วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2550

Social Business Enterprise เมื่อเป้าหมายธุรกิจไม่ใช่เพื่อ Maximize Profit แต่เพื่อ Minimize Poverty

Muhammad Yunus

ได้ดูรายการชีพจรโลกโดย สุทธิชัย หยุ่น ที่นำเสนอเรื่องราวของ Dr. Muhammad Yunus เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2006 ซึ่งผมมองว่าเป็นบุคคลที่มีแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก น่าที่จะลองศึกษาแนวคิดของเขาดู โดยเฉพาะนักศึกษา MBA ที่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อ Maximize Profit ทำอย่างไรก็ได้ให้บริษัทมีกำไรมากที่สุด ขณะที่แนวคิดของ Dr. Yunus กลับเป็นการ Minimize Poverty หรือการลดจำนวนคนยากจนให้เหลือน้อยที่สด รวมถึงการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคน

ฟังดูอาจจะรู้สึกแปลกๆ ว่าการลดจำนวนคนจน มันไม่น่าจะเรียกว่าธุรกิจ น่าจะเรียกว่ามูลนิธิมากกว่า ถ้าทำธุรกิจเพื่อคนจน ธุรกิจจะอยู่รอดได้อย่างไร (แต่ถ้าทำธุรกิจหากินกับคนจน แบบนี้มีโอกาสรวยล้นฟ้าได้ครับ) แต่ Dr. Yunus ก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นไปได้ อย่างเช่นธุรกิจ Village Phone ที่มีแนวคิดว่าคนในชนบทของบังกลาเทศขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร Dr. Yunus ก็ใช้วิธีปล่อยกู้ให้แก่ผู้หญิงในหมู่บ้านตามชนบทเพื่อนำเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือ แล้วให้ทำอาชีพเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือสาธารณะ (เหมือนการตั้งโต๊ะมือถือตามหอพักนักศึกษาในสมัยก่อนครับ ไม่รู้ว่าสมัยนี้ยังมีอยู่มั้ย นักศึกษาส่วนใหญ่คงมีมือถือเป็นของตัวเองกันหมดแล้ว) คนในหมู่บ้านที่ต้องการการติดต่อสื่อสาร แต่ไม่มีโทรศัพท์ ก็มาใช้บริการได้ คนที่ให้บริการก็มีรายได้เสริม

หลักการดำเนินธุรกิจของ Dr. Yunus คือต้องมีกำไร ธุรกิจต้องทำให้ผู้ลงทุนได้เงินของตัวเองกลับคืนไป แต่กำไรของธุรกิจไม่ต้องสูงมาก เมื่อสามารถคืนทุนให้เจ้าของเงินได้แล้ว บริษัทก็ยังต้องดำเนินต่อไปได้โดยใช้กำไรของตัวเองเป็นทุนในการดำเนินงาน กำไรส่วนที่เกินทุน ส่วนหนึ่งจะต้องคืนกลับสู่สังคม อีกส่วนใช้สำหรับขยายกิจการเพื่อก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง เลยครับ

จริงๆ แล้ว Dr. Yunus มีชื่อเสียงมากจากแนวคิด Micro Credit หรือเงินกู้ระดับรากแก้ว ซึ่งมีผู้ที่เขียนอธิบายถึงแนวคิดนี้ไว้ได้อย่างละเอียดดีมากครับ ลองอ่านดูได้ที่นี่ <ยูนุส (Yunus) และ ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ 2006>

คนไทยเองก็มี Micro Credit เช่นกัน แต่อยู่ภายใต้ชื่อ สัจจะสะสมทรัพย์ ซึ่งริเริ่มโดย ครูชบ ยอดแก้ว และ พระสุบิน ปณีโต รายละเอียดอาจจะแตกต่างจาก Dr. Yunus อยู่บ้างครับ

หลักการมีอยู่ว่า ให้คนที่อยู่ในหมู่บ้านมาพบกันทุกเดือน และแต่ละคนนำเงินมาฝากประจำไว้ คนละนิดละหน่อย แค่หลักสิบหรือหลักร้อยบาท แต่ต้องมีวินัย มาฝากกันทุกเดือน แล้วเวลาที่มีชาวบ้านคนไหนร้อนเงิน ต้องการใช้เงินด่วน ก็จะมาขอกู้จากกรรมการที่ดูแลบัญชี กรรมการก็จะพิจารณาและปล่อยกู้ให้โดยที่ไม่ต้องมีทรัพย์สินมาเป็นหลักประกัน แต่ใช้หลักของความเชื่อใจหรือ "สัจจะ"

สัจจะสะสมทรัพย์มีความแตกต่างจากนโยบายกองทุนหมู่บ้านตรงที่เงินที่ถูกนำมาเป็นกองทุนหมู่บ้านคือเงินที่รัฐบาลให้กู้ยืม ขณะที่เงินของสัจจะสะสมทรัพย์เป็นเงินของชาวบ้านเอง ความรู้สึกเป็นเจ้าของเงินจะแตกต่างกัน ชาวบ้านที่กู้จากกองทุนหมู่บ้านจะรู้สึกว่าถ้าไม่ใช้หนี้ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวรัฐบาลก็ช่วย ขณะที่การกู้เงินจากโครงการสัจจะสะสมทรัพย์ ลูกหนี้จะรู้สึกถึงความรับผิดชอบ เพราะเจ้าหนี้ก็คือคนรู้จักนับร้อยคนที่อยู่ในหมู่บ้าน ตัวเจ้าหนี้เองก็รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของเงิน ถ้าลูกหนี้ประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็จะพยายามช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ วิธีการแบบนี้ทำให้รากแก้วมีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

เขียนถึงเรื่องการทำเพื่อสังคม และการให้สังคมดูแลกันเอง คงต้องวกเข้ามาที่วงการออนไลน์หน่อย ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า Web 2.0 กันมากขึ้น ซึ่งมีคีย์เวิร์ดที่สามารถบ่งบอกความเป็น Web 2.0 ได้ก็คือคำว่า Collaboration, Community และ Social

Web 2.0

ทั้งสามคำนี้ต่างก็มีความหมายไปในแนวทางเดียวกัน คือการเชื่อมโยงประชากรออนไลน์เข้าด้วยกัน ให้แต่ละคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ขึ้นมา

เว็บไซต์ที่มีลักษณะแบบนี้ก็เช่น Wikipedia ที่ให้คนเข้ามาร่วมเขียนบทความลงสารานุกรมออนไลน์ หรือ del.icio.us ที่ให้คนเอาเว็บดีๆ ที่ตนเองไปพบเจอมาแบ่งปันกัน

ถ้าพูดถึงเว็บไซต์ไทยที่มี concept แบบนี้ ก็คงนึกถึง Pantip.com กัน ที่เปิดให้คนเข้าไปเขียนตอบกระทู้ แบ่งปันความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

สมัยที่ผมทำงานอยู่กับ Pantip.com คุณวันฉัตรซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ เคยปรารภอยู่บ่อยๆ ว่าอยากเห็น Pantip.com เป็นของประชาชนจริงๆ อยากเห็นคนเล่นเว็บเข้ามาเป็นคนบริหารเว็บ อยากเห็นอะไรที่คล้ายๆ กับสหกรณ์ที่คนเล่นเว็บร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมบริหาร เมื่อมีกำไรก็ปันผลกลับไปให้แก่คนเล่นเว็บเอง

คุณวันฉัตรเคยนำแนวคิดนี้ไปปรึกษากับนักธุรกิจหลายท่าน ผลตอบรับก็คือมันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำแบบนั้น

อาจจะคล้ายๆ กับที่ Dr. Yunus ไปคุยกับผู้จัดการธนาคารว่าอยากให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับคนจน แต่ธนาคารปฏิเสธว่าเป็นไปไม่ได้เพราะไม่คุ้มที่จะทำ และคนจนก็ไม่มีหลักประกัน แต่สุดท้ายก็เกิดธนาคาร Grameen และแนวคิด Micro Credit ขึ้นจนได้

ทุกวันนี้แนวคิดของการให้คนเล่นเว็บเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารเว็บ ค่อนข้างชัดเจนขึ้นในบางเว็บไซต์ อย่างเช่นเว็บ ThaiVI.com ซึ่งเป็นชุมชนของนักลงทุนเน้นคุณค่า ผู้บริหารชุดเก่าได้ประกาศวางมือ และเปิดรับผู้บริหารชุดใหม่ที่จะเข้าไปทำหน้าที่แทนโดยสมบูรณ์

ส่วนการแบ่งรายได้ให้แก่คนเล่นเว็บเองก็เริ่มมีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่สูงขึ้น การเกิดขึ้นของ AdSense ที่ช่วยให้คนทำเว็บไม่ต้องไปวิ่งขายโฆษณาเอง ก็สามารถมีรายได้จากการทำเว็บได้ และการประกาศของ YouTube ที่จะแบ่งรายได้โฆษณาให้แก่ผู้ที่โพสต์วิดีโอบนเว็บไซต์

ถ้า YouTube ทำสำเร็จ คงจะกลายเป็นต้นแบบให้เว็บบล็อกและเว็บบอร์ดหลายแห่งทำตาม อีกหน่อยคนเขียนบล็อกใน Exteen หรือเขียนกระทู้ใน Pantip อาจจะมีรายได้จากค่าโฆษณาโดยที่ตัวเองไม่ต้องจดโดเมนทำเว็บเอง และไม่ต้องวิ่งหาลูกค้าเองก็ได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: