ปิดโต๊ะราชดำเนินซะ เพื่อความอยู่รอดของ Pantip.com
จั่วหัวได้การเมืองมาก แต่บล็อกนี้เป็นบล็อกธุรกิจ แง่มุมที่ผมจะเขียนถึงก็เป็นเรื่องธุรกิจครับ ไม่ใช่เรื่องการกำจัดเชื้อชั่วอะไรแต่อย่างใด
ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันก่อนว่าสิ่งที่พันทิปอยากให้ราชดำเนินเป็นคืออะไร ถ้าใครเคยเล่นพันทิปสมัยแรกเริ่มเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว โต๊ะราชดำเนินในยุคนั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์มาก เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์ (Analysis) และการสังเคราะห์ (Synthesis) แง่มุมทางการเมือง มีความคิดเห็นที่แตกต่างแต่ไม่แตกแยก การเห็นต่างจะเริ่มต้นด้วยประโยค "ขออนุญาตเห็นแย้ง"
ขณะที่ราชดำเนินยุคนี้กลับกลายเป็นเวทีสำหรับชิงไหวชิงพริบทางการเมือง มีการใช้ถ้อยคำดูหมิ่นหยาบคายต่อกัน ประหนึ่งไม่ใช่คนชาติเดียวกันเลย บทวิเคราะห์และสังเคราะห์ทางการเมืองแทบไม่มีให้เห็น นานๆ ทีถึงจะได้เห็น
สิ่งที่เป็นในปัจจุบันได้ผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่อยากให้เป็นเมื่อครั้งอดีต
ความผิดเพี้ยนนี้ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ควรจะปิดราชดำเนิน แต่ความผิดเพี้ยนนี้มันทำให้พันทิปมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นครับ (เข้าเรื่องธุรกิจล่ะนะ)
ทุกวันนี้ราชดำเนินเป็นโต๊ะที่สร้างค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงมาก ค่าใช้จ่ายที่ว่านี้มาในรูปแบบของพนักงานที่ต้องนั่งดูแลกระทู้ ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการประกาศเตือนสมาชิกที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร แต่ก่อนหน้านั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีใครดูแลกระทู้ในราชดำเนิน ทีมงานพันทิปต้องจับตาดูกระทู้ในราชดำเนินมาหลายปีแล้วครับ
ถ้าเอาเงินเดือนพนักงานดูแลกระทู้มาคิดเป็นค่าใช้จ่าย ผมเชื่อว่าเดือนนึงคงหลายหมื่นบาทอยู่ นี่ยังไม่นับค่าเสียโอกาสที่พนักงานที่มีอยู่น้อยนิดจะไปคิดไปทำอย่างอื่นที่ช่วยให้เว็บมีความเติบโตก้าวหน้ามากขึ้น
ดูด้านค่าใช้จ่ายไปแล้ว ลองดูด้านรายรับบ้าง ถ้าเรามองว่าทุกโต๊ะในพันทิปคือสินค้าตัวหนึ่ง โต๊ะราชดำเนินคงเป็นโต๊ะที่มีศักยภาพทางการตลาดที่ต่ำมาก ผมนึกไม่ออกนะว่าสินค้าประเภทไหนเหมาะที่จะโฆษณาในราชดำเนิน นอกจากลูกอมฮอลล์รสตะไคร้ เวลาอ่านกระทู้ในราชดำเนินให้อมฮอลล์ไปด้วย จะได้ใจเย็นๆ (ไม่โกรธเหรอ...ไม่... ไม่อิจฉาเหรอ...ไม่...) นอกจากนี้ก็นึกไม่ออกแล้ว
ถ้าลองเปิดดูราชดำเนินในตอนนี้ จะพบว่ามีแบนเนอร์โฆษณาของลูกค้าเพียงชิ้นเดียว ก็คือแบนเนอร์โปรโมทการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในอดีตที่ผ่านมาก็อาจจะมีโฆษณาอย่างอื่นบ้าง เช่น โฆษณาโปรโมทรายการโทรทัศน์ของคุณสมัคร
ถ้าลองเทียบกับโต๊ะเฉลิมไทยดู เป็นโต๊ะที่มีโฆษณาเยอะมาก โฆษณาเต็มทั้งปี ขณะที่โต๊ะราชดำเนินไม่มีโฆษณา ไม่สร้างรายรับ แถมยังเป็นตัวสร้างรายจ่ายหลักของพันทิปอีก เป็นไปตามกฎ 20/80 คือใช้จ่ายไป 80 เพื่อสร้างรายได้เพียง 20 (หรืออาจจะต่ำกว่านี้)
บางคนมองว่าคนส่วนใหญ่ของโต๊ะราชดำเนินคือกลุ่มคนรักทักษิณ แต่คนส่วนใหญ่ของโต๊ะเฉลิมไทยคือกลุ่มคนไล่ทักษิณ ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมา เงินที่เอามาดูแลพื้นที่ให้คนรักทักษิณใช้ ก็คือเงินที่คนไล่ทักษิณหามา
ผมเลยคิดว่าจริงๆ แล้วโต๊ะราชดำเนินอาจจะไม่เหมาะที่จะดำเนินงานอยู่ภายใต้รูปแบบขององค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไร ภายใต้ชื่อ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาเว็บพันทิปก็ได้
ลองคิดดูสิ ถ้าเปิดราชดำเนินต่อไป ICT จะปิดทั้งเว็บพันทิปเลย (อันนี้ quote มาจากข้อความที่พันทิปติดประกาศในราชดำเนินในช่วงที่ถูกปิด) ปิดทั้งเว็บนี่หมายถึง core business ได้รับผลกระทบไปหมด ลูกค้าที่จ่ายเงินซื้อพื้นที่โฆษณาก็จะไม่ได้รับการบริการตามที่ข้อสัญญาระบุไว้ คนเล่นพันทิปที่ไม่สนใจเรื่องการเมืองก็ไม่มีเว็บให้เล่นอีก ฯลฯ
ถ้าจะให้ธุรกิจของพันทิปอยู่รอดต่อไป ก็ควรจะเอาเรื่องการเมืองออกไปจากเว็บซะ
ผมเชื่อว่าเรื่องการเมืองควรจะดำเนินงานภายใต้องค์กรไม่แสวงหากำไร อาจจะตั้งเป็นมูลนิธิก็ได้ เช่น Democratic Online Community Foundation (DOCF) หรือ มูลนิธิชุมชนออนไลน์เพื่อประชาธิปไตย เป็นมูลนิธิที่ดำเนินกิจกรรมให้บริการเว็บบอร์ดรวมถึงบริการอื่นๆ อย่างเป็นกลาง รายได้ของมูลนิธิมาจากเงินบริจาคของประชาชน ที่สำคัญคือผู้บริจาคจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินงานของมูลนิธิ ไม่สามารถเข้าไปบิดเบือนการแสดงความคิดเห็นในเว็บได้
การหารายได้จากเงินบริจาคน่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด จะได้ไม่มีปัญหาเหมือนในช่วงที่ผ่านมาที่รายการของคุณสมัครมาซื้อโฆษณาในราชดำเนิน ทำให้ภาพของราชดำเนินกลายเป็นโปรไทยรักไทยทันที ทั้งที่คนขายโฆษณาให้พันทิปก็คือเนชั่นมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าต่อต้านทักษิณ แต่ฝ่ายขายโฆษณาทำงานอย่างเป็นกลางทางการเมือง เพราะ KPI ของฝ่ายขายคือยอดขายที่เพิ่มขึ้น ก็เลยมีแบนเนอร์ที่เป็นขั้วการเมืองหลุดเข้ามาในราชดำเนิน ทำให้ภาพลักษณ์ของเว็บดูไม่เป็นกลางในที่สุด
การจัดตั้งมูลนิธิไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก (ไม่รู้ว่ามีเงื่อนไขทางกฎหมายหรือเปล่า คงต้องถามผู้รู้) แต่ที่ยากก็คือการหาผู้บริหารมูลนิธิที่เหมาะสม เหมาะสมในที่นี้ก็คือการวางตัวอย่างเป็นกลาง เปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ผู้บริหารมูลนิธิจะต้องยอมสูญเสียเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นว่าเขารักหรือเกลียดขั้วการเมืองใด เพื่อให้ภาพของมูลนิธิดูเป็นกลางมากที่สุด
นอกจากนี้ ผู้บริหารมูลนิธิยังต้องเป็นคนที่ยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของมวลชน ขณะที่ต้องสร้างสมดุลของความเหมาะสมและความสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นด้วย ไม่ใช่ว่าปล่อยให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่ 90% ของข้อความไม่มีความสร้างสรรค์เลย มีแต่การใช้ข้อความหยาบคาย ดูหมิ่นเสียดสีกัน ซึ่งทำให้เงินบริจาคของประชาชนถูกใช้ไปอย่างไม่เกิดประโยชน์
โต๊ะราชดำเนินจะต้องถูกแยกออกมาเป็นเว็บไซต์ต่างหาก คล้ายๆ กับโต๊ะโทรโข่งที่แยกออกมาเป็น torakhong.org การแยกเว็บไซต์นี้จะช่วยให้เว็บพันทิปไม่ได้รับความเดือดร้อนในกรณีที่ถูกบล็อก แต่ที่เหนือกว่านั้นก็คือระบบของราชดำเนินจะต้องเป็นคนละระบบกับที่พันทิปใช้อยู่
ระบบของพันทิปในปัจจุบันคือการให้สมาชิกเว็บต้องยืนยันตัวตนด้วยหมายเลขบัตรประชาชน บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร เนื่องจากพันทิปสื่อสารออกมาได้ไม่ดีนัก ปลายทางสุดท้ายของระบบนี้ก็เพื่อให้สังคมดูแลกันเองได้ สมาชิกแต่ละคน ไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่ง ทุกคนมีสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากันหมด ทุกคนสามารถใช้ "หนึ่งสิทธิ์" ของตัวเองในการเลือกผู้แทนชุมชนขึ้นมาบริหารงานเว็บได้ พันทิปจะกลายเป็นเว็บที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมาทันที แต่การจะทำให้ "หนึ่งสิทธิ์" เกิดขึ้นได้ ก็ต้องการการยืนยันตัวตน หมายเลขบัตรประชาชนจึงถูกนำมาใช้
แนวคิดดีมากครับ แต่ยังมีปัญหาด้าน implementation ที่เห็นชัดๆ ก็มีอยู่สองจุด
จุดแรกคือการใช้หมายเลขบัตรประชาชนยังมีรูรั่วอยู่ เพราะยังไม่มีวิธีการยืนยันตัวตนว่าคนที่เอาหมายเลขบัตรประชาชนมาสมัครสมาชิก คนนั้นเป็นเจ้าของบัตรตัวจริงหรือเปล่า หรือเป็นวอร์รูมพรรคการเมืองที่เอาเลขบัตรประชาชนของตาสีตาสามาใช้ รูรั่วนี้ส่งผลกระทบออกมาแล้วสองเฟส เฟสแรกคือช่วงที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อถือในระบบนี้อยู่ว่าคนเป็นสมาชิกแบบยืนยันตัวตน เป็นคนที่เชื่อถือได้ แต่มันก็ทำให้คนหนึ่งคนที่มีบัตรประชาชนหลายใบได้ใช้ประโยชน์จากรูรั่วนี้ในการสร้างกระแสสังคม เฟสที่สองคือช่วงที่คนเริ่มไม่เชื่อมั่นกับระบบนี้แล้ว มันก็เลยกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่า "หนึ่งสิทธิ์" ยังไม่เกิดขึ้นจริง
ปัญหาด้าน implemetation จุดที่สองก็คือการถูกยกเลิกความเป็นสมาชิก ทำให้สมาชิกที่เป็นพวก "หนึ่งสิทธิ์" จริงๆ ต้องสูญเสียโอกาสในการแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ทันที เสมือนกับว่าคุณเป็นคนไทย มีบัตรประชาชน แต่วันหนึ่งคุณถูกยกเลิกความเป็นคนไทย และต้องถูกอัปเปหิออกไปจากประเทศไทยทันที ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างมากกับกลุ่มคนที่ไล่ทักษิณ จากการที่ได้คุยกับทีมงานพันทิปที่ดูแลเรื่องสมาชิกโดยตรง ทำให้ทราบว่าพันทิปไม่ได้รับเงินมาจากพรรคการเมืองเพื่อเลือกปฏิบัตินะครับ แต่มาตรฐานของพันทิปคือความคิดเห็นต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมตามกรอบกติกา แต่ปัญหามันอยู่ที่กลุ่มคนไล่ทักษิณถูกบิ๊วอารมณ์มาในช่วงเย็นวันศุกร์ก่อนการรัฐประหาร พอกลับจากชุมนุมก็มาสาดเสียเทเสียกันในเว็บ ซึ่งทีมงานที่ดูแลกระทู้ก็ตามลบกันไม่ไหว สุดท้ายก็เลยต้องยกเลิกสมาชิกเพื่อระงับเหตุ ขณะที่ฝ่ายคนรักทักษิณในตอนนั้นยังเป็นฝ่ายตั้งรับ ก็ยังไม่ได้ใช้ข้อความอะไรที่รุนแรงมาก แต่พอหลังรัฐประหาร กลุ่มคนรักทักษิณเริ่มมีอารมณ์มากขึ้น ซึ่งเราก็ได้เห็นรายชื่อสมาชิกที่ถูกตักเตือนประจานบนเว็บ บางคนถามว่าทำไมกลุ่มคนไล่ทักษิณถึงถูกยกเลิกสมาชิกโดยไม่ได้รับการตักเตือน ขณะที่กลุ่มคนรักทักษิณถูกตักเตือนโดยไม่ยกเลิกสมาชิก แบบนี้ double standard หรือเปล่า คำตอบก็คือเพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไป กลยุทธ์การรับมือสมาชิกก็เปลี่ยนไป ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็ต้องเทียบภายใต้ตัวแปรเดียวกัน คือในช่วงเวลาเดียวกัน ความผิดแบบเดียวกัน ในช่วงก่อนรัฐประหาร ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม ถ้าใช้ข้อความที่รุนแรงเกินควรก็จะถูกยกเลิกสมาชิกเหมือนกัน เพียงแต่ฝ่ายไล่ทักษิณจะโดนมากกว่าเพราะถูกบิ๊วอารมณ์มาหนักกว่า
ด้วยปัญหาทั้งสองอย่างนี้ ผมเลยมองว่าราชดำเนินไม่ควรจะใช้ระบบเดียวกับพันทิป แต่ควรจะแยกเว็บไซต์ออกมาและใช้ระบบที่ถูก customize ให้เหมาะสมสำหรับวัฒนธรรมของเว็บ คล้ายกับที่ torakhong.org ก็มีระบบที่แตกต่างไปจากของพันทิป
ส่วนเรื่องระบบที่ดีควรจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้บริหารมูลนิธิจะต้องหาคำตอบให้ได้
ผมเชื่อว่าถ้าเราจัดตั้งเป็นมูลนิธิ และแยกโต๊ะราชดำเนินออกไปเป็นเว็บต่างหาก ทุกฝ่ายจะ win-win ทางพันทิปซึ่งเป็นองค์กรแสวงหากำไร จะได้นำทรัพยากรของบริษัทที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์กว่านี้ ส่วนฝ่ายคนเล่นเว็บเองก็ยังมีช่องทางให้แสดงความคิดเห็นได้ ไม่ใช่ว่าราชดำเนินถูกปิดแล้วต้องไปสิงสถิตอยู่ในโต๊ะอื่นให้ขาประจำโต๊ะนั้นเบื่อหน่ายและออกมาขับไล่ไสส่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น