Process of Successful Website Development 2 กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 2
สารบัญ
- กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 1
- กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 2
- กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 3
จากตอนที่แล้วที่ผมเกริ่นเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเว็บไซต์ขนาดใหญ่เอาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากปัญหาของการเข้าใจไม่ตรงกัน รวมถึงการสื่อสารไม่ตรงกันระหว่างบริษัทผู้เป็นเจ้าของเว็บ และ Software House ที่ทำหน้าที่พัฒนาเว็บ บทความตอนนี้จะอธิบายถึงกระบวนการพัฒนาเว็บที่ควรจะเป็น เพื่อลดปัญหาการมองเห็นภาพที่ไม่ตรงกันของทั้งสองฝ่ายลง
กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ
กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ขนาดใหญ่ถูกแบ่งออกเป็น 3 เฟส
เฟสแรกคือ Requirement เป็นมุมมองความต้องการทางธุรกิจ เพื่อหาคำตอบว่าจะมีเว็บไซต์ไปเพื่ออะไร มีไปเพื่อใคร และอะไรคือสิ่งที่จะช่วยให้เว็บไซต์ประสบความสำเร็จได้ ถ้าเราเปรียบเทียบกับการสร้างบ้าน เฟสนี้ก็คือการมองหาความต้องการของเจ้าของบ้านนั่นเอง เจ้าของบ้านอาจจะต้องการบ้านสองชั้น สามห้องนอน สามห้องน้ำ ตัวบ้านเย็น อากาศถ่ายเทสะดวก ฯลฯ
เฟสที่สองคือ Development เป็นขั้นตอนการก่อสร้างเว็บไซต์อย่างมีระบบแบบแผนให้เป็นไปตามความต้องการทางธุรกิจ เปรียบเสมือนส่วนที่ผู้รับเหมา (Software House) และช่าง (Designer & Programmer) จะต้องทำงานให้แก่ลูกค้า
เฟสที่สามคือ Implement หรือการนำเว็บไซต์ที่พัฒนาเรียบร้อยแล้วไปใช้งานจริง
Requirement
Requirement ที่ดีจะต้องเริ่มต้นจาก Vision/Mission ของเว็บไซต์ก่อน ด้วยการตั้งคำถามว่า ทำเว็บไซต์นี้ขึ้นเพื่ออะไร อะไรคือธุรกิจหลักของเว็บไซต์ ใครคือกลุ่มผู้ชมเว็บเป้าหมาย รายได้ของเว็บไซต์มาจากทางไหน อยากเห็นเว็บไซต์นี้เป็นอย่างไรในอนาคต ฯลฯ
จากนั้นก็ควรจะตั้ง Goal/Objective ของเว็บไซต์ว่าเป้าหมายที่จะไปให้ถึงคืออะไร ซึ่งเป้าหมายในที่นี้มีทั้งเชิงปริมาณ (quantitative) และเชิงคุณภาพ (qualitative) เช่น ต้องการให้มีคนสมัครสมาชิกเว็บ 10,000 คน ภายในเวลา 6 เดือน หรือ ต้องการพัฒนาเนื้อหาบนเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดให้คนเข้าเว็บอย่างสม่ำเสมอ
แล้วก็ถึงขั้นของการวางกลยุทธ์ ทั้งด้านการดำเนินงานเว็บไซต์ และด้านการตลาดของเว็บไซต์ ในด้านการดำเนินงานเว็บไซต์ก็จะต้องมองถึงงานต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นมาจากการมีเว็บไซต์ เช่น ต้องมีการปรับปรุงข้อมูลบนเว็บไซต์ ถ้าเว็บไซต์มีการเปิดรับข้อความจากผู้ใช้เว็บ ก็ต้องมีคนทำหน้าที่สกรีนข้อความ ถ้าเว็บไซต์เป็นที่นิยมมากขึ้น ก็ต้องมีคนคอยตอบ e-mail ที่ผู้ใช้เว็บส่งเข้ามา ส่วนด้านการตลาดเป็นเรื่องของการทำให้เว็บไซต์เป็นที่รู้จัก ซึ่งมีทั้งช่องทาง online และ offline ที่ต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม
เมื่อได้ข้อสรุปของกลยุทธ์ออกมาแล้ว ก็จะต้องทำ Stakeholder Analysis หรือการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องดูว่าจะมีใครที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นี้บ้าง และเว็บไซต์จะตอบสนองกับความต้องการของคนเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องทำอย่างละเอียดครับ และเรามักจะพบว่าถ้าเราเอาใจคนหนึ่ง มันอาจจะทำให้อีกคนหนึ่งไม่พอใจได้ ก็ต้องหาจุดสมดุลให้ดี ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Pantip.com เป็นเว็บบอร์ดที่มีชื่อเสียง มีคนใช้บริการเยอะมาก ก็จะมีคนที่อยากโฆษณาขายสินค้าในกระทู้ของเว็บ แต่คนใช้เว็บคนอื่นก็อาจจะเบื่อหน่ายที่เว็บบอร์ดมีแต่โฆษณาขายสินค้าและเลิกเล่นเว็บในที่สุด ผู้ดูแลเว็บจึงต้องเลือกเอาใจคนใช้เว็บ และต้องขัดใจคนโฆษณาขายสินค้า
พอเรารู้แล้วว่ามีใครเกี่ยวข้องกับเว็บบ้าง ก็สามารถสรุปออกมาเป็น Business Requirement ว่าในเว็บไซต์จะมีบริการอะไรบ้าง แต่ละบริการมีรายละเอียดอะไรบ้าง เช่น ต้องมีระบบสมาชิกมั้ย ถ้ามี จะขอข้อมูลส่วนตัวอะไรจากสมาชิกบ้าง สมาชิกสามารถทำอะไรได้บ้าง ฯลฯ
ขั้นสุดท้ายก็คือการแปลงจาก Business Requirement ให้เป็น Technical Specification ก็คือการดูว่าความต้องการทางธุรกิจที่คิดกันขึ้นมา ในทางเทคนิคแล้วจะต้องใช้อะไรบ้าง เช่น จะใช้เว็บเซิร์ฟเวอร์ค่าย Linux หรือ Microsoft จะใช้มาตรฐานอะไรในการสร้างเว็บ HTML 4.01 หรือ XHTML 1.0 ถ้าจะทำให้เว็บไซต์ติดอันดับสูงๆ ใน Google ก็ต้องคิดเรื่อง SEO กันตั้งแต่ตอนนี้ เป็นต้น ขั้นตอนนี้จะต้องมีคนที่มีความรู้ด้านเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้องครับ
Development
Business Requirement และ Technical Specification ที่ได้จากเฟส Requirement จะถูกส่งต่อให้ทีมพัฒนาเว็บไซต์ ซึ่งอาจจะเป็นทีมภายในบริษัทเอง หรืออาจจะเป็น Software House ภายนอก คนแรกของทีมพัฒนาที่จะต้องดูก็คือ Information Architect ซึ่งจะเป็นคนแปลง Requirement ให้เป็นแผนผังของเว็บไซต์ นึกง่ายๆ ว่าถ้าคุณได้คำตอบแล้วว่าบ้านของคุณจะมีพื้นที่แค่ไหน มีกี่ห้อง คนที่เป็นสถาปนิกก็จะเป็นคนออกแบบแผนผังบ้านของคุณให้ตรงกับที่คุณต้องการ
Technical Specification และ Information Architect ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะถูกส่งต่อไปให้ System Analyst เพื่อแยกส่วนเว็บไซต์ออกเป็นชิ้นๆ ให้ง่ายต่อการพัฒนา ภาษาที่ System Analyst ใช้ก็คือ Unified Modeling Language หรือ UML ซึ่งเป็นภาษาที่ช่วยให้โปรแกรมเมอร์มองเห็นภาพร่างของส่วนประกอบต่างๆ ภายในเว็บไซต์นี้
ผลลัพธ์จาก Information Architect และ System Analysis จะถูกส่งต่อไปให้ Web Designer และ Web Programmer เพื่อทำการพัฒนาเว็บขึ้นมา ถ้าจะเปรียบเทียบ สองคนนี้ก็เหมือนช่างก่อสร้างครับ เป็นคนที่ทำหน้าที่ก่ออิฐฉาบปูนและทาสี
เนื่องจาก Web Designer และ Web Programmer อาจจะทำงานคู่ขนานกัน จึงต้องมีการรวมงานของทั้งสองเข้าด้วยกัน ซึ่งขั้นตอนนี้เรียกว่า System Integration
หลังจากพัฒนาเว็บไซต์เสร็จแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการทำ Quality Assurance ซึ่งก็คือการทดสอบเว็บไซต์ว่าตรงกับ Technical Specification หรือไม่ มีบั๊กหรือเปล่า และยังต้องดูด้วยว่าถ้าเว็บต้องรับโหลดเยอะๆ จะรับไหวมั้ย
Implement
เฟสนี้ก็คือการนำเว็บไซต์ไปใช้งานจริง ซึ่งจะต้องทำการติดตั้งและทดสอบว่าทำงานได้ตามที่ต้องการหรือไม่ จากนั้นก็ทำการเปิดตัวเว็บไซต์ออกสู่สาธารณชน
แต่ก่อนที่จะมีการเปิดตัว บางเว็บไซต์อาจจะต้องการขั้นตอนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การถ่ายโอนข้อมูลมาลงในเว็บไซต์ บริษัทอาจจะมีข้อมูลในฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้ว หรือบางทีอาจจะเป็นข้อมูลที่กระจัดกระจายเป็นไฟล์อยู่ ก็ต้องรวบรวมข้อมูลมาไว้ในฐานข้อมูลใหม่ของเว็บไซต์
เว็บไซต์ส่วนใหญ่จะต้องมีการเขียนข้อความที่ใช้สื่อสารกับผู้ใช้เว็บ ซึ่งก็ต้องดูว่าในแต่ละหน้าของเว็บไซต์ควรจะใช้ข้อความแบบไหน
บางเว็บไซต์ที่มีระบบงานหลังบ้านอยู่ ก็จะต้องจัดอบรมให้กับพนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลหลังบ้าน ต้องสอนวิธีการใช้งานเว็บไซต์อย่างถูกต้อง
ทั้ง 3 เฟสนี้ก็คือการแปลงมุมมองของคนทำธุรกิจ ไปสู่คนที่ทำงานด้านเทคนิค และสุดท้ายก็คือไปสู่ผู้ใช้เว็บ หรือผู้ที่จ่ายเงินให้เว็บนั่นเอง แต่ต้องจำไว้ว่าท้ายที่สุดแล้วเราทำเว็บก็เพื่อผู้ใช้เว็บนะครับ ไม่ได้ทำเพราะนักธุรกิจอยากทำเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง และไม่ได้ทำเพราะฝ่ายเทคนิคอยากโชว์พาว โชว์เทคโนโลยีการทำเว็บแบบเหนือชั้น
ทีนี้ลองทายสิครับว่าเฟสไหนใน 3 เฟสที่มีความสำคัญมากที่สุด? ดูเฉลยในตอนที่ 3 ได้เลยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น