วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Process of Successful Website Development 1 กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 1

สารบัญ

  1. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 1
  2. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 2
  3. กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 3

บทนำ

เนื้อหาที่ผมเขียนในบทความนี้ สรุปรวบรวมมาจากประสบการณ์ด้านเทคนิคอลในวงการดอทคอมมา 12 ปี ผนวกเข้ากับความรู้ด้านธุรกิจที่ได้ร่ำเรียนมา สร้างออกมาเป็น Methodology ที่ผมใช้ในการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าที่สนใจจะทำเว็บไซต์ครับ

โดยปกติแล้ว องค์กรธุรกิจที่อยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง มักจะมีมุมมองต่อเว็บไซต์ที่แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรกมองว่าเว็บเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง (just a tool) ที่ช่วยเสริมในธุรกิจหลักขององค์กร ที่เห็นได้ชัดก็คือบริษัทที่มีเว็บไซต์เพื่อลงข้อมูลประวัติบริษัท วิสัยทัศน์ พันธกิจ ที่อยู่และเบอร์ติดต่อบริษัท ฯลฯ บริษัทเหล่านี้จึงมองว่าเว็บไซต์เป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์องค์กร

แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่าเว็บไซต์คือสิ่งที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้เหนือกว่าคู่แข่ง บางบริษัทใช้เว็บไซต์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เช่น สายการบินต้นทุนต่ำที่มีเว็บไซต์เปิดให้ลูกค้าเข้ามาจองตั๋วเครื่องบินได้ หรือบางบริษัทอาจจะใช้เว็บไซต์เป็นธุรกิจหลัก ถ้าขาดเว็บไซต์ไปก็จะไม่มีธุรกิจเลย เช่น เว็บ Pantip.com ที่ทำธุรกิจสร้าง Community เพื่อให้เกิด Traffic จนสามารถนำพื้นที่บนเว็บไซต์มาขายโฆษณาได้

ถ้าเป็นบริษัทกลุ่มแรก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่มีหลายขั้นตอนแบบที่ผมเขียนในบทความนี้ครับ เพราะบริษัทเหล่านี้สามารถว่าจ้าง Web Designer ให้ออกแบบเว็บไซต์ให้ได้ บริษัทเพียงบอกไปว่าอยากได้หน้าตาเว็บไซต์ประมาณไหน มี content อะไรบ้างที่อยากใส่ลงไป ทาง Web Designer ก็จะจัดการให้เสร็จสรรพ

ขณะที่กลุ่มที่สองนั้นต้องการกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจนั้นต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจหลายกิจกรรม เช่น งานด้าน Marketing ที่จะต้องหาวิธีสร้างคนเข้าเว็บให้ได้ หาวิธีทำเงินจากเว็บให้ได้ หรืองานด้าน Operation ที่ต้องทำให้เว็บไซต์สามารถรับและส่งต่อข้อมูลภายใน Value Chain ได้อย่างราบรื่น บริษัทที่อยู่ในกลุ่มนี้จึงต้องการกระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ไว้วางใจได้

เมื่อใครสักคนอยากมีเว็บไซต์...

ใครที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองแล้ว ลองนึกภาพดูครับว่าก่อนที่คุณจะมีเว็บไซต์ คุณทำอะไรบ้าง? ทุกอย่างจะเริ่มจากความคิดในสมองก่อนว่าคุณจะทำเว็บไซต์อะไรขึ้นมา คุณอยากเห็นภาพเว็บของคุณเป็นอย่างไร จากนั้นก็ลงมือปลุกปั้นให้เป็นรูปเป็นร่าง ถ้าเป็นเว็บง่ายๆ ก็อาจจะใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ถ้าเว็บมีความซับซ้อนก็อาจใช้เวลาเป็นเดือน คนที่เป็น Web Designer ก็อาจจะทุ่มเทเวลาในการทำเว็บให้สวยๆ คนที่เป็น Web Programmer ก็จะใช้เวลาในการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ของเว็บไซต์ คนที่ทำสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นก็สามารถมีเว็บได้โดยการเขียนบล็อก เมื่อเว็บของคุณเป็นรูปเป็นร่างพอดูได้แล้ว คุณก็จะเริ่มโปรโมทเว็บด้วยการแนะนำให้เพื่อนๆ หรืออาจจะนำลิงค์ไปติดตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่เขาอนุญาตให้ติด

แล้วถ้าคนที่อยากมีเว็บไซต์ไม่ใช่คนตัวเล็กๆ แบบคุณ แต่เป็นองค์กรธุรกิจที่อยากมีเว็บไซต์ขนาดใหญ่ล่ะ องค์กรเหล่านี้จะทำอย่างไร?

กระบวนการจะเริ่มจากการ brainstorm กันภายในบริษัท เพื่อหาข้อสรุปว่าอยากได้เว็บไซต์แบบไหน จากนั้นก็จะเริ่มพัฒนาเว็บไซต์ ถ้าบริษัทไม่มีแผนกสำหรับพัฒนาเว็บไซต์เอง ก็จะใช้วิธี Outsource ให้ Software House ไปทำ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ทำการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ตัวใหม่ออกไปโดยใช้ช่องทางต่างๆ ที่บริษัทมีอยู่

ดูแล้วก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่มันก็เกิดปัญหาหลายๆ อย่างขึ้นครับ

  • ถ้าบริษัทไม่มีความรู้เรื่องเว็บไซต์มากนัก แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไอเดียที่คิดกันขึ้นมา มันสามารถเป็นจริงได้ในโลกของอินเทอร์เน็ต? พูดแบบตรงๆ ก็คือบางทีคิดอะไรเวอร์มากและไม่สามารถเป็นจริงได้
  • ไอเดียที่ดีบางอย่างอาจจะมีต้นทุนในการพัฒนาเว็บไซต์ที่สูงมากๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในแง่ของการลงทุนเลย แต่บริษัทมักจะเข้าใจว่ามันไม่เห็นจะมีอะไรยุ่งยากเลย ขณะที่ Software House ก็จะบอกว่ามันยากนะ ต้องใช้เวลาเยอะมากในการพัฒนา
  • บ่อยครั้งที่บริษัทคิดอะไรออกมาสะเปะสะปะไปหมด นู่นก็ดี นี่ก็อยากได้ แต่พอเอามารวมกันแล้วกลับดูมั่วซั่ว บางครั้งขัดแย้งกันเองอีกต่างหาก Software House ที่รับ requirement ไปก็งงว่าต้องการอะไรกันแน่ สุดท้ายสิ่งที่พัฒนาออกมาก็ผิดไปจากที่อยากได้จริงๆ
  • ยังมีเรื่องของความต้องการที่ไม่ตรงกัน เจ้าของเว็บไซต์อยากได้เว็บที่ดีตามต้องการ แต่ Software House อยากพัฒนาเว็บให้เสร็จเร็วๆ จะได้รีบเก็บเงินจากลูกค้า Software House ก็มักจะเลือกวิธีที่มันง่ายๆ ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด โดยไม่ได้คำนึงถึงธุรกิจของลูกค้า
  • บางทีลูกค้าชอบเปลี่ยน requirement ระหว่างที่กำลังพัฒนาเว็บไซต์ ประมาณว่าปิ๊งไอเดียขึ้นมาได้ก็ขอเพิ่มนิดเพิ่มหน่อย ซึ่งลูกค้ามักจะคิดว่าสิ่งที่เพิ่มไปมันดูไม่ได้ยุ่งยากอะไร แต่มันอาจจะเป็นภาระหนักของ Software House ที่ต้องปรับแก้ระบบที่พัฒนาไปแล้ว ซึ่งการปรับแก้กันบ่อยๆ โดยที่งานยังต้องเสร็จตาม deadline มันทำให้เว็บไซต์เกิดบั๊กและช่องโหว่ขึ้นมากมาย

ใครที่เคยต้องคุมงานสร้างบ้านของตัวเองคงพอจะเข้าใจครับ คุณต้องการแบบหนึ่ง แต่ผู้รับเหมาดันทำออกมาอีกแบบหนึ่ง คุณก็โทษว่าผู้รับเหมาไม่มีฝีมือ ผู้รับเหมาก็โทษคุณว่าจุกจิกเรื่องมาก

มันก็เลยต้องมีกระบวนการบางอย่างที่จะช่วยลดปัญหาต่างๆ เหล่านี้ให้เหลือน้อยที่สุดครับ

ติดตามอ่านตอนที่ 2 ต่อได้เลยครับ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากมีเว็บไซต์ และเป็นคนตัวเล็กๆ ครับ
ทั้ง Web Designer
ทั้ง Web Programmer
และอื่นๆ ต้องทำเองทั้งหมด....


เซ็ง....
เหนื่อย......

Unknown กล่าวว่า...

เฮ่อ เหนื่อยเหมือนกัน ทำตัวคนเดียว