Web Design For Blind Man การออกแบบเว็บเพื่อให้คนตาบอดใช้งานได้
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีโปรแกรม JAWS ที่ใช้อ่านข้อความที่ปรากฎบนหน้าจอคอมพิวเตอร์และสังเคราะห์ออกมาเป็นเสียงภาษาอังกฤษ และมีโปรแกรม PPA Tatip ที่สามารถสังเคราะห์เสียงภาษาไทยได้ ซึ่งช่วยให้คนตาบอดมีโอกาสที่จะใช้งานคอมพิวเตอร์ได้เหมือนคนตาดี แต่เราก็ยังต้องตระหนักถึงการออกแบบโปรแกรมซอฟท์แวร์ต่างๆ ที่จะต้องเป็นมิตรกับคนตาบอดด้วย และยิ่งไปกว่านั้นก็คือการออกแบบเว็บไซต์และเนื้อหาภายในเว็บไซต์ที่จะช่วยให้คนตาบอดใช้งานเว็บนั้นๆ ได้สะดวก
W3C ได้กำหนดมาตรฐานการสร้างเนื้อหาภายในเว็บไซต์ที่ช่วยให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงเว็บได้ง่าย เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในเว็บ โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุง Web Content Accessibility Guidelines 2.0 ไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2007 มีเนื้อหาใจความโดยสรุปดังนี้
กฎข้อที่ 1: รับรู้ได้ - เนื้อหาและองค์ประกอบ user interface จะต้องทำให้ผู้ใช้รับรู้ได้ทั้งหมด
หมายถึงเนื้อหาต่างๆ ภายในเว็บที่ไม่ใช่ตัวอักษร เช่น รูปภาพ กราฟ แผนผังต่างๆ จะต้องมี text alternative ที่ให้ข้อมูลว่าเนื้อหานั้นๆ คืออะไร เพื่อที่ text alternative เหล่านี้จะถูกแปลงเป็นเสียงอ่านที่คนตาบอดรับรู้ได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อความกำกับรูปภาพทุกรูป พวกรูปที่ใช้เพื่อการจัดรูปแบบหรือตกแต่งเว็บก็ไม่ต้องใส่
กฎข้อที่ 2: จัดการได้ - องค์ประกอบ user interface จะต้องทำให้ผู้ใช้จัดการได้
หมายถึงผู้ใช้จะต้องใช้คีย์บอร์ดในการเข้าถึงส่วนต่างๆ ของเว็บได้ทั้งหมด ถ้าเป็นพวก Rich Application ก็ควรจะมี shortcut key ให้กดได้ นอกจากนี้ยังต้องให้เวลาผู้ใช้ให้เพียงพอที่จะอ่านและใช้องค์ประกอบต่างๆ ได้
กฎข้อที่ 3: เข้าใจได้ - ข้อมูลและการจัดการ user interface จะต้องทำให้ผู้ใช้เข้าใจได้
หมายถึงต้องมีการระบุว่าเว็บแต่ละหน้าเป็นภาษาอะไร พวกตัวย่อต่างๆ ที่ใช้ในเว็บก็ต้องมีคำอธิบายว่ามันคืออะไร (อาจจะลิงค์ไปที่หน้ารวมความหมายของตัวย่อ) หรือพวกการเปิดหน้าต่างใหม่หรือ popup ก็ควรเกิดจากการที่ผู้ใช้คลิก spacebar แล้วถึงจะเปิด ไม่ใช่ว่าเปิดขึ้นมาเฉยๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งง
กฎข้อที่ 4: ถูกต้องแน่นอน - เนื้อหาจะต้องมีรูปแบบที่ถูกต้อง บราวเซอร์ทุกประเภทจะต้องอ่านได้
หมายถึงแท็กต่างๆ จะต้องเขียนให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ถ้ามีแท็กเปิดก็ต้องมีแท็กปิด เนื่องจากคนตาบอดอาจจะใช้บราวเซอร์พิเศษที่แตกต่างจากคนตาดี ซึ่งบราวเซอร์นั้นอาจจะมีปัญหาถ้าไปเจอแท็กที่เขียนผิด
รายละเอียดของการเขียนเว็บให้เป็นมิตรกับคนตาบอดมีค่อนข้างเยอะครับ ให้ลองศึกษาจากเว็บของ W3C ดู หรือถ้าขี้เกียจอ่าน เวลาที่ออกแบบเว็บเสร็จแล้ว ก็ลองหลับตาเล่นเว็บตัวเองดู โดยใช้โปรแกรม JAWS ประกอบไปด้วย ดูว่าจะสามารถเข้าถึงทุกฟีเจอร์ของเว็บได้เหมือนเวลาลืมตาไหม
2 ความคิดเห็น:
http://www.nectec.or.th/atc/publish/ASTEC_Guideline.pdf
14 หัวข้อแนวทางในการพัฒนาเว็บไซต์ให้ทุกคนเข้าถึงได้
ดีจังเลยค่ะ อยากให้ผู้พัฒนาเว็บไทยทั้งหลายได้ aware ถึงเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลบนหน้าเว็บ (web accessibility) กันเยอะๆ ค่ะ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉันเองเคยประสบปัญหาในการอ่านเว็บพอสมควรค่ะ
ส่วน browser ที่คนตาบอดใช้นั้น ส่วนใหญ่ก็เป็น IE น่ะแหล่ะค่ะ ไม่ได้ใช้ browser แปลกไปจากคนปกติอะไร แต่ตัวที่พวกเราใช้ต่างกันก็คือตัวโปรแกรมอ่านจอภาพอย่างที่คุณได้เขียนไว้ค่ะ
เคยเห็นมีหลายเว็บในต่างประเทศพยายามแก้ปัญหาด้วยการมีตัวเลือก text only ไว้ให้เลือกได้ แต่แบบนี้จะยิ่งทำให้งานสร้างเว็บของเจ้าของเว็บยิ่งเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้าเกิดคนทำเว็บออกแบบ version เดียวให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ก็จะสามารถลดภาระไปได้พอสมควร แต่การมี style sheet ให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปเปลี่ยนหน้าตาได้ตามความต้องการก็เป็นวิธีที่ใช้กันมากค่ะ
หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นเว็บไทยของเราสามารถเข้าถึงได้โดยคนทุกกลุ่ม (รวมถึงคนตาบอดด้วยค่ะ)
แสดงความคิดเห็น