วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Process of Successful Website Development 3 กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 3

สารบัญ

  1. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 1
  2. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 2
  3. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 3

มาถึงตอนสุดท้ายของบทความไตรภาคแล้วนะครับ จากตอนที่แล้วที่ผมทิ้งท้ายไว้โดยให้ทายว่าเฟสไหนของการพัฒนาเว็บไซต์ที่มีความสำคัญมากที่สุด? ระหว่าง Requirement Development หรือ Implement? ก่อนที่จะเฉลย เราลองมาดูภาพก้อนน้ำแข็งกันก่อนครับ

Website Iceberg

ก้อนน้ำแข็งในมหาสมุทร

เว็บไซต์ก็เหมือนก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในทะเล คุณมองเห็นเพียงหน้าตาเปลือกนอกของเว็บไซต์ เหมือนที่คุณมองเห็นเพียงส่วนยอดของก้อนน้ำแข็ง แต่ลึกลงไปยังมีอะไรที่มากกว่านั้นซุกซ่อนอยู่

สิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำคือ e-Business Model ที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจของเว็บไซต์ บางครั้งหน้าตาของเว็บไซต์อาจไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ต่างก็คือรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

และส่วนที่อยู่ลึกที่สุดก็คือ Vision หรือวิสัยทัศน์ของเว็บไซต์นั้นๆ หรืออาจจะเป็น Business Philosophy หรือปรัชญาในการทำเว็บไซต์ ซึ่งวิสัยทัศน์และปรัชญานี้แหละที่เป็นกรอบในการออกแบบโมเดลธุรกิจ

ลองนึกภาพคนสองคนที่อายุเท่ากัน ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน แต่ทั้งคู่มีปรัชญาการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน คนหนึ่งให้ความสำคัญกับการหาเงิน อีกคนหนึ่งให้ความสำคัญกับความสุขในชีวิต ทั้งสองคนนี้ย่อมมีวิถีทางการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราลองมาดูก้อนน้ำแข็งของ Google กัน

ก้อนน้ำแข็งของ Google

Google Iceberg

ธุรกิจของ Google นั้นเริ่มมาจากปรัชญาที่ว่า "To organize the world's information and make it universally accessible and useful" หรือแปลเป็นไทยว่า "เพื่อจัดการข้อมูลของโลกนี้ และทำให้ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์และเข้าถึงได้ทั้งสากลพิภพ"

ด้วยปรัชญานี้จึงทำให้เกิดโมเดลธุรกิจ Search Engine ขึ้นมา และเป็นโมเดลที่แตกต่างจาก Search Engine รายอื่นๆ ในเว็บ Google's Ten Things ได้ระบุถึงกฎ 10 ข้อที่ Google พบว่ามันเป็นความจริง และเป็นสิ่งที่ Google นำมาใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ เช่น

  • Google ให้ความเอาใจใส่ต่อผู้ใช้เว็บด้วยการออกแบบเว็บให้ดูโปร่งตา โหลดได้ในอึดใจเดียว เมื่อผู้ใช้รู้สึกสะดวกที่จะใช้งาน สิ่งอื่นๆ ก็จะตามมาเอง
  • Google เชื่อว่าถ้าจะทำอะไรก็ต้องทำให้ดีมากๆ บริการต่างๆ ที่ Google มีก็เพื่อทำให้ชีวิตเราดีขึ้น
  • Google เชื่อว่าเร็วดีกว่าช้า จึงได้ลงทุนสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้คอมพิวเตอร์เหล่านั้นสามารถค้นหาสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
  • Google เชื่อว่าสามารถทำเงินได้โดยที่ไม่ต้องทำชั่ว โฆษณาต่างๆ ที่อยู่บนเว็บไซต์จะถูกแบ่งแยกออกมาอย่างชัดเจนจากผลลัพธ์การค้นหา และไม่มีการรับเงินจากเว็บไหนเพื่อทำให้เว็บนั้นๆ ติดอยู่ในอันดับสูงๆ

สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างออกมาเป็นเว็บไซต์ Google แบบในทุกวันนี้ ที่เราสามารถโหลดได้เร็ว ดูโล่งสะอาดตา ค้นหาสิ่งที่ต้องการได้อย่างสะดวก ซึ่งแตกต่างกับ Search Engine อื่นๆ ในสมัยที่ Google ยังแบเบาะ เช่น Lycos, Altavista หรือ Infoseek

ก้อนน้ำแข็งของ Pantip.com

ลองดูธุรกิจของคนไทยบ้าง ที่คลาสสิคที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Pantip.com เว็บไซต์สัญชาติไทย 100% ที่ก่อตั้งโดยคนธรรมดา เวลาผ่านมา 10 ปีแล้ว คนธรรมดาคนนั้นก็ยังเป็นผู้ดูแลเว็บอยู่ ไม่ได้ขายเว็บหรือขายหุ้นให้ใคร

ปรัชญาของ Pantip.com คือการสร้างสังคมออนไลน์คุณภาพ สิ่งที่ Pantip.com อยากเห็นก็คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมีคุณภาพ สร้างสรรค์ หลากหลาย และมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

โมเดลธุรกิจที่ต่อยอดขึ้นมาจากปรัชญาก็คือการทำทุกอย่างให้ดีที่สุดตั้งแต่แรก แล้วที่เหลือจะตามมาเอง นอกจากนี้ Pantip.com ยังแบ่งลูกค้าออกเป็นสองกลุ่มคือลูกค้าที่ซื้อโฆษณาและลูกค้าที่เป็นคนเล่นเว็บ ถึงแม้ว่าคนเล่นเว็บจะไม่ได้จ่ายเงินให้กับเว็บ แต่คนเล่นเว็บก็ช่วยให้เว็บมีรายได้ และเว็บมองว่าตัวเองเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่ ส่วนคนที่จะตกแต่งพื้นที่นั้นให้เป็นอย่างไรก็คือคนเล่นเว็บนั่นเอง ภาพลักษณ์ของ Pantip.com ก็จะเป็นไปตามที่คนเล่นเว็บอยากให้เป็น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกต่อยอดขึ้นมาเป็นเว็บไซต์ Pantip.com ในปัจจุบัน กลายเป็นเวทีที่ใครอยากรู้กระแสอะไรก็จะเข้ามาที่นี่เป็นที่แรก

บทสรุป

จะเห็นได้ว่าปรัชญาและโมเดลธุรกิจคือสิ่งที่กำหนดว่าเว็บไซต์จะเป็นอย่างไร มีหน้าตาอย่างไร มีความสามารถอะไรบ้าง ถ้า Google เอาใจคนจ่ายเงินซื้อโฆษณามากกว่าเอาใจคนเล่นเว็บ เราอาจได้เห็นแบนเนอร์โฆษณาอยู่เต็มหน้าแรกของ Google ถ้า Pantip.com นั่งถึกทำ content เองทั้งหมด ความหลากหลายในการแสดงความคิดเห็นก็คงไม่เกิดขึ้น

นี่คงจะเป็นคำตอบของคำถามในตอนต้นได้แล้วว่าเฟสไหนคือเฟสที่สำคัญที่สุด ถ้าเราไปให้ความสำคัญกับเฟส Implement มากกว่าเฟสอื่น เราก็จะได้แค่เว็บไซต์ที่ถูกติดตั้งอย่างดีเยี่ยม ถ้าเราให้ความสำคัญกับเฟส Development มากกว่าเฟสอื่น เราอาจได้เว็บไซต์ที่มีเทคโนโลยีหรูเลิศแต่อาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรนัก สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ Business Requirement ที่เป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของเว็บไซต์นั้นๆ

ถึงแม้เว็บไซต์จะดูง่ายๆ โง่ๆ แต่ถ้ามันเกิดจากปรัชญาที่ดี และโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับปรัชญา เว็บนั้นก็ประสบความสำเร็จได้ครับ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆ ครับ สำหรับ "Blue Ocean"
ผมรีบไป search หาจาก google มาเป็นความรู้ประกอบเลยครับ :D

จริงๆ แล้วในหน้าที่การงานของผมส่วนนึง
ต้องอยู่กับเนื้อหาบนเว็บภายในบริษัท
มันเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว
แต่ผมกำลังคิดกระบวนการที่สร้างคุณค่าให้กับเว็บนั้น
มากกว่าแค่เครื่องมือหากินของเขาเฉยๆ

ตอนนี้ขั้นแรก ก็คล้ายๆ วิธีคิดของ google
คือผมพยายามออกแบบหน้าตาให้เป็นมิตรกับผู้ใช้
ข้อมูลเกะกะถูกจัดวางหมวดหมู่ใหม่ให้ดูง่าย
และเน้นภาพที่สื่อความหมาย (ไอคอน) มาใช้มากขึ้น

สงสัยผมต้องคอยติดตามตอนต่อไปแล้วครับ :D

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เนื้อหาน่าสนใจมากครับ
ขอบคุณสำหรับบทความดีดีแบบนี้