วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เมื่อ eBay Go Thailand ใครได้ ใครเสีย?

หลังจากที่มีการแถลงข่าวระหว่างเว็บไซต์ Sanook.com และ eBay.com เพื่อมีการร่วมมือในการพัฒนาตลาดประมูลออนไลน์ในประเทศไทย มีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วมันจะไปรอดเหรอ?

เราลองมาวิเคราะห์กันดูครับ

ก่อนอื่นต้องขอเท้าความไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ในยุคเริ่มแรกของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย ธุรกิจนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากหลักการของ Classifieds ที่ปกติจะลงประกาศซื้อขายสินค้ากันในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร เว็บแรกที่พัฒนา Online Classifieds ขึ้นมาก็คือ Pantip.com โดยเป็นบริการหนึ่งภายใต้เว็บไซต์นี้ (ภายหลังถึงได้แยกเว็บออกมาเป็น PantipMarket.com) บริการ Classifieds นี้เกิดก่อนที่ Pantip.com จะมีเว็บบอร์ดอีกนะครับ

หลักการของ Online Classifieds นั้นก็เรียบง่ายครับ คนมีสินค้ามาลงประกาศขายไว้ คนซื้อสินค้าเข้าไปดู ถ้าสนใจก็ติดต่อถึงกันเอง เว็บไซต์ไม่รับรู้อะไรด้วย ทำหน้าที่เป็นเพียง "พื้นที่" ให้คนเข้ามาใช้บริการ

เมื่อ Pantip.com เริ่มต้นด้วยโมเดลแบบนี้ เว็บที่มาทีหลังก็ต้องทำตาม ThaiSecondHand.com ตามเข้ามาด้วยรูปแบบ Online Classifieds เช่นกัน

Online Classifieds ของทั้ง Pantip.com และ ThaiSecondHand.com นั้นไม่เก็บเงินทั้งจากผู้ซื้อและผู้ขาย ใครใคร่ขายขาย ใครใคร่ซื้อซื้อ เมื่อคนขายรู้ว่าเว็บเหล่านี้มีพื้นที่ให้ลงประกาศขายสินค้าได้ฟรี แถมยังมีผู้ซื้อเยอะอีกต่างหาก คนขายก็แห่มาลงประกาศสินค้ากัน พอคนขายเยอะขึ้น ก็ต้องมีคนขายที่อยากให้ประกาศของตัวเองโดดเด่นกว่าของคู่แข่ง เว็บก็เริ่มมีรายได้จากทางนี้ครับ ด้วยการขายตำแหน่งโฆษณาพิเศษ

โมเดล Online Classifieds นั้นมีข้อเสียก็คือสินค้าของเราจะปะปนไปกับสินค้าของคู่แข่ง ซึ่งเป็นเรื่องลำบากสำหรับลูกค้าที่ต้องการดูเฉพาะสินค้าของเรา จึงได้เกิดโมเดลร้านค้าออนไลน์ขึ้นมา คนขายสินค้าเป็นอาชีพสามารถเข้าไปเปิดร้านของตัวเอง นำสินค้าของตัวเองไปใส่ไว้ในร้าน จากนั้นค่อยไปประกาศลง Online Classifieds เพื่อโปรโมทร้านของตัวเอง เว็บไซต์ที่กินส่วนแบ่งตลาดรายใหญ่ในธุรกิจผู้ให้บริการร้านค้าออนไลน์ก็คือ Tarad.com และ MarketAtHome.com

ส่วนในต่างประเทศนั้น โมเดลประมูลออนไลน์แบบ eBay.com ดังระเบิดระเบ้อ โมเดลนี้มีข้อดีตรงที่ทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะคนตั้งราคาไม่ใช่คนขาย แต่คนซื้อต่างหากที่เป็นผู้ตั้งราคา ถ้าสินค้าชนิดไหนที่เป็นที่ต้องการสูงมาก แต่มีคนขายไม่กี่คน สินค้าชิ้นนั้นก็จะขายได้ราคาสูง นอกจากนี้ eBay ยังรู้ด้วยว่าผู้ขายแต่ละคนสามารถขายสินค้าได้ที่กี่ชิ้น ราคาเท่าไร ทำให้ eBay สามารถเรียกเก็บค่าต๋งจากผู้ขายสินค้าได้ ต่างกับโมเดลแบบ Online Classifieds ที่เว็บไซต์ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้ขายสามารถขายสินค้าได้กี่ชิ้น เว็บไซต์ที่บุกเบิกตลาดประมูลออนไลน์ในไทยก็คือ Pramool.com ซึ่งดูเหมือนว่าปัจจุบันนี้จะเน้นไปทำเว็บบอร์ดมากกว่า

ด้วยความร้อนแรงของ eBay ทำให้เว็บไซต์ไทยหลายแห่งเริ่มพัฒนาบริการประมูลออนไลน์ขึ้นมา ทั้ง Tarad.com ที่คลอด TaradEbid.com ออกมา หรือ Sanook.com ที่เพิ่มบริการประมูลออนไลน์เข้าไปในร่มใบใหญ่ของตัวเอง

แต่ถามว่ามัน work จริงหรือเปล่า? ผมลองเช็คตัวเลขจำนวนสินค้าที่กำลังถูกประมูลอยู่ในเว็บต่างๆ ดู TaradEbid.com มีปัญหาด้านการแสดงผลตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง แต่จากที่ลองคลิกๆ ดู ผมคาดว่ามีสินค้าอยู่แค่หลักพันเศษๆ Sanook Auction อยู่ที่ราวๆ เจ็ดพันรายการ ต้นตำรับอย่าง Pramool.com มีเกือบสองหมื่นรายการ

แต่สินค้าไทยที่ถูกประกาศขายใน eBay.com ที่อเมริกา มีมากกว่าหนึ่งแสนรายการต่อสัปดาห์นะครับ

แปลว่าคนไทยชอบเอาสินค้าไปประมูลในเมืองนอกมากกว่าที่จะประมูลในไทย

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะโมเดลแบบ Online Classifieds ในไทยนั่นแหละครับ มันง่ายกว่า ไม่ต้องคิดว่าจะประมูลกี่วันดี จะตั้งราคาเริ่มต้นเท่าไหร่ดี ถ้าตั้งราคาต่ำๆ แล้วขาดทุนล่ะ แล้วถ้าตั้งราคาสูงไว้ก่อนแต่ไม่มีคนซื้ออีกล่ะ และที่สำคัญที่สุดก็คือประมูลออนไลน์จะต้องรอให้จบประมูลก่อนถึงจะได้สินค้า แต่ Online Classifieds นั้น ถ้าผู้ซื้ออยากได้สินค้าเมื่อไหร่ก็แค่โทรศัพท์หรือส่ง e-mail หาผู้ขายได้เลย

แต่ใช่ว่าการเข้ามาของ eBay จะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จเอาซะเลยนะครับ อย่างน้อยผมก็มองเห็นช่องว่างตลาดที่ eBay สามารถเข้ามาได้ นั่นก็คือตลาดผู้ขายที่อยู่ต่างประเทศ ส่งสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาไทยที่ไปเรียนต่อต่างประเทศนี่แหละครับ อาจจะหาสินค้าในต่างประเทศที่ยังไม่มีขายในไทย หรือมีราคาขายถูกกว่าในไทยมาก แล้วส่งมาขายผ่าน Sanook eBay

จะดีไหมครับถ้าคนไทยสามารถซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อดังในราคาถูก หรือซื้อ Apple iPhone ที่ยังไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย ด้วยการซื้อผ่าน Sanook eBay

7 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถ้ามองเชิงพฤติกรรมนะ

1. คนไทยยังชอบ
อะไรที่คุยแล้วซื้อแบบปุ๊ปปับ+ต่อรองได้มากกว่า
คือการ bid มันต้องมานั่งรอน่ะ
(ไม่นับ กรณีแบบ buy now) นะ

2. การลงประกาศใน ebay มันมีสารพัด fee
ซึ่งถ้าลงประกาศกับเวบแบบบ้านๆอย่างเคย
มันลงฟรี...ก็ขยันลง+อัพเดทประกาศหน่อย
แล้วทำลิงค์ไปหน้าร้านค้าที่จ่ายเงินเช่าตูมเดียวจบ

3. แต่ถ้าอีเบย์มาจริงๆ ที่น่าสนใจ
น่าจะเป็นระบบเก็บเงินอย่าง paypal ล่ะมั้ง
เพราะเวบไทยๆ ถึงใส่ paysbuy เข้าไป
พูดจริงๆนะ...paypal ใช้สะดวกกว่าเยอะ

4. ถ้าจะบอกว่าเป็นช่องทางที่นักเรียนไทย
คนไทยต่างแดนจะส่งของมาขายไทยนี่
ทุกวันนี้มันก็มีอยู่แล้วในเวบแบบบ้านๆ ของเราๆ นี่แหล่ะ
จะเป็นพวก เสื้อผ้า เครื่องสำอาง กิฟท์ช็อป

Unknown กล่าวว่า...

ในส่วนของค่าธรรมเนียม คิดว่า Sanook eBay คงจะให้บริการฟรี เหมือนกับ eBay ในสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เก็บค่าธรรมเนียมไม่ได้ก็เพราะจะไม่มีคนมาใช้บริการนั่นเอง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โทษนะครับ ไม่ได้กวนนะ แต่ตกลงใครได้ใครเสียล่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมมีข้อสงสัยหน่อยครับ คุณ Macroart

ถ้าบอกว่า Sanook eBay จะสู้กับ Online Classified สัญชาติไทยลำบาก แต่จริงๆ แล้ว ในต่างประเทศทั่วโลกก็มีเว็บ Online Classified กันทั้งนั้น ใน US ที่ดังๆ และฟรีคือ Craiglists.org แล้วทำไม eBay ถึงประสบความสำเร็จได้ล่ะครับ???

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เอาตามความคิดผมนะครับ ผมว่าในประเทศไทย เรื่องซื้อสิ้นค้าผ่าน ebay ระหว่างประเทศ มันเป็นเรื่องยาก เพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่ ผมคิดว่าไม่ค่อยมีเวลามานั่งรอประมูล หรือบางคนใจร้อน แล้วอีกอย่างบางคนก็ไม่ค่อยชอบรอ ถ้าเป็นตัวผมเอง อยากได้อะไร ผมก็โทรติดต่อเลย แล้ว deal กัน เสร็จปุ๊ป ก็นัดเจอ รับส่งของไป

ในมุมมองผมคิดว่า ถ้าเราดูของที่จะขายใน ebay ของใน ระหว่างประเทศนั้น ผมว่ามีจำนวนน้อยที่เราจะซื้อของจาก ตจว ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อใน กทม ด้วยกัน ดังนั้นผมว่า บางที่ ของบางชิ้นมันอาจจะถูกกว่าไม่เท่าไร แล้ว + opportunity cost + ค่าส่ง แล้ว เผลอๆ ไปซื้อเองน่าจะดีกว่า
แต่อย่างพวกในอเมริกา อะไรแบบนี้ ของชิ้นเดียวกันในแต่ละ รัฐ มันราคาไม่เท่ากัน
ผมเคยอยู่อเมริกามาก่อน เลยได้รู้ตรงจุดนี้ว่า ราคาของมันไม่เท่ากัน ดังนั้น ซื้อขายข้าม รัฐ บางทีอาจจะได้ราคาถูกกว่า แต่ในประเทศไทย ผมคิดว่าไม่ใช่อ่ะครับ

อีกอย่าง ถ้าจะมานั่งประมูล หรือ ซื้อผ่าน ebay มันต้องมีเรื่องพวก security มาเกี่ยวข้องอีก แบบว่า ซื้อแล้วของจะได้มั้ย ถึง paypal จะ cover ก็เหอะ มันก็ยังไม่ save อยู่ดี ยิ่งพูดตรงๆว่าเมืองไทยนะครับ ถ้าซื้อขายของกันผ่านเนต ไม่นัดเจอกัน นี่ผมไม่กล้าซื้อ ผมเคยมีประสบการณ์ไม่ดี แบบว่าจ่ายเงินไป ของไม่ได้ อะไรเทือกนี้

อีกอย่าง ถ้าดูในประเทศไทย กับ มาเลเซีย นั้น เราจะเห็นได้ว่า ความเป็นอยู่ หรือ อะไรต่างๆมันจะคล้ายๆกัน
ผมเคยเข้าไปดู ebay ของ malaysia แทบจะไม่เห็นมีของอะไรขายเลยครับ ผมคิดว่า คนมันคงซื้อตามท้องถนน ไม่ก็ตามห้างเอาดีกว่า

นี่เป็นความคิดส่วนตัวนะครับ

Unknown กล่าวว่า...

ถ้าอยากรู้ว่าทำไม eBay ถึงประสบความสำเร็จในอเมริกาอย่างมาก ทั้งที่มีเว็บ Online Classifieds อื่นอยู่ด้วย ให้ลองอ่านบทความเรื่อง Affiliate Marketing ที่ผมเขียนดูนะครับ (http://blog.macroart.net/2007/06/affiliate-marketing-cpc-advertising.html)

30% ของรายได้ของ eBay ถูกใช้เป็นงบการตลาดเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการบน eBay ไงล่ะครับ

และมีอีกปัจจัยหนึ่งก็คือการเป็นเว็บแรกๆ ที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบนี้ ทำให้มี first mover advantage ครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พอดีผมกำลังหางานในอินเทอร์เน็ตอยู่ เจอตำแหน่งงานนี้เข้า

http://th.jobsdb.com/TH/EN/Job.asp?R=JDBT054916699&41164

ไม่แน่ใจว่าน่าสนใจไม๊ครับเนี่ย??