วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2550

Online Traffic Matrix วิธีวัดว่าเว็บของคุณดังแบบไหน

เมื่อวานนี้ไปดูหนังเรื่อง "แฝด" มาครับ ผมไปดูที่เมเจอร์เพชรเกษม ซึ่งเป็นโรงที่อยู่ในละแวกบ้านผม แต่ผมไม่เคยไปใช้บริการมาก่อนเลย เพราะส่วนใหญ่จะไปใช้บริการที่ปิ่นเกล้ามากกว่า

สาเหตุที่ไปใช้บริการที่เพชรเกษม เพราะตั้งใจว่าดูหนังจบแล้วจะไปต่ออีกที่ซึ่งอยู่แถวๆ นั้น ซึ่งผมจะเล่าถึงสถานที่นี้ในย่อหน้าต่อไป แต่ย่อหน้านี้ขอเขียนถึงสถานที่ตั้งของเมเจอร์เพชรเกษมก่อน พื้นที่บริเวณนี้เค้าเรียกว่าอะไรก็ไม่รู้ครับ เป็นพื้นที่ของ บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ มีห้างสรรพสินค้าหลายรูปแบบมาตั้งที่นี่ มีทั้ง Big C, Index, Homeworks และ Major Cineplex แต่ละห้างเป็นแบบ standalone คือมีอาคารของตัวเองแยกออกจากกัน คล้ายๆ ที่เห็นแถว RCA จะไม่ใช่แบบที่มีทั้ง Big C, Index, Major Cineplex อยู่ในอาคารเดียวกัน อาคารแต่ละหลังมีขนาดไม่ใหญ่มาก และมีพื้นที่ให้บริการเพียงชั้นเดียว อย่างถ้ามาเดินบิ๊กซีที่นี่ จะรู้สึกได้เลยว่าช่องทางเดินมันแคบ หรือถ้าเดินจากข้างนอกเข้าไปในเมเจอร์ คุณจะเจอ Box Office และเคาท์เตอร์ขายป๊อบคอร์นทันที โดยมีทางเข้าโรงและพนักงานตรวจตั๋วยืนต้อนรับอยู่ข้างๆ ที่ขายป๊อบคอร์นนั่นแหละ ข้างในมีโรงภาพยนตร์ให้บริการเพียง 6 โรง ผมไม่แน่ใจว่าที่นี่มีอาคารจอดรถในร่มหรือเปล่า แต่ที่ผมเห็นคือเป็นลานจอดกลางแจ้งขนาดใหญ่มาก และตอนเย็นๆ ก็จะมีตลาดนัดที่ใหญ่มากเช่นกัน ซึ่งผมเห็นคนมาเดินกันเยอะแยะเลย กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของพื้นที่นี้ก็คงจะเป็นลูกค้าระดับล่างถึงกลางครับ

หลังจากดูหนังจบ ผมก็ขับรถออกมา เลยมาถึงแถวเพชรเกษม 69 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Community Mall ที่ชื่อว่า Pavillion Place เพชรเกษม เลี้ยวรถเข้าไปแล้วตกใจ ตกใจว่าเลี้ยวผิดหรือเปล่า เพราะมันดูเงียบเหงาอ้างว้างเหลือเกินครับ ต่างกับบริเวณที่ผมเพิ่งดูหนังจบออกมาเลย เข้าใจว่าเพิ่งเปิดให้บริการไม่นาน พื้นที่ที่มีก็ยังขายได้ไม่ถึง 30% เลยมั้ง (ประมาณด้วยสายตาเอานะครับ) ทำให้ยังไม่เกิดโมเมนตัมมากพอที่จะดึงคนให้มาเดินที่นี่กันเยอะๆ

ผมรู้จักที่นี่จากการอ่านเว็บไดอารี่แห่งหนึ่ง ซึ่งเค้าบอกว่าที่นี่บรรยากาศดีมาก ผมมาเห็นของจริงแล้วก็เห็นด้วยเลย ตกแต่งพื้นที่โดยรอบได้สวย ดูโรแมนติก คนน้อยอีกต่างหาก น่าใช้เป็นสถานที่ที่หนุ่มสาวจะมานั่งพลอดรักสวีทวี้ดวิ้วกัน บรรยากาศดูคล้ายๆ J Avenue แถวทองหล่อ ตรงพื้นที่ที่มี Villa Market กับร้านขายไอศกรีม iberry น่ะครับ แต่แถวนั้นคนเยอะกว่ามาก

(ภาพจากเว็บไซต์ serendipity.diaryis.com)

ร้านอาหารที่มาเปิดให้บริการที่นี่แล้วก็มี ร้านกาแฟ 94 Coffee, ร้านไอศกรีม Cool Bite, เชสเตอร์กริลล์ และนารายณ์พิซเซอเรีย ซึ่งผมสงสัยว่าวันนึงจะมีคนมากินซักกี่คน ผมเข้าไปใช้บริการ 94 Coffee และนั่งดูบรรยากาศประมาณหนึ่งชั่วโมง ไม่มีคนเข้ามาใช้บริการเพิ่มเลยครับ ทั้งที่เป็นช่วงเวลาค่ำที่คนเลิกงานกันแล้ว

ถึงแม้ว่าคนจะน้อย แต่ผมก็ชอบบรรยากาศของที่นี่จริงๆ ความไม่พลุกพล่านและบรรยากาศที่สวยงาม ถือเป็นเสน่ห์ของที่นี่ที่ทำให้ผมอยากมาใช้บริการบ่อยๆ

เรื่องของคนที่สัญจรไปมา หรือในที่นี้คือ Traffic ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก (ในที่สุดก็เข้าเรื่องสักที) ถ้าเราลองเปรียบเทียบสถานที่สองแห่งที่ผมไปในวันนี้ ที่แรกที่เป็นพื้นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าหลายแบรนด์และซุ้มตลาดนัดมากมาย มีผู้คนจำนวนมากที่มาใช้บริการที่นี่ แต่ละคนก็มากันบ่อยๆ จนเกิดเป็น Community หรือชุมชนขึ้นมา แบบนี้เจ้าของพื้นที่สบายครับ เป็นเสือนอนกินเก็บค่าเช่าที่ไปได้เรื่อยๆ ส่วนสถานที่ที่สองคือ Pavillion Place ซึ่งคนน้อยมาก แต่คนที่ได้มาที่นี่แล้วอาจจะติดใจ อยากกลับมาใช้บริการซ้ำอีก ผู้บริหารพื้นที่นี้คงต้องทำงานหนักหน่อย อาจจะใช้กลยุทธ์เพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการให้มากขึ้น เพื่อให้ต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ต่อจำนวนผู้ใช้บริการลดลง (Cost Strategy) หรือใช้กลยุทธ์แบบพรีเมี่ยม สร้างความแตกต่างของพื้นที่ ทำให้ดูหรู ดูดี เพื่อดึงดูดลูกค้าเป้าหมายระดับกลางถึงบนที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งทำให้ยอดขายต่อจำนวนผู้ใช้บริการสูงขึ้นจนสามารถ cover ต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ได้ (Differentiate Strategy)

เราลองเข้ามาดูในธุรกิจออนไลน์กันบ้างครับ คนที่ทำเว็บไซต์ทุกคนก็คงคาดหวังว่าจะมีผู้ชมเข้ามาดูเว็บของตัวเอง (Traffic) บางคนอาจจะชอบแบบไม่ต้องมีคนดูเยอะหรอก แต่ขอให้อยู่กับเว็บนานๆ ดูเนื้อหาที่มีในเว็บเยอะๆ บางคนอาจจะชอบแบบไม่ต้องอยู่นานก็ได้ แต่อยากได้คนเยอะๆ หรือบางคนชอบทั้งสองแบบ คนเยอะก็ดี ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งดีใหญ่

เราสามารถใช้ Online Traffic Matrix เพื่อพิจารณาได้ครับว่าเว็บของเราเป็นประเภทไหน

แกน X คือ Pageviews Per Visitors หรือจำนวนหน้าที่ผู้ชมหนึ่งคนเข้าดู ถ้าน้อยแปลว่าคนอยู่กับเว็บของเราไม่นานก็ออกไป ถ้ามากแปลว่าคนคลิกดูข้อมูลต่างๆ ในเว็บเราหลายครั้ง หรือแปลว่าเขาใช้เวลาอยู่กับเว็บเรานาน

แกน Y คือ Unique Visiors หรือจำนวนผู้เข้าชม ถ้าน้อยแปลว่าเว็บเรามีคนเข้าน้อย ถ้ามากแปลว่าเว็บเรามีคนเข้ามาก (แล้วผมจะแปลไปทำไม?)

มาดูในแต่ละช่องของ Matrix ดีกว่าครับ ถ้าเว็บของคุณมีคนเข้าน้อย แถมแต่ละคนก็ไม่ค่อยคลิกดูอะไรมากด้วย หรือเข้ามาครั้งเดียวแล้วไม่เข้ามาอีกเลย เว็บของคุณมีลักษณะแบบ Anonymous Site หรือทำตัวเป็นนิรนาม ไม่ค่อยมีใครรู้จักนั่นเอง

ถ้าเว็บของคุณมีคนเข้าน้อย แต่คนเข้ามาแล้วชอบดูข้อมูลเยอะแยะไปหมด หรืออาจจะชอบเข้ามาใช้บริการเป็นประจำ แบบนี้เรียกว่า Content Site คือตัวเว็บอาจจะมีเนื้อหาสาระที่ดี หรือไม่มีสาระแต่ดึงดูดคนให้เข้าใช้บริการเป็นประจำได้ ตัวอย่างของเว็บประเภทนี้ก็คือเว็บบล็อกที่ยังไม่ดังมากนัก มีคนเข้ามาดูพอสมควร และคนดูก็มักจะอ่านแล้วติดจนกลายเป็นขาประจำไป

ถ้าเว็บของคุณมีคนเข้าเยอะ แต่คนที่เข้ามาอยู่กับเว็บไม่นาน แบบนี้เรียกว่า Portal Site คือเป็นเหมือนศูนย์กลางให้คนเข้ามาใช้บริการ แต่ไม่ให้เขาอยู่กับเว็บนานมาก รีบส่งเขาไปที่อื่นต่อไป เว็บประเภทนี้ก็เช่น Web Directory หรือพวกเว็บรวมลิงค์ที่เด็กไทยชอบทำสมัยที่ดอทคอมบูม ซึ่งในสมัยนี้ Web Directory ได้พัฒนาขึ้นกลายเป็น Web Directory 2.0 ซึ่งมาในรูปแบบของ Social Bookmark อย่าง del.icio.us, digg.com หรือ zickr.com นั่นเอง

และถ้าเว็บของคุณมีคนเข้าเยอะ แถมคนใช้เวลาอยู่กับเว็บของคุณนาน แบบนี้เรียกว่า Community Site เป็นเว็บที่มีโมเมนตัมมากพอที่จะดึงดูดให้คนเข้าเว็บมาก และทำให้พวกเขาใช้บริการอยู่ในเว็บนานๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเว็บบอร์ดอย่าง Pantip.com หรือเว็บซื้อขายออนไลน์ระดับโลกอย่าง eBay.com

เว็บแต่ละประเภทต่างก็มีกลยุทธ์การจัดการที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น ถ้าเว็บของคุณเป็นแบบ Portal Site และฝันว่าวันหนึ่งอยากจะเป็น Community Site ให้ได้ หน้าที่ของคุณก็คือการทำ Internal Improvement โดยปรับปรุงเนื้อหาหรือบริการภายในเว็บไซต์ให้น่าสนใจมากขึ้น เพื่อให้คนอยู่กับเว็บคุณนานขึ้น แต่ถ้าคุณเป็น Content Site และอยากจะเป็น Community Site คุณควรจะทุ่มเทกับการทำ External Improvement เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมเว็บ เช่น การประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ในรูปแบบต่างๆ

ไว้โอกาสหน้าจะเขียนถึงกลยุทธ์ที่เว็บไซต์แต่ละประเภทควรใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตัวเองต้องการครับ

ไม่มีความคิดเห็น: