได้ และเชื่อหรือไม่ว่าคุณเอกลักษณ์มีบล็อกเป็นของตัวเองอยู่ที่ http://akenetwork.exteen.com/

มีหลายๆ เรื่องที่คนตาปกติคิดว่าคนตาบอดคงทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย อ่านเรื่องราวความสามารถอันน่ามหัศจรรย์ของคนที่อยู่ในโลกที่มืดมิดที่คนในโลกแห่งแสงสว่างคิดไม่ถึงในบทความเรื่อง Blind Man Can Do! เมื่อผมต้องสอนนักศึกษาตาบอดให้เขียนเว็บเป็น ต่อได้เลยครับ

6 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณที่เอาเรื่องดีๆมาลงให้อ่านครับ

นับถืออาจารย์ท่านนี้มากๆ อยากให้เมืองไทยมีอาจารย์ดีๆอย่างงี้เยอะๆครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

นับถืออาจารย์ท่านนี้เหมือนกันครับ

โปรแกรมตาทิพย์ก็สนใจครับ แล้วใช้ยังไงเหรอครับ กดยังไงถึงจะอ่าน (คู่มือหาไม่เจอ คลำไม่ถูก > <)

Unknown กล่าวว่า...

ก่อนจะใช้โปรแกรมตาทิพย์ จะต้องติดตั้งโปรแกรม JAWS และ JPT Tatip Plugin ก่อนครับ (ดาวน์โหลดปลั๊กอินได้ที่ http://www.tab.or.th/downloads/jpt_tatip_pluginv5.0.EXE) เวลาที่จะสลับมาเป็นโปรแกรมตาทิพย์ จะต้องกดปุ่ม Alt + Shift + Pagedown

แต่จะต้องลงทะเบียนโปรแกรมตาทิพย์ก่อนนะครับถึงจะใช้งานได้ ให้ติดต่อสมาคมคนตาบอดเพื่อสอบถามรายละเอียดการลงทะเบียน โทร 0 2246 3835

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมได้อ่านเรื่องราวของท่านแล้วนะครับสนใจมาก ๆ ผมก็มีอาจารย์สอนเขียน HTML เหมือนกันชื่อว่า สมพร หมานมา เป็นอาจารย์อยู่ที่สารพัดช่างนครหลวงครับ ผมต้องยอมรับว่าท่านเป็นผู้ที่ใจเย็นมาก ๆ ในการสอนว่าง ๆ ขอเรียนด้วยนะครับ (ชักจะลืม) เพราะว่าไม่ได้เขียนนานและ
add อีเมล์ผมหน่อยนะครับที่
ake_298@hotmail.com
นะครับ ยินดีที่ได้รู้จักครับผม

ต้นโพธิ์ กล่าวว่า...

เวบ innovativewriting ถ้าเข้าไม่มี www จะกลายเป็นโฆษณาของ go daddy ไปอะครับ

http://innovativewriting.org/

finchy กล่าวว่า...

จริงๆวันนี้ตั้งใจจะหาเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับ ebay ค่ะ แต่พลัดหลงมาเจอคุณ macroartโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะไม่รู้จักมาก่อน ก็เลยเพลินอ่านโนนี่ไปเรื่อย

ต้องบอกว่าเก่งมากๆ ยอดเยี่ยมเลย มีประโยชน์มากและเขียนอธิบายได้ดีค่ะ

add เป็น favourite web แล้วค่ะ
----------
อยากรู้ว่า
- เท่าที่ดู google app อ่ะค่ะ ชื่อเวบเราต้องไปต่อท้ายกับ ชื่อของ google อ่ะค่ะ มีวิธีไหนที่จะใช้โดยขึ้นต้นเป็นชื่อเวบเราเลยไม่ได้หรือคะ